วิกฤต ของมันต้องมี!! บริการ ซื้อก่อนจ่ายที่หลัง ทำพิษ สหรัฐฯ หนี้ระยะสั้นแบบแบ่งจ่าย พุ่ง 215%

ในยุคหนึ่งการเป็น หนี้ คือปัญหาของคนวัยทำงานที่ต้องการจะสร้างเนื้อสร้างตัว เพราะต้องการแต่งงาน มีครอบครัว มีลูก ซึ่งก็ต้องซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ และอื่น ๆ ตามมา แน่นอนสิ่งเหล่านี้ประกอบเป็นรายจ่ายในระดับบ้าคลั่งสำหรับหลายครอบครับ เพราะบางทีซื้อเกินตัวและเกินความจำเป็น แต่ในยุคนั้นเรื่องแบบนี้มันจะเกิดขึ้นกับคนทำงานแล้วซึ่งพวกเขามีรายได้ที่ดีในระดับหนึ่งซึ่งทำให้พวกเขามีความสามารถในการซื้อสินค้าและบริการได้ แต่ในยุคปัจจุบันนั้นแตกต่างออกไป ตอนนี้การเป็น หนี้ นั้นเกิดขึ้นกับคนอายุน้อยซึ่งพวกเขายังไม่ได้ทำงานหรือไม่มีความสามารถในการหารายได้ ถึงมีก็มักจะน้อยกว่าสิ่งที่ยากได้มาก ที่สำคัญพวกเขาเป็นหนี้อย่างรวดเร็วและง่ายขึ้น แถมปริมาณมากขึ้นจากหลากหลายทางเลือกที่หลั่งไหลเข้ามาผ่านเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

บริการทางการเงินประเภท ซื้อก่อนจ่ายที่หลัง (“Buy now, pay later”) คือกระแสที่มาแรงในยุคนี้ ถ้าเป็นเวอร์ชั่นไทยบริการนี้อาจจะต้องตั้งชื่อว่า ‘ของมันต้องมี!!’ เพราะจะได้ดู ‘หล่อแพงและสวยแพง’ ซึ่งก็ไม่รู้แพงจริงไหมแต่เขาว่ากันว่าแพง ซึ่งก็ไม่รู้อีกว่าเขาว่ากันนั้นมันใครว่า แต่ที่ว่าได้แน่ ๆ เลยคือเป็นหนี้แน่ ๆ เพราะซื้อก่อนจ่ายที่หลังนั้นเอง แล้วการสร้างหนี้แบบนี้กระจายไปทั่วโลกในนาทีนี้ นั้นทำให้ผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์จำนวนมากเริ่มออกอาการกังวล เพราะการปล่อยกู้แบบ Online lending ผ่านแอพพลิเคชั่น Social Banking นั้น โดยปกติแล้วประวัติการกู้จากแอพพลิเคชั่นหนึ่งของผู้บริโภคมักจะไม่เชื่อมโยงกับแอพพลิเคชั่นอื่น ๆ นั้นทำให้เป็นไปได้ยากมากที่จะตรวจสอบระดับหนี้สินของผู้กู้ ซึ่งตรงนี้แหละคือปัญหา เพราะทุกคนที่กู้ก็จะถือเป็นผู้กู้รายใหม่หมดและไม่เคยสร้างหนี้มาก่อน เนื่องจากไม่มีปัญญาจะไปตรวจสอบ แต่ต่อให้มีปัญญาก็ไม่แน่ว่าจะยอมตรวจ

โดยปกติผู้ให้บริการเงินกู้ในลักษณะนี้จะผูกตัวเองอยู่กับร้านค้าปลีกทั้งที่เป็นออนไลน์และร้านค้าเพื่อที่จะเสนอทางเลือกในการจ่ายเงินให้กับลูกค้าเป็นงวด พร้อมผลประโยชน์เพิ่มเติมเช่นไม่มีค่าธรรมเนียมและเพดานการสร้างหนี้ที่สูง และเจ้ารูปแบบการสร้างหนี้แบบนี้ก็เติบโตได้ดีเหลือเกินกับวัยรุ่นยุคใหม่โดยเฉพาะกลุ่มนักช้อปปิ้งออนไลน์ทั้งหลาย และนั้นก็ได้ไปกระตุ้นให้จำนวนธุรกิจและบริษัทจำนวนมากเริ่มหันมาสนในดำเนินการในด้านนี้กันแบบล้นหลามในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยกลุ่มธุรกิจนี้กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก อย่างล่าสุดที่ทาง Square Inc. บริษัทที่ให้บริการทางการเงินและการชำระเงินแบบดิจิทัลของอเมริกา ได้เข้าซื้อแพลตฟอร์ม Afterpay ที่ให้บริการปล่อยกู้ในลักษณะ ซื้อก่อนจ่ายที่หลัง (“Buy now, pay later”) ด้วยมูลค่าสูงกว่า 29,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว

ความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้

ล่าสุดฟิทช์ เรทติ้งส์ (Fitch Ratings) บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือด้านเครดิต เผยว่า รายงานสภาพของกลุ่มหนี้สินตอนนี้ค่อนข้างคลุมเครือมาก ผู้ให้บริการด้านนี้จำนวนมากไม่รายงานข้อมูลการใช้เครดิตต่อหน่วยงานรับผิดชอบ นั้นทำให้หนี้สินในลักษณะนี้มองเห็นไม่ชัดเจน และผู้กู้ก็พยายามจะขอเครดิตจากหลากหลายผู้ให้บริการ ผู้ปล่อยกู้ในตอนนี้ทั้งที่เป็นแบบซื้อก่อนจ่ายที่หลังและแบบอื่น ๆ ต่างประเมินระดับหนี้ของผู้ขอกู้ต่ำกว่าความเป็นจริงไปมาก

