สมิติเวช ผู้นำด้าน ‘Virtual Hospital’ ของไทย

แม้ภาพรวมอุตสาหกรรมธุรกิจด้านสุขภาพ (Healthcare) ในปีที่ผ่านมา จะเผชิญผลกระทบจากการระบาดของโคโรน่าไวรัส (COVID-19) รวมไปถึงการ Disruption ของเทคโนโลยีไม่ได้น้อยไปกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ แต่หากจะพูดถึงโรงพยาบาลที่มีผลงานโดดเด่นที่สุดท่ามกลางสถานการณ์ที่ท้าทายแบบนี้ โรงพยาบาลนั้นคือ กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช และโรงพยาบาลบีเอ็นเอช

 

นายแพทย์ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช และโรงพยาบาลบีเอ็นเอช เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินงานของธุรกิจด้านสุขภาพโดยรวมปรับตัวลดลงจากผลกระทบของ COVID-19 รวมไปถึงการมาของเทคโนโลยีใหม่ ๆ แต่ก็มองว่านี้คือโอกาสใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นเช่นกัน

“สำหรับผมแล้ว รูปแบบการรักษาคนไข้ที่ปกติจะเดินเข้ามา OPD และตามด้วยแอดมิด IPD ซึ่งเป็นรูปแบบดั้งเดิมนั้นคงจะอยู่แบบนี้ไปได้อีกสักระยะ แต่ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องมองหาช่องทางเติบโตใหม่ ๆ มารองรับ เพื่อชดเชยการขาดหายไปของรายได้ในรูปแบบเดิมด้วย”

เมื่อมีนาคม 2562 ทางกลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวชได้ร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเปิดตัวบริการ Samitivej Virtual Hospital ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเสมือนจริงบนโลกออนไลน์ 24 ชั่วโมง โดยมีการใช้เทคโนโลยีอย่าง Telemedicine เข้ามาเชื่อมโยงกับบริการทางการแพทย์เดิมที่มีอยู่เพื่อก่อให้เกิดบริการทางการแพทย์รูปแบบใหม่ ซึ่งเริ่มตั้งแต่บริการ Teleconsultation โดยให้คนไข้สามารถรับคำปรึกษาจากแพทย์ผ่านวิดีโอคอลได้ นอกจากนี้ก็มีบริการ Test @Home ในกรณีที่แพทย์พิจารณาว่าต้องทำการตรวจเลือด จะมีบริการเจาะเลือดถึงบ้าน แล้วนำส่งห้องปฏิบัติการทันที รวมไปถึงบริการ Medicine Delivery ในกรณีที่ผู้ใช้บริการต้องได้รับยา

“พฤติกรรมของลูกค้าในอนาคตจะไม่เดินทางมาโรงพยาบาลมากเหมือนในปัจจุบัน เราจึงต้องสร้าง Telemedicine ขึ้นมาในรูปแบบ Virtual Hospital ที่มี Platform เป็น Ecosystem คือ เป็น Total Solution สำหรับผู้รับบริการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบการดำเนินธุรกิจในอนาคต ถือว่าเราเป็นเจ้าแรกของประเทศที่ให้บริการครบวงจรเช่นนี้ อีกหนึ่งจุดเด่นคือ โรงพยาบาลของเราเชื่อมโยงกับบริษัทประกัน และรวมไปถึงธนาคารต่าง ๆ ด้วย นั่นทำให้ลูกค้าของเราสามารถชำระเงินได้อย่างสะดวก ช่วงแรกที่เราเปิดใช้ Virtual Hospital มีคนใช้ประมาณ 500 คนเท่านั้นเอง แต่หลังมีการระบาดของโคโรน่าไวรัสในรอบที่ 1 และรอบที่ 2 มีคนใช้เพิ่มขึ้นมา 4,000 คน ขณะที่ในรอบ 3 คาดการณ์ว่าจะมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นมาอีกพอสมควร”

นายแพทย์ชัยรัตน์ เพิ่มเติมว่า แนวโน้มของ Telemedicine เติบโตแน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้น ปัจจัยสำคัญคือประชาชนเปิดรับได้เร็วแค่ไหน โดยบริการนี้ของโรงพยาบาลสามารถเข้าถึงผ่านเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน Samitivej Plus ของโรงพยาบาลเป็นช่องทางหลัก และ LINE ได้ รวมไปถึงแอปพลิเคชันของพันธมิตรทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ก็สามารถเข้าถึงบริการนี้ได้เช่นกัน

 

“เหตุผลที่เราสามารถทำผลงานได้ดีในช่วงสถานการณ์ที่ยากลำบาก ก็เพราะเรามีการเตรียมตัวมาก่อนหน้านี้นานแล้ว เพราะเรามองเห็นว่าความเปลี่ยนแปลงกำลังจะเกิดขึ้น ขณะที่ธุรกิจที่จะอยู่รอดต่อไปในอนาคตจะต้องมุ่งเน้นการการสร้างวัฒนธรรมที่แข็งแกร่ง นำเอาอัตลักษณ์ของตัวเองมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อคาดเดาพฤติกรรมความต้องการของผู้บริโภคล่วงหน้า พร้อมกับการสร้างคุณคุณค่าต่อส่วนรวมและสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ลูกค้าเวลามีปัญหาด้านสุขภาพก็จะคิดถึงเราก่อนเป็นอันดับแรกนั่นเอง”