รับมือยังไงเมื่อบาทอ่อนค่า!! ทิศทางเศรษฐกิจ-ภาวะโควิด เสี่ยงทำบาทอ่อนทะลุ 35 บ. แนะ 3 วิธีป้องกันความเสี่ยง-จับสัญญาณชาติมหาอำนาจ

ค่าเงินบาทอ่อนค่าขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และเริ่มทวีความรุนแรงเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา หากนับตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมาซึ่งอยู่ประมาณ 31 บาท/ดอลลาร์ และดีดขึ้นพรวดพราดจนมามาอยู่แถว 33.45 บาท/ดอลลาร์

สาเหตุหลักที่รู้กัน ก็มาจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศที่รุนแรงทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่น และขายทิ้งเงินบาทไทย อีกหนึ่งสาเหตุคือ ชาติมหาอำนาจ และเป็นคู่ค้าหลักของไทยอย่างสหรัฐฯ เตรียมขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศ (หลังเกิดภาวะเงินเฟ้อ) ทำให้เกิดการไหลออกของเม็ดเงินในประเทศไทย ไปสู่ประเทศที่อัตราดอกเบี้ยสูงกว่า

ย้อนกลับมาดูในส่วนของผลกระทบกันก่อนเพื่อให้เห็นภาพ หลายคนอาจจะมองว่า การอ่อนค่าไปแค่ 2 บาทกว่าๆ ดูไม่ใช่ตัวเลขที่น่าตกใจ แต่ถ้ามองอย่างงี้ล่ะ ผู้นำเข้าปกติจะต้องแลกเงินบาทเป็นเงินดอลลาร์ เพื่อซื้อสินค้าจากต่างประเทศ เดิมใช้เงิน 31 บาท ได้ 1 ดอลลาร์

ดังนั้น หากต้องการซื้อสินค้ามูลค่า 10 ล้านดอลลาร์ก็ต้องใช้เงินไทย 310 ล้านบาท แต่พอค่าเงินไทยอ่อนลง กลายเป็นต้องใช้ 33.45 ต่อ 1 ดอลลาร์ ก็ต้องใช้เงินไทย 334.50 ล้านบาท ต่างกันมากถึง 24.5 ล้านบาทเลยทีเดียว (เทียบกับการซื้อลัมโบกินี 1 คัน หรือซื้อบ้านสุดหรูได้ 1 หลังแบบสบายๆ)

แถมยังมีเรื่องการจ่ายหนี้ต่างประเทศอีกด้วย (โดยเฉพาะหนี้ดอลลาร์สหรัฐ) ไม่ว่าจะเป็นทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีสถานะเป็นลูกหนี้ของต่างประเทศ หากค่าเงินบาทอ่อนค่า ก็จะต้องใช้เงินที่มากขึ้นเพื่อจ่ายหนี้ที่มีอยู่เดิม รวมไปถึงการจ่ายอัตราดอกเบี้ยเงินกู้

เช่น หนี้เดิมที่มีอยู่ 1 ล้านดอลลาร์ ต้องใช้เงินบาทจ่ายทั้งหมด 31 ล้านบาท และเมื่อบาทอ่อนจาก 31 บาท/ดอลลาร์ เป็นน 33.45 บาท/ดอลลาร์ ก็เท่ากับต้องใช้เงินจ่ายหนี้ 33.45 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.45 ล้านบาท เพียงแค่ 2 สัปดาห์ (อ่านมาถึงตรงนี้ เริ่มมองเห็นถึงความน่ากลัวหรือยัง?)

มาดูภาพใหญ่ของประเทศไทยกันบ้าง เมื่อดูข้อมูลจากสำนักงานบริหารหนี้สินสาธารณะ พบว่า หนี้สินต่างประเทศของไทยตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2564 เพิ่มสูงขึ้น โดยข้อมูลเดือนมกราคม หนี้สินอยู่ที่ 142,654.92 ล้านบาท ณ อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 30.18 บาท/ดอลลาร์ และปรับขึ้นมาที่ 159,904.50 ล้านบาท ณ อัตราแลกเปลี่ยน 31.60 บาท/ดอลลาร์

แต่ความเป็นจริงแล้ว หนี้สินเพิ่มขึ้นมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ที่เห็นยอดกระโดดขึ้นมาเป็นเพราะว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหากอัตราแลกเปลี่ยนยังอยู่ที่ 30.18 บาท/ดอลลาร์ หนี้สินเดือนมิถุนายนจะเป็น 152,652.65 ล้านบาท เท่านั้น (ต่ำกว่ายอดที่เกิดขึ้นจริง 7,251.85 ล้านบาท) จากผลกระทบจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่านั่นเอง