คุณ Stephen Biggar ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยด้านการเงินของ Argus Research ให้มุมมองว่า การผิดนัดชำระหนี้จะเป็นหนึ่งในความเสี่ยงเริ่มต้นแรก ๆ บริษัทเหล่านี้จะไม่ตรวจสอบพื้นหลังของผู้กู้อย่างละเอียด เมื่อวันที่มีปัญหามาถึงพวกเขาจะกลายเป็น ซื้อตอนนี้ แต่ไม่จ่ายในตอนหลังนะ

บริการซื้อก่อนจ่ายที่หลัง (“Buy now, pay later”) ทำงานอย่างไร

ที่จริงแล้วแผนการจ่ายที่ชำระเงินเป็นงวดจะถูกส่งไปที่ร้านค้าโดยผู้ให้บริการด้านนี้ แต่อย่างไรก็ตามมันมักจะใช้กับสินค้าที่มีราคาสูงเท่านั้น เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์ภายในบ้าน เป็นต้น แต่เจ้าธุรกิจให้บริการซื้อก่อนจ่ายที่หลังนั้นนั่งอยู่ตรงกลางระหว่างธรุกิจเครดิตการ์ดและแผนการจ่ายเป็นงวดแบบดั้งเดิม โดยเป้าหมายของพวกเขาคือวัยรุ่นที่ชื่นชอบเทคโนโลยี ซึ่งพวกเขาจะยื่นข้อเสนอให้ซื้อทางออนไลน์พร้อมราคาที่ถูกลง 10-20 ดอลลาร์สหรัฐ จากราคาสินค้าหลายพันจนถึงหลายหมื่นดอลลาร์สหรัฐ

จากการสำรวจในสหรัฐของผู้ให้บริการในด้านนี้พบว่ามูลค่าสูงสุดที่พวกเขาทำได้จากแผนชำระเงินหนึ่งครั้งคือ 17,500 ดอลลาร์สหรัฐ โดยแอพพลิเคชั่นด้านการเงินจำนวนมากเหล่านี้ได้เสนอสิ่งจูงใจ ซึ่งทางธรุกิจเครดิตการ์ดและธุรกิจวางแผนการจ่ายเป็นงวดจะไม่มีทางให้ เช่นไม่มีค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ยต่ำ เพดานก่อหนี้ที่สูง และไม่มีการตรวจสอบเครดิตของผู้ขอกู้ พร้อมเงื่อนไขที่เปลี่ยนไปตามแต่ละผู้ให้บริการ

ขณะเดียวกันต้นทุนของผู้กู้สามารถพุ่งได้หากไม่อ่านเงื่อนไขให้ดี ๆ ที่สำคัญมันมีหลุมพรางขนาดใหญ่ในการสร้างค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมอื่น ๆ เช่น การเก็บค่าธรรมเนียมจากการขอปรับตารางการจ่ายเงิน หรือคิดค่าธรรมเนียมแพงมาก ๆ จากความล่าช้าในการชำระ นั้นทำให้นักวิเคราะห์จากฟิทช์ เรทติ้งส์ มองว่า บริการแบบนี้จะโตแบบก้าวกระโดดในช่วงเวลานี้ที่มีการระบาดเกิดขึ้นและคนไม่สามารถออกไปไหนได้ และหันมาซื้อของออนไลน์ ในสหรัฐแค่ช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้การกู้เงินระยะสั้นแบบแบ่งจ่ายเป็นงวดโตขึ้น 215% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

และในปีที่ผ่าน 2020 การชำระเงินผ่าน E-commerce ในรูปแบบบริการซื้อก่อนจ่ายที่หลัง (“Buy now, pay later”) เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่ามาอยู่ที่ 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปี 2019 ที่ 9,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งผู้ให้บริการเหล่านี้มีเป้าหมายที่ต้องการจะเลียนแบบความสำเร็จของยักษ์ใหญ่อย่าง PayPal, Mastercard, American Express, Citi และ J.P. Morgan Chase ซึ่งทั้งหมดมีผลิตภัณฑ์การปล่อยกู้ที่หลากหลาย รวมไปถึงผู้นำด้านเทคโนโลยีอย่าง Apple ก็กำลังมองหาทางเข้าสู่เกมนี้ด้วยเช่นกัน

บางครั้งการยอมใช้ของดั้งเดิมแม้จะข้อจำกัดเยอะ แต่ก็ปลอดภัยกว่าที่สำคัญเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ออกมา ก็เพื่อควบคุมการใช้เงินเกินตัวของเรา เพราะฉะนั้นเราเองก็จำเป็นต้องรู้จักพอจึงจะแก้ปัญหาได้ ไม่ใช่ไปหาทางอื่นที่สะดวกกว่าและเป็นหนี้ไม่รู้จบต่อไป

สำหรับแอดมินขอเตือนอีกครั้งว่า ตอนนี้สถานการณ์โลกกลิ่นไม่ดีเอาซะเลย เหตุการณ์อะไรหลาย ๆ อย่างแทบจะเหมือนกับตอนปี 2008 ไม่ผิดเพี้ยน แต่คราวนี้มันไม่ได้เกิดขึ้นกับแบงค์อีกแล้ว

ทุกอย่างพุ่งเป้าไปที่คนทั่วไป เดินดินธรรมดาอย่างเรา เศรษฐกิจพอเพียงจะพาพวกคุณอยู่รอดในวิกฤตนี้ ดูแลครอบครัวกันดี ๆ ครับ

เขียนและเรียบเรียง : เอกพล มงคลพัฒนกุล

ข้อมูล : CNBC

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHC

#Businessplus #Fintech #ซื้อก่อนจ่ายที่หลัง #หนี้สิน #อุตสาหกรรมการเงิน #debt