10 อุตสาหกรรมเตรียมฟื้นคืนชีพ!! ปัจจัยเฉพาะตัวจะทำให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง แม้เผชิญผลกระทบรอบด้าน

ตัวเลขการส่งออกของไทยยังคงเติบโตต่อเนื่องในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา โดยไม่กี่วันที่ผ่านมา ‘กระทรวงพาณิชย์’ ได้เปิดเผยตัวเลขส่งออกเดือน ก.พ. 2565 ออกมาพบว่ามีการขยายตัว 16.2% มูลค่า 23,483 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และการนำเข้าขยายตัว 16.8% ด้วยมูลค่า 23,359 ล้านเหรียญสหรัฐ เท่ากับว่าไทยได้ดุลการค้า 123 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยตลาดส่งออกของไทยที่ขยายตัวสูง 10 อันดับแรก มีดังนี้
– รัสเซีย ขยายตัว 33.4%
– อาเซียน 5 ประเทศ ขยายตัว 31.5%
– ฮ่องกง ขยายตัว 29.8%
– เกาหลีใต้ ขยายตัว 28.9%
– สหรัฐฯ ขยายตัว 27.2%
– อินเดีย ขยายตัว 23%
– ไต้หวัน ขยายตัว 17.7%
– สหราชอาณาจักร ขยายตัว17.3%
– CLMV ขยายตัว 14.4%
– ตะวันออกกลาง ขยายตัว 13.8%

ถึงแม้จะเห็นการเติบโตได้ค่อนข้างดี แต่อย่าลืมว่าในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา การค้าโลกจะยังไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน แน่นอนว่าผลกระทบจะเริ่มแสดงให้เห็นในเดือน มี.ค. เป็นต้นไป ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยมีการคาดการณ์กันว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ โลจิสติกส์ ค่าระวางเรือ ตู้คอนเทนเนอร์

อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มฟื้นตัวหลังจากมีปัจจัยสนับสนุนเฉพาะตัว

ซึ่ง ‘สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย’ ประเมินว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะมีการเติบโตได้เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่ผ่านมา มีทั้งหมด 25 กลุ่มอุตสาหกรรม ดังนี้ อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์, เครื่องจักรกลและโลหะการ, เครื่องนุ่งห่ม, เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น, ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์, ต่อเรือซ่อมเรือและก่อสร้างงานเหล็ก, เทคโนโลยีชีวภาพ, ดิจิทัล, น้ำตาล, ปูนซีเมนต์, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร, ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ, พลังงานหมุนเวียน, เฟอร์นิเจอร์,ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม, ยา, ยานยนต์, เยื่อและกระดาษ, รองเท้า, โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม, สมุนไพร, หนังและผลิตภัณฑ์หนัง, หัตถกรรมสร้างสรรค์, เหล็ก, และอาหาร

จากทั้งหมดนี้มี 10 อุตสาหกรรมที่มีการเติบโตได้อย่างน่าสนใจ และมีปัจจัยบวกที่ต้องคอยจับตา คือ
อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ : มีแนวโน้มดีจากการซื้อสินค้าอุปโภคและสินค้าผ่าน E-Commerce และการสั่งซื้ออาหารและเครื่องดื่ม Delivery มากขึ้นทำให้ความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้น รวมถึง บรรจุภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสุขภาพ ทั้งนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงเฉพาะด้าน Digital Disruption Technology ที่ทำให้คนหันมาอ่านข้อมูลจากสื่อดิจิทัลแทนสื่อสิ่งพิมพ์เพิ่มขึ้นแทน

อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น : ยังเติบโตตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศและการส่งออกที่เติบโตตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะการที่สภาพอากาศมีอุณหภูมิสูงขึ้นจากภาวะโลกร้อนช่วยหนุนความต้องการเครื่องปรับอากาศเป็นสำคัญ

อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ : มีแนวโน้มเติบโตในทิศทางเดียวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ทั้งนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงเฉพาะด้านปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ในตลาดโลก และการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมดิจิทัล : มีแนวโน้มที่ดีตามทิศทางของเมกะเทรนด์ในระดับโลก โดยเฉพาะการเร่งปรับโครงสร้างองค์กรที่เน้นขับเคลื่อนมูลค่าเพิ่มด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นรวมถึง แนวโน้มการลงทุนด้านซอฟต์แวร์และระบบ Cloud ของภาคเอกชนที่เร่งตัวขึ้นในช่วงของการฟื้นฟูธุรกิจ และตอบโจทย์ความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของผู้บริโภคที่หันมาทำธุรกรรมผ่านออนไลน์มากขึ้น

อุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ : มีแนวโน้มที่ดีทั้งตลาดในประเทศและส่งออก โดยเฉพาะอัตราการเจ็บป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น และประเทศคู่ค้ายังมีความต้องการอุปกรณ์การแพทย์ต่อเนื่อง แม้มีปัจจัยเสี่ยงเฉพาะด้านกฎระเบียบใหม่ ๆ ที่เข้มงวดและมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นก็ตาม

อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม : มีแนวโน้มที่ดีตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศจากความต้องการใช้งาน Cloud Computing และ Data Center รวมทั้งหน่วยงานต่าง ๆ หันมาสนใจลงทุนโครงการ Data Center และการส่งออกที่เติบโตตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ประกอบกับ การทำตลาดของเครื่องใช้ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญด้านสุขภาพและเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงเฉพาะด้านปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ในตลาดโลกก็ตาม

อุตสาหกรรมยา : มีแนวโน้มปรับดีขึ้นตามสถานการณ์ COVID-19 ที่คลี่คลายลงจนสามารถทยอยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวได้ตามลำดับ ซึ่งแนวโน้มของ Medical Tourists น่ากลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง ส่งผลให้ความต้องการใช้ยาจากโรงพยาบาลต่าง ๆ จะเริ่มดีขึ้น การเจ็บป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้สูงอายุโดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และกระแสการดูแลสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้นหลังเผชิญกับการแพร่ระบาดฯ แต่ปัจจัยที่มีความกังวลเพิ่มเติม คือ กฏระเบียบต่าง ๆ ต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าที่ราคาสูงขึ้นตามความต้องการวัตถุดิบสารตั้งต้น และค่าจ้างแรงงานที่น่าจะมีแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ

– อุตสาหกรรมยานยนต์คาดว่าการผลิตรถยนต์ 1.8 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 6.78% แบ่งเป็นผลิตเพื่อการส่งออก 1 ล้านคัน และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 8 แสนคันส่วนการผลิตรถจักรยานยนต์2 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 12.31% แบ่งเป็นผลิตเพื่อการส่งออก 3.5 แสนคัน และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 1.65 ล้านคัน ทั้งนี้ กำลังซื้อภายในประเทศยังเป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจะทำให้ประชาชนในภาคการท่องเที่ยวมีรายได้เพิ่มขึ้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจดีขึ้น รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ช่วยเหลือประชาชน แม้ยังมีปัจจัยเสี่ยงเฉพาะด้านปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ในตลาดโลกก็ตาม

– อุตสาหกรรมเหล็ก แนวโน้มความต้องการใช้เหล็กของประเทศยังเติบโตต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5% จากปีที่ผ่านมาจากการก่อสร้างในโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ของภาครัฐที่ยังดำเนินการต่อเนื่อง การเริ่มฟื้นตัวของภาคส่งออกและภาคบริการ ซึ่งเหล็กเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความจำเป็นต่อการผลิตในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่มีผลต่ออุปสงค์การใช้ผลิตภัณฑ์เหล็ก

– อุตสาหกรรมอาหาร แนวโน้มดีขึ้น คาดว่าการส่งออกจะมีมูลค่า 1.2 ล้านล้านบาทขยายตัว 8.4% โดยสินค้าที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่มอาหารทะเลแช่เย็น/แช่แข็ง และผัก/ผลไม้แปรรูป เป็นต้น ด้าน Food Services เนื่องจากคาดว่าจะกลับมาเปิดบริการได้ตามปกติ ส่วนอาหารกระป๋อง คาดว่าจะลดลงกลับสู่ฐานปกติ

เป็นที่น่าจับตาต่อว่าทั้ง 10 อุตสาหกรรมนี้จะเติบโตได้จริงหรือไม่? แล้วผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่จะแสดงให้เห็นในเดือน มี.ค. เป็นต้นไปจะกระทบมากน้อยแค่ไหน?

โดยปัจจัยเสี่ยงต้องต้องติดตาม คือ การกลับมาแพร่ระบาดซ้ำอีกครั้งของ COVID-19 รวมไปถึงปัญหาด้านการขนส่งจากต้นทุนการขนส่งสินค้าทางเรืออยู่ในระดับสูง และยังมีปัจจัยลบจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นในขณะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนแต่มีผลกระทบในแง่ลบแก่ภาคธุรกิจทั้งสิ้น

ที่มา : สอท. ,กระทรวงพาณิชย์

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : SETSMART

ติดตาม Business+ ได้ที่ https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #การส่งออก #ตัวเลขส่งออกไทย