อังกฤษ มอง ไฮโดรเจนเขียว พลังงานแห่งศตวรรษ คาดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 17,880 ล้านเหรียญ

พลังงานไฮโดรเจน จะเป็นพลังงานแห่งศตวรรษที่กำลังจะมาถึงนี้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะพลังงานไฮโดรเจนเขียวซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการบรรลุเป้าหมาย การลดการปล่อยคาร์บอน (Zero emission) โดยปัจจุบันการผลิตพลังงานทดแทนที่มาจาก พลังงานไฮโดรเจน ทั่วโลกอยู่ที่ 1,668 กิกะวัตต์ ในปี 2020 และประเทศที่สามารถผลิตพลังงานไฮโดรเจนได้มากที่สุดก็คือ จีน อยู่ที่ 356 กิกะวัตต์ ในปี 2019 นั้นทำให้ล่าสุดสหราชอาณาจักรได้ทำการประกาศกลยุทธ์ใหม่ด้านพลังงานไฮโดรเจน โดยทางการของสหราชอาณาจักร ประเมินว่าเศรษฐกิจไฮโดนเจนจะสามารถสร้างงานได้มากกว่า 100,000 ตำแหน่ง คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 17,880 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในกลางศตวรรษนี้

โดยนายควาซี กวาร์เต็ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุทธศาสตร์ธุรกิจ พลังงานและอุตสาหกรรม เผยว่าตอนนี้ตอนนี้ภาครัฐกำลังทำงานร่วมกับภาคเอกชนในประเทศเพื่อบรรลุความต้องการผลิตพลังงานไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำให้ได้ 5 กิกะวัตต์ ในปี 2030 “กลยุทธ์ใหม่นี้จะทำให้เราสามารถผลิตพลังงานไฮโดรเจนได้เท่ากับจำนวนมากบริโภคแก๊สกว่า 3 ล้านครัวเรือนในสหราชอาณาจักรในแต่ละปี” ภายใต้กลยุทธ์ใหม่นี้นายควาซี ย้ำว่า ไฮโดรเจนที่เป็นคาร์บอนต่ำจะสามารถส่งมอบพลังงานสะอาดเพื่อมอบพลังงานให้กับเศรษฐกิจของเราและชีวิตประจำวันของพวกเราในแต่ละวัน ตั้งแต่การทำอาหารไปจนถึงการกลั่นสุรา การถ่ายทำหนังไปจนถึงโรงงานพลังงานไฟฟ้า รถขนขยะไปจนถึงโรงงานผลิตเหล็ก เป็นต้น

แผนงานด้านพลังงานไฮโดรเจนของรัฐบาลในครั้งนี้ถูกเรียกว่า “Green Industrial Revolution” โดยทางภาครัฐบาลของสหราชอาณาจักรตั้งเป้าว่าภายในปี 2050 20%-35% ของการบริโภคพลังงานจะต้องอยู่บนพื้นฐานของไฮโดรเจน ส่วนในระยะกลางเป้าหมายคือเศรษฐกิจไฮโดรเจนของสหราชอาณาจักรต้องปลดล็อกด้านการลงทุนให้ได้จำนวน 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐและสนับสนุนอาชีพมากกว่า 9,000 ตำแหน่งใน 1 ปี 2030 โดย International Renewable Energy Agency ได้เปิดเผยว่า ประเทศจีนจะได้ประโยชน์สูงสุดในด้านการจ้างงานด้านนี้โดยพวกเขามีส่วนแบ่งด้านตำแหน่งสายนี้ในปี 2019 สูงถึง 29% ของตลาดแรงงานโลกในอุตสาหกรรมนี้ ขณะที่อินเดียอยู่อันดับที่ 2 อยู่ที่ 19%

จากการเปิดเผยของ Bloomberg New Energy Finance พบว่าในปี 2020 มีตัวเลขการลงทุนในอุตสาหกรรมไฮโดรเจนในทุกกลุ่มรวมกันสูงถึง 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยกลุ่มที่ได้รับเงินลงทุนมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในรถยนต์ ขณะที่ต้นเฉลี่ยในการติดตั้งพลังงานไฮโดรเจนทั่วโลกในปี 2020 อยู่ที่ 1,870 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตน์ นับว่าสูงที่สุดในรอบ 10 ปีเลยทีเดียว นอกจากนี้ Bloomberg NEF ยังเปิดเผยอีกว่าตัวเลขการลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านพลังงานทั่วโลกในปี 2020 ที่ผ่านมาสูงถึง 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตขึ้น 9% เมื่อเทียบกับปี 2019 โดยตัวเลขนี้รวมถึงการลงทุนตั้งแต่พลังงานทดแทน ที่กักเก็บพลังงาน โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า และการผลิตไฮโดนเจน

ด้านโกลด์แมน ซาคส์ ธนาคารด้านการลงทุนยักษ์ใหญ่ของโลก มองว่า หากประเทศอุตสาหกรรมเข้าร่วมแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงาน เพื่อให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมและการขนส่งให้เป็นศูนย์ (Net Zero) ตามเป้าหมายของสหประชาชาติภายในปี 2050 จะทำให้ตลาดไฮโดรเจนเขียว หรือ e-Hydrogen ขยายตัวเพิ่มขึ้น จนมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 11.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2050

หมายเหตุ

ไฮโดรเจนสีเขียว คือ ไฮโดรเจนที่ผลิตจากกระบวนการอิเล็กโทรลิซิส (Electrolysis) โดยใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฮโดรเจนจากน้ำ โดยกลุ่มนักวิเคราะห์จากอังกฤษ ซึ่งมีนาย Alberto Gandolfi เป็นหัวหน้าทีมชี้ว่า “การผลิตไฮโดรเจนเขียวให้ได้ตามเป้าหมาย ทำให้ต้องมีการวางแผนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจำนวนมาก และทำให้ยุโรปต้องผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวจากเป้าหมายกำลังการผลิตปกติ เพื่อให้มีไฟฟ้าเพียงพอในการผลิตไฮโดรเจนจากน้ำ

เขียนและเรียบเรียง : เอกพล มงคลพัฒนกุล

ที่มา : Bloomberg, CNBC

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHC

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ไฮโดรเจนสีเขียว #Zeroemission #สหราชอาณาจักร #UK #พลังงานทดแทน