สหรัฐ พึ่ง Rare Earth จากจีน 100% อีก 10 ปีก็ยังคงต้องพึงพาจีนต่อไป

การรุกคืบอย่างรวดเร็วของจีน ทำให้สหรัฐอเมริกาเริ่มมองหายุทธศาสตร์ในการต่อสู้กับแดนมังกร ทั้งในเรื่องการสร้างห่วงโซ่อุปทานของตัวเอง และการหาเทคโนโลยีแบตเตอรีใหม่ที่สามารถเอาชนะจีนได้ โดยรัฐบาลสหรัฐมองเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ตั้งแต่สมัยรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ และต่อมา ประธานาธิบดีไบเดน ก็ได้ประกาศให้เรื่องนี้เป็นหนึ่งในนโยบายที่ต้องเริ่มงานใน 100 วันแรกที่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี
.
รายงานจาก marketplace.org เขียนโดย Sabri Ben-Achour เผยแพร่ ในวันที่ 30 เมษายน 2021 ระบุว่า สหรัฐอเมริกาเคยเป็นผู้ผลิตกลุ่มธาตุโลหะหายาก (Rare earth) อันดับหนึ่งของโลกมาก่อน แต่ปัจจุบันไม่มีการผลิต และต้องพึ่งการนำเข้าจากจีน 100%
.
สหรัฐอเมริกาต้องหยุดการผลิตธาตุโลหะหายาก เนื่องจากเหตุผล 2 ประการคือ
.
1. #กระบวนการผลิตธาตุโลหะหายากทำให้เกิดมลภาวะ ที่สหรัฐอเมริกามีกฎระเบียบเข้มงวด ทำให้การผลิตในสหรัฐมีต้นทุนสูง
.
2. #โรงงานที่ใช้ธาตุโลหะหายากเป็นวัตถุดิบของสหรัฐอเมริกาย้ายฐานไปอยู่ประเทศจีนเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ไม่มีความต้องการซื้อในประเทศ จึงไม่มีใครผลิตขึ้นมาขาย
.
รายงานระบุว่า ประเทศจีนมีนโยบายให้การสร้างห่วงโซ่อุปทานของธาตุโลหะหายากเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ ทำให้สามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำของโลกได้ ขณะที่สหรัฐเมริกาไม่สนใจ ทำให้จีนเข้าซื้อโรงงานและสินทรัพย์ของบริษัทผู้ผลิตแรร์เอิร์ธสัญชาติอเมริกันจนหมด จนกระทั่งถึงรัฐบาลทรัมป์และไบเดน ที่สหรัฐอเมริกาเริ่มรู้ตัวและออกนโยบายใหม่
.
รัฐบาลของนายทรัมป์ ออกคำสั่งผู้บริหารที่ 1381 สั่งให้หน่วยงานรัฐออกยุทธศาสตร์วัตถุสำคัญ ทำให้กระทรวงกลาโหมเริ่มสนับสนุนงบประมาณวิจัย หานวัตกรรมที่ทำให้เกิดการผลิตวัตถุสำคัญในประเทศ และในปี 2020 สภาคองเกรสได้สั่งให้กระทรวงกลาโหมเลิกใช้แม่เหล็กที่มีส่วนประกอบของแร่ธาตุหายากที่มาจากจีนโดยสิ้นเชิง
.
ประธานาธิบดีไบเดนเอง ตัดสินใจเดินหน้านโยบายสนับสนุนการผลิตกลุ่มแร่ธาตุหายากในประเทศ โดยออกนโยบาย #ตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าสำคัญในประเทศรวมทั้งแร่ธาตุหายาก โดยโฆษกของสภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า “ประธานาธิบดีไบเดน เห็นความสำคัญของแร่ธาตุหายากที่มีต่อพื้นฐานในการปกป้องประเทศ” ขณะที่โฆษกทำเนียบขาวแถลงว่า “รัฐบาลกำลังมองหาลู่ทางในการให้สิทธิพิเศษสำหรับการผลิตในประเทศ”
.
นโยบายของทรัมป์และไบเดน ทำให้หน่วยงานของรัฐบาลกลางโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงกลาโหมและกระทรวงพลังงาน เร่งให้เงินสนับสนุนงานวิจัย และหนุนเอกชนในการสร้างห่วงโซ่อุปทานแร่ธาตุหายากและแบตเตอรีเทคโนโลยีใหม่ ที่จะทำให้สหรัฐอเมริกากลับมาเป็นผู้นำในการผลิตแบตเตอรีสมัยใหม่อีกครั้งหนึ่ง
.
รายงานของ Sabri Ben-Achour ระบุว่า กระทรวงพลังงานสหรัฐอเมริกาได้สนับสนุนโครงการวิจัย หาวิธีการแต่งแร่ธาตุหายากและลิเธียมที่ซับซ้อนน้อยกว่าวิธีการเดิม รวมทั้งการนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อลดต้นทุน และยังมีการสนับสนุนงานวิจัยวิธีการสร้างห่วงโซ่อุปทานวัตถุสำคัญที่มีความมั่นคง
.
นาย Jeff Green ประธานบริหารบริษัทล้อบบี้ยีสต์ J.A. Green & Co ให้สัมภาษณ์ว่า “รัฐบาลต้องการให้มีการฟื้นห่วงโซ่อุปทานแร่ธาตุหายากในประเทศขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะต้องจัดการกับเรื่องการทำให้คุ้มค่าทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในขณะนี้”
.
ทางด้านกระทรวงกลาโหมซึ่งเดินหน้าสนับสนุนเอกชนมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีทรัมป์มีรายงานว่า ได้สนับสนุนบริษัทเอกชนคือ MP Materials ให้ฟื้นการผลิตแร่ธาตุหายากขึ้นมาใหม่ เพื่อจำหน่ายให้กับกระทรวงกลาโหมสหรัฐ โดยบริษัทนี้มีเหมืองอยู่ในรัฐแคลิฟลอเนีย
.
นาย James Litinsky ซีอีโอของบริษัท MP Materials ให้สัมภาษณ์ว่า “เป้าหมายของเราคือ #ฟื้นห่วงโซ่อุปทานของกลุ่มแร่ธาตุหายากขึ้นมาใหม่ โดยเหมืองแร่ของเราสามารถป้อนความต้องการของโรงงานแต่งแร่ และทำให้บริสุทธิ์ โดยมีกระทรวงกลาโหมสนับสนุนให้มีการพัฒนาขึ้นมาเป็นโรงงานที่สามารถผลิตวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า”
.
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ชี้ว่า สหรัฐอเมริกาตื่นตัวช้าไปหน่อย เพราะห่วงโซ่อุปทานวัตถุดิบในการผลิตชิ้นส่วนรถ EV และแบตเตอรีทันสมัย ต้องใช้เวลา 7 – 8 ปีในการสร้างขึ้นมาใหม่ ขณะที่โรงงานผลิตรถ EV ใช้เวลาสร้างเพียง 2 – 3 ปี ดังนั้น สหรัฐอเมริกายังคงต้องพึ่งพาต่างประเทศรวมทั้งจีน ทั้งในเรื่องแบตเตอรีทันสมัย และชิ้นส่วนการผลิตรถ EV ไปอีกหลายปีทีเดียว
.
เขียน : วิชัย สุวรรณบรรณ
.