“วัคซีนต้องมาก่อน เปิดประเทศตาม คือ ทางรอดเศรษฐกิจไทย” มุมมองจาก เครดิตบูโร

หนึ่งในเรื่องใหญ่ที่มีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจประเทศไทยเป็นอย่างมากในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านคือ การติดกับดักหนี้ครัวเรือ โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโคโรน่าไวรัส (COVID-19) จนทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบแทบทั้งประเทศหยุดชะงักจากมาตรการควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวดของภาครัฐ จนหลายฝ่ายกังวลว่ามาตรการเหล่านี้จะไปมีผลกระทบต่อรายได้ของประชาชนผู้หาเช้ากินค่ำ รวมไปถึงคนชั้นกลาง ซึ่งมีภาระหนี้สินต้องจ่าย จนนำไปสู่การเกิดหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นในระบบแบบฉับพลันของทั้งฝั่งครัวเรือนและภาคเอกชน

คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จํากัด (เครดิตบูโร) เปิดเผยว่า ในปี 2020 ที่ผ่านมา ภาพรวมสินเชื่อที่ให้กับบุคคลหรือที่เรารู้จักกันในนาม ‘หนี้ครัวเรือน’ มีการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2019 ที่ 13.5 ล้านล้านบาท มาอยู่ที่ 14 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 500,000 ล้านบาทเลยทีเดียว โดยครึ่งหนึ่งเป็นหนี้บ้านและคอนโด ซึ่งรายได้ของผู้กู้ส่วนใหญ่จะอยู่แถว ๆ 50,000 บาทขึ้นไป มีหนี้ไม่มากและมีเครดิตค่อนข้างดี ทำให้พวกเขาอาศัยช่วงเวลาที่สินทรัพย์เหล่านี้ราคาถูก ทำการเข้าซื้อทั้งเพื่ออยู่อาศัยและการลงทุนในระยะยาว

โดยจากตัวเลข 14 ล้านล้านบาทของหนี้ครัวเรือนประเทศไทย พบว่ามีมากถึง 28% (7% – 8% เป็นหนี้สินบัตรเครดิต และอีก 20% เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล) ที่เป็นการกู้เงินไปเพื่อกินเที่ยวและใช้แบบฟุ่มเฟือย ไม่ได้นำไปต่อยอดเพื่อสร้างความมั่งคั่งอย่างที่ควรจะเป็น ขณะที่ประเทศอื่น ๆ มีตัวเลขตรงนี้เพียงแค่ 10 – 15% เท่านั้น สวนทางกับสถานะทางการเงินของประเทศไทยที่ไม่ได้ดีเท่ากับประเทศอื่น ๆ รวมไปถึงรายได้ต่อหัวของประชากรเราก็ไม่ได้สูงมาก

จากข้อมูลของเคาดิตบูโรยังพบอีกว่า กว่า 70 ล้านบัญชีในฐานข้อมูล มีลูกหนี้ทั้งหมด 30 ล้านราย มีหนี้ที่เสียไปแล้ว (NPL : ค้างจ่ายเกิน 90 วัน) อยู่ในระบบที่ 900,000 ล้านบาท โดยในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2021 ตัวเลขนี้คิดเป็นสัดส่วนที่ 7.3% ส่วนกลุ่มที่ค้างไม่เกิน 90 วัน มีอยู่อีก 2.4% แม้จะมีมาตรการแช่แข็งหนี้และชะลอการจ่ายหนี้ออกไป แต่เครดิตบูโรก็กังวลว่าเมื่อมาตรการช่วยเหลือเหล่านี้สิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายน 2021 นี้ และถูกซ้ำเติมด้วยการระบาดรอบ 3 จะทำให้ความเสี่ยงของลูกหนี้เพิ่มขึ้น เพราะมันจะไปกระทบต่อรายได้ของลูกหนี้ที่ตอนนี้ก็หารายได้ได้ยากมาก ๆ อยู่แล้ว (Income Shock) แต่หนี้สินที่ถูกชะลอออกไปก็กำลังจะต้องกลับมาชำระตามเดิม

โดยกลุ่มคนที่ทางเครดิตบูโรค่อนข้างกังวลคือ เจเนอเรชัน Y (ตอนปลาย) และเจเนอเรชัน X (ตอนต้น) ที่มีอายุระหว่าง 38 – 42 ปี ซึ่งกำลังสร้างเนื้อสร้างตัว กลุ่มนี้จะมีภาระหนี้สินจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นบ้าน รถยนต์ ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูพ่อแม่ รวมไปถึงลูก ด้วยหนี้สินปริมาณมาก แต่พวกเขากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ดี เพราะสุ่มเสี่ยงจะตกงานหรือมีรายได้ลดน้อยลง ที่สำคัญกลุ่มที่เป็นกำลังขับเคลื่อนประเทศอยู่ในขณะนี้ หากพวกเขามีปัญหา เศรษฐกิจไทยก็จะมีปัญหาไปด้วยเช่นกัน

