Food Aus

‘ออสเตรีย’ ประเทศที่กำลังซื้อสูงกว่าไทย 3 เท่าตัว เสิร์ชคีย์เวิร์ด ‘เครื่องแกงไทย’ ติดอันดับ 1 หมวดอาหาร!! เปิดทางกระตุ้นยอดขายกะทิ-เครื่องแกงผู้ประกอบการ

วันนี้ ‘Business+’ จะพาไปดูข้อมูลที่น่าสนใจจากสาธารณรัฐออสเตรีย ซึ่งเป็นประเทศขนาดเล็กแต่เศรษฐกิจจัดอยู่ในกลุ่มพัฒนาแล้ว โดยตัวเลข GDP ปี 2563 อยู่ที่ 429 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 14.16 ล้านล้านบาท) ขณะที่มี GDP ต่อหัวประชากร (GDP Per Capita) ที่ 48,105 เหรียญสหรัฐฯ (ราว 1,587,477 บาท)

และเมื่อนำ GDP มาคำนวณด้วยการกำหนดอำนาจซื้อ GDP Per Capita (PPP) อยู่ที่ 55,097 เหรียญสหรัฐฯ (ราว 1,818,216 บาท) เทียบกับ GDP Per Capita (PPP) ของไทยอยู่ที่ 17,286.87 เหรียญสหรัฐฯ (ราว 570,466 บาท)

ทั้งนี้ GDP Per Capita (PPP) คำนวณโดยบนทฤษฎีความเท่าเทียมของอำนาจการซื้อแต่ละประเทศ โดยส่วนใหญ่สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา GDP (PPP) จะสูงกว่า GDP เนื่องจากค่าครองชีพต่ำมาก เท่ากับว่าประชาชนมีอำนาจซื้อสูง

มาถึงตรงนี้จะเห็นเลยว่า ออสเตรีย ถึงแม้ขนาดเศรษฐกิจ (GDP) ปีล่าสุดจะต่ำกว่าประเทศไทย แต่จะเห็นได้เลยว่าเมื่อวัดเป็น GDP ต่อหัวประชากรแล้ว GDP ต่อหัวสูงกว่ามาก (ส่วนหนึ่งมาจากประชากรในประเทศที่น้อยกว่าไทยมาก โดยมีประชากรแค่ 8.917 ล้านคนเท่านั้น)

ขณะที่เมื่อนำ GDP มาคำนวณด้วยการกำหนดอำนาจซื้อแล้วสูงกว่าไทยมาก แสดงให้เห็นว่าชาวออสเตรีย มีอำนาจในการซื้อสินค้าสูงกว่าคนไทยถึง 3 เท่าตัว (เป็นโอกาสที่ดีสำหรับการส่งออกสินค้าไปขายให้กับชาวออสเตรีย)

ซึ่งเราได้นำข้อมูลของออสเตรีย มาเทียบกับประเทศไทยให้ดูกัน เพราะมีข้อมูลที่น่าสนใจ และเป็นโอกาสต่อผู้ประกอบการในประเทศไทย จาก ‘กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ’ ที่เปิดเผยข้อมูลว่ายอดขายสินค้าอาหารและเครื่องปรุงของประเทศไทย โดยเฉพาะเครื่องแกง และกะทิ ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำอาหารไทยได้รับความนิยมสูงสุด ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามียอดการค้นหาคำว่า Curry ผ่าน Search Engine ขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของการค้นหาในหมวดอาหาร และยังพบว่ามีการขยายพื้นที่ชั้นวางจำหน่ายสินค้าอาหารไทยในห้างค้าปลีกชั้นนำ ขณะที่มีสินค้าให้เลือกอย่างหลากหลายขึ้นตลอดจนมียอดขายเพิ่มขึ้นกว่า 20%

ถึงแม้มาตรการควบคุมต่าง ๆ จากภาครัฐ เช่น การห้ามเดินทางหรือการเดินทางท่องเที่ยวที่มีเงื่อนไขเข้มงวด การล็อกดาวน์ซึ่งไม่อนุญาตให้ลูกค้านั่งรับประทานอาหารในร้านได้ ทำได้เฉพาะการสั่งกลับบ้าน หรือ เดลิเวอรี่ กลับพบว่าร้านอาหารไทยที่ยังเปิดให้บริการกลับมียอดขายสูงไม่แตกต่างจากช่วงก่อนวิกฤตการณ์โควิด เพราะนอกจากรสชาติอาหารที่ถูกปากแล้ว ผู้บริโภคส่วนหนึ่งยังเชื่อว่าอาหารไทยประกอบด้วยพืชผักและส่วนประกอบที่มีสรรพคุณในทางส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงความนิยมอาหารไทยของผู้บริโภคในออสเตรียและโอกาสการเติบโตของสินค้าอาหารของไทยได้เป็นอย่างดี

สำหรับข้อเสนอของ ‘กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ’ มองว่า ชาวออสเตรียค่อนข้างรู้จัดอาหารไทยเป็นอย่างดี ทั้งจากการเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศไทย และจากร้านอาหารไทยที่อยู่ในประเทศออสเตรีย รวมถึงโครงการประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เช่น Thai SELECT นอกจากนี้คนรุ่นใหม่ยังนิยมอาหารไทยที่เป็นรสชาติไทยแท้ และใช้ส่วนประกอบที่ถูกต้องอีกด้วยย

ถ้าหากสามารถพัฒนาสินค้าอาหารให้ตอบโจทย์ด้านอื่น ๆ ที่กำลังเป็นที่สนใจของตลาดด้วย อาทิ อาหารออร์แกนิกส์ อาหารแห่งอนาคต อาหารที่มีโปรตีนสูง รวมถึงการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก็จะยิ่งเพิ่มมูลค่าและโอกาสทางการค้าให้มากขึ้น

ที่นี้มาดูรายชื่อบริษัทในประเทศที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตเครื่องปรุงอาหารประจำโต๊ะและเครื่องประกอบอาหาร อื่น ๆ ที่คาดว่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับปัจจัยบวกจากประเด็นนี้ โดยพบ 3 อันดับแรกที่ทุนจดทะเบียนสูงสุด ดังนี้

บริษัท คอฟโค่ ไบโอเคมิคอล (ประเทศไทย) จำกัด ทุนจดทะเบียน 3,139,100,000 บาท รายได้ปี 2563 อยู่ที่ 1,869 ล้านบาท กำไรสุทธิ 139.925 ล้านบาท

บริษัท ไทยฟูดส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ทุนจดทะเบียน 1,410,585,000 บาท รายได้ปี 2563 อยู่ที่ 1,323 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 197.73 ล้านบาท

บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF ทุนจดทะเบียน 1,065,780,300 บาท (จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) รายได้ปี 2563 อยู่ที่ 1,444.02 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 124.39 ล้านบาท

และยังมีบริษัทที่น่าสนใจอย่าง บริษัท เอ็กโซติค ฟู้ด จำกัด (มหาชน) หรือ XO โดยผลิตภัณฑ์ของบริษัทถูกจัดจำหน่ายภายใต้แบรนด์ EXOTIC FOOD, THAI PRIDE, FLYING GOOSE, และ COCO LOTO ซึ่งถือเป็นผู้ส่งออกที่น่าจะได้รับประโยชน์จากเทรนด์การทำอาหารไทยในออสเตรียอย่างมากบริษัทหนึ่งเลยทีเดียว โดยช่วงที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้ 1,275.10 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 318.48 ล้านบาท

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ข้อมูล : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #เครื่องแกงไทย #ผู้ส่งออกไทย #อาหารไทย