สินค้าออร์แกนิค กระแสบริโภคระดับโลก สหรัฐฯ ตลาดส่งออกไทย แนวโน้มความต้องการสูง

ด้วยสถานการณ์โรคระบาดในช่วงตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่ทำให้พฤติกรรมบริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยหันมาใส่ใจในอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น เกิดเป็นกระแสที่ทำให้กลุ่มสินค้าออร์แกนิคเป็นหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าตลาดสูง และแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

 

โดยมีข้อมูลจาก globenewswire รายงานปี 2021 ที่ผ่านมาตลาดอาหาร และเครื่องดื่มออร์แกนิคโลกมีมูลค่ากว่า 2.21 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งคาดว่าในปี 2025 จะมีมูลค่าสูงถึง 3.80 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ เติบโตเฉลี่ย 9.7-14.5% ต่อปี

 

ในขณะเดียวกันช่วงที่ผ่านมา สำนักข่าว New Hope Network ได้รายงานผลสำรวจจากมหกรรมงานอาหาร Natural Expo West จากสหรัฐฯ งานจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ (Organic Food) ถึงความสำเร็จ และแนวโน้มบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงตลาดสินค้าออร์แกนิคมีการเติบโตเป็นอย่างมาก และถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่น่าสนใจของโลก

 

ซึ่งอุตสาหกรรมสินค้าเกษตรอินทรีย์ หรือสินค้าออร์แกนิคของสหรัฐฯ ถือว่าเป็นตลาดขนาดใหญที่สุดอันดับ 1 ของโลก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 23.6 ของมูลค่าตลาดทั่วโลก ด้วยมูลค่ากว่า 5.68 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ 

 

โดยชาวอเมริกาใช้จ่ายสินค้าออร์แกนิคเฉลี่ยต่อคนสูงถึง 148 ดอลล่าร์สหรัฐต่อปี รวมถึงสินค้าออร์แกนิคในสหรัฐฯ ถือเป็นกลุ่มสินค้าที่มีขนาดใหญ่ กินสัดส่วนตลาดสินค้า และเครื่องดื่มคิดเกือบร้อยละ 70 ของมูลค่าตลาดทั้งหมด 

 

ซึ่งวิกฤตโรคระบาดโควิดถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคสนใจสินค้าออแกนิค และมีพฤติกรรมการกักตุนอาหารมากขึ้น รวมไปถึงพฤติกรรมการตระหนักถึงความสำคัญของการทานอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งทำให้ยอดขายสินค้าตลาดออแกนิคเติบโตขึ้นได้ดีเป็นอย่างดี 

 

นอกจากนี้ส่วนหนึ่งยังมีปัจจัยเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอาหารที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7 จากสถานการณ์ปกติที่มีการขยายตัวร้อยละ 5 ต่อปี

 

ทั้งนี้ข้อมูลจาก Statista ได้ระบุประเภทสินค้าออร์แกนิคที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในสหรัฐฯ ปี 2022 โดยอันดับหนึ่ง คือ บลูเบอร์รี่ออแกนิค ผลไม้ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนมียอดจำหน่ายไปแล้วกว่า 1.19 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ตามมาด้วย แครอท แอปเปิ้ล และผักโขมออแกนิค  (ในจำนวน 6.24 ร้อยล้านเหรียญฯ  6.16 ร้อยล้านเหรียญฯ และ 5.23 ร้อยล้านเหรียญฯ ตามลำดับ) 

 

นอกจากนี้กระแสกลุ่มสินค้าอาหาร และเครื่องดื่มฟังก์ชั่น (Functional Foods and Beverages) ก็ ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ในรูปแบบเครื่องดื่มพร้อมดื่ม อาหารแช่แข็ง และขนมขบเคี้ยว โดยเฉพาะสินค้าที่ส่วนประกอบของอิเล็กโทรไลต์ เห็ด สารสกัดสมุนไพรต่าง ๆ  และสารพรีไบโอติกส์  (Prebiotics) 

 

สำหรับประเทศไทย สหรัฐฯ ถือเป็นตลาดส่งออกขนาดใหญ่ที่สุดของไทย และแนวโน้มขยายตัวมากที่สุดอีกประเทศหนึ่ง โดยช่วงปี 2021 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ มากถึง 4.17 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ ขยายถึง 21.5% (YoY) โดยสินค้าที่ส่งออกมาที่สุดคือกลุ่มสินค้าประเภทอุปกรณ์ และส่วนประกอบรถยนต์ ด้วยมูลค่ากว่า 2.90 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.7 ของการส่งออกทั้งหมด และขยายตัวเพิ่มขึ้น 36.2% (YoY)

 

ซึ่งสินค้าเกษตร ประเภทผักผลไม้ของไทยนั้น สามารถส่งออก และสร้างรายได้ในกับประเทศได้ราว 3.60 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.79  ขยายตัวเพิ่มขึ้น 11.7% (YoY)

 

 โดยสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 5 ของไทย (รองจากจีน มาเลเซีย ฮ่องกง ญี่ปุ่น ตามลำดับ) ซึ่งสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ มากที่สุด คือ สับประรด ด้วยจำนวนกว่า 1.9 ล้านตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.26% ตามมาด้วยลำไย ในจำนวน 1.4 ล้านตัน และทุเรียน 1.2 ล้านตัน

 

ซึ่งความโดดเด่นของสินค้าผักผลไม้ไทย คือ การมีผลผลิตที่หลากหลาย และมีความต่อเนื่องตลอดทั้งปี ซึ่งหากมีการพัฒนาต่อยอดให้เป็นสินค้าออร์แกนิคมากขึ้น และนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการสร้างบรรจุภัณฑ์ที่สามารถยืดอายุของผลผลิตได้ ก็ถือเป็นการสร้างความได้เปรียบให้แข็งแกร่ง รวมถึงสามารถตอบโจทย์กับเทรนด์การบริโภคของโลกที่เติบโตเพิ่มขึ้นทุกปีได้อีกด้วย