เปิดประเทศและแก้ปัญหาสาธารณสุขควบคู่ไปด้วย คือ ทางรอดของภาคธุรกิจ

ด้านภาคธุรกิจ ข้อมูลของเครดิตบูโรเผยว่า ปัจจุบันภาคธุรกิจมีตัวเลขหนี้สินอยู่ราว ๆ 9 ล้านล้านบาท มี NPL อยู่ที่ 5.3% คิดเป็นเงินมากกว่า 500,000 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มที่ค้างชำระแต่ไม่เกิน 90 วัน มีอยู่ที่ 2.4% ซึ่งหลายฝ่ายก็กังวลว่าภาคธุรกิจเหล่านี้จะยังสามารถประคับประคองธุรกิจต่อไปได้อีกนานแค่ไหน เพราะขณะที่รายได้ลดลงแต่รายจ่ายคงที่หรือบางรายอาจจะเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ นั่นทำให้โอกาสที่พวกเขาจะยืนระยะไม่ไหวจนนำไปสู่การปิดกิจการมีสูงขึ้นเรื่อย ๆ

ในกรณีที่ธุรกิจยังสามารถดำเนินการได้ คุณสุรพลมองว่า การมี Soft Loan เข้ามาช่วยก็เป็นอีกทางเลือกสำหรับธุรกิจกลุ่มนี้ แต่สำหรับกลุ่มหนี้ที่เสียไปแล้วก็ต้องปรับโครงสร้างหนี้สิน ถ้าเป็นธุรกิจที่มีทรัพย์สินก็ต้องไปเข้าโกดังเก็บหนี้ กลุ่มนี้ถ้าช่วยไม่ทันนอกจากผลกระทบจะตีกลับมาในรูปหนี้เสียในระบบแล้ว ยังจะมีผลกระทบต่อไปถึงหนี้สินครัวเรือนอีกต่อด้วย เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้ต้องเลิกจ้างงานคนงานจำนวนหนึ่ง ซึ่งคนงานเหล่านี้ก็มีหนี้สินทั้งสิ้น ซึ่งหากพวกเขาไม่มีรายได้ก็จะไม่มีเงินไปจ่ายหนี้ มันก็จะไปกระทบหนี้สินครัวเรือนอีกต่อหนึ่งอย่างเลี่ยงไม่ได้

คุณสุรพล ให้ความเห็นเพิ่มสำหรับทางแก้ไขว่า วัคซีนต้องมาก่อน แล้วเปิดประเทศตาม เป็นทางออกที่ดีที่สุดเท่าที่จะมีได้ในขณะนี้ พร้อมคาดว่าไทยจะฟื้นกลับมาอยู่ในระดับก่อน COVID-19 ได้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2022 โดยมีปัจจัยวัคซีนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด แต่ที่สำคัญกว่าคือประเทศที่เปิดรับการท่องเที่ยวกับประเทศที่จะเข้ามาเที่ยวจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนแล้วทั้งคู่ ซึ่งคงต้องใช้เวลานั้นจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเป็นไปแบบค่อยเป็นค่อยไป
ขณะที่ในปี 2021 เศรษฐกิจไทยในมุมมองของเครดิตบูโรน่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 2% เพราะการส่งออกดี แต่ก็ขึ้นอยู่กับการฉีดวัคซีนทำได้เร็วแค่ไหน รวมไปถึงการเปิดประเทศ และการปล่อย Soft Loan ขยับตัวได้ดีไหม สถาบันการเงินต้องปรับโครงหนี้ให้เร็วที่สุด และยอมรับให้ได้กับดอกเบี้ยที่น้อยลง พร้อมการได้เงินต้นคืนช้าลง เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถผ่านเวลาที่ยากลำบากในช่วงนี้ไปได้

ด้านทิศทางของเครดิตบูโรจากนี้ใน 3 ปีข้างหน้า คุณสุรพล มองว่า จะยังคงมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระบบสถาบันการเงินด้านข้อมูลเพื่อใช้ในการบริหารจัดการความเสี่ยงในการทำธุรกิจสินเชื่อของสถาบันการเงิน ซึ่งสถาบันการเงินในอนาคตอันใกล้นี้จะเริ่มมีรูปแบบที่เปลี่ยนไปจากในอดีตทั้งในแง่พฤติกรรมและรูปแบบ อันที่ 2 คือข้อมูลที่จะใช้วิเคราะห์ความเสี่ยงของคนก็จะเปลี่ยนไป นั่นทำให้ทางเครดิตบูโรจะต้องค้นหาข้อมูลในรูปแบบอื่น ๆ เพื่อมาเติมเต็มให้ฐานข้อมูลโดยรวมมีคุณภาพสูงขึ้น และในอนาคตก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีเครดิตบูโรพวกข้อมูลทางเลือก (Alternative Data) ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เนื่องจากในอนาคตรูปแบบการจ้างงานจะเปลี่ยนไป คนทำงานจะเป็นลักษณะสัญญาจ้างมากขึ้น นั่นทำให้การใช้ข้อมูลในรูปแบบเดิม ๆ ไม่สามารถทำได้อีกแล้ว

ด้วยปัจจัยเหล่านี้ทำให้เครดิตบูโรจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์โลก นอกจากนี้ยังมีเรื่องอื่น ๆ ที่ทางบริษัทต้องให้ความสนใจอีกไม่ว่าจะเป็น Cyber Security (ความมั่นคงคอมพิวเตอร์) PDPA (Personal Data Protection Act : พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) ก็เป็นอีกเรื่องที่ทางบริษัทต้องให้ความสนใจ

เขียน : เอกพล มงคลพัฒนกุล

#เศรษฐกิจไทย #ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ #เครดิตบูโร #หนี้สิน