#วิธีป้องกันความเสี่ยง
สำหรับวิธีป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนก็สามารถทำได้หลายวิธี ทั้งการซื้อหรือขายเงินสกุลต่างประเทศล่วงหน้า (ซึ่งบริษัทนำเข้าส่วนใหญ่ใช้วิธีนี้)

รวมไปถึงการฝากเงินตราต่างประเทศไว้ในประเทศไทย และรอจังหวะที่ได้อัตราแลกเปลี่ยนที่พอใจค่อยกลับมาเปลี่ยนเป็นเงินบาททีหลัง

และผู้นำเข้าควรเตรียมการหาซัพพลายเออร์ในประเทศเพื่อเป็นการทดแทนเอาไว้ล่วงหน้า กรณีที่เงินบาทอ่อนค่ามากๆ ก็สามารถเปลี่ยนมาใช้ซัพพลายเออร์ในประเทศแทน

นอกจากนี้อีกหนึ่งวิธีป้องกันที่ดีคือ การติดตามสถานะการณ์ของประเทศคู่ค้าหลัก ซึ่งเป็นประเทศใหญ่ อย่าง สหรัฐ หรือจีน เพราะหาก 2 ประเทศนี้มีนโยบาย หรือมีทิศทางที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยเมื่อไหร่ ผลกระทบจะต่อประเทศไทยจะตามมาทันที ซึ่งเราสามารถวิเคราะห์ได้จากสถานการณ์ และเศรษฐกิจในประเทศนั้นๆ ก็ถือเป็นการวางแผนเอาไว้ล่วงหน้า ที่จะทำให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

สำหรับการช่วยเหลือในส่วนของภาครัฐ เรามองว่า อาจจะสามารถเข้ามาช่วยเหลือผู้นำเข้าด้วยการลดภาษีการนำเข้าช่วงที่ค่าเงินบาทผันผวนสูง เพื่อลดผลกระทบในห่วงโซ่อุปทาน

#สาเหตุที่ทำให้ค่าเงินผันผวน
ปิดท้ายกันกับปัจจัยที่ส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเราจะมาสรุปโดยย่อให้เป็นภาษาอย่างง่าย 3 ปัจจัยหลักๆ คือ

#อัตราดอกเบี้ยของประเทศ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อเม็ดเงินที่ไหลเข้า-ออก ปกติแล้วประเทศไหนมีผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยสูงเงินก็จะไหลไปหา ทำให้ความต้องการเงินสกุลในประเทศนั้นๆ สูงขึ้น เพราะคนนำเงินสกุลของประเทศตัวเองมาแลกเป็นสกุลเงินของประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ทำให้ค่าเงินของประเทศที่อัตราดอกเบี้ยสูงแข็งค่าขึ้น (แต่ตอนนี้อัตราดอกเบี้ยไทยค่อนข้างต่ำ เพราะรัฐต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้คนนำเงินฝากออกมาใช้จ่าย เป็นปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า)

#การเติบโตทางเศรษฐกิจ ประเทศที่เศรษฐกิจแข็งแรง การเติบโตของ GDP สูง ทำให้แบงก์ชาติมีโอกาสปรับดอกเบี้ยขึ้นหากเกิดภาวะเงินเฟ้อ ทำให้แบงก์ชาติต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อชะลอความร้อนแรง (เรียกว่านโยบายทางการเงินแบบเข้มงวด บังคับให้คนเก็บออม) และเมื่อเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ก็ย้อนกลับไปเข้าทฤษฏีข้อแรก คือเมื่อดอกเบี้ยสูงเงินก็จะไหลเข้าประเทศนั้นๆ (เศรษฐกิจไทยอ่อนแออย่างหนัก แบงก์ชาติยังไม่มีท่าทีจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า)

#ความต้องการซื้อขายสกุลเงิน ที่มาจากการค้าขาย ส่งออก และเงินจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งเงินที่ไหลเข้ามาเป็นสกุลเงินประเทศอื่นนั้น หากจะทำธุรกรรมในไทย ก็ต้องเปลี่ยนเป็นเงินบาท ทำให้ความต้องการเงินบาทสูง เงินบาทก็แข็งค่า

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นถึงแม้ค่าเงินบาทอ่อนค่าจะทำให้นักท่องเที่ยวชอบใจ เพราะแลกเงินบาทได้เยอะขึ้น และเงินที่ไหลเข้ามาในระยะยาวจะทำให้เงินบาทเริ่มแข็งค่า แต่ในสถานการณ์โควิด-19 นักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทยไม่ได้ หรือได้เพียงโครงการนำร่อง ดังนั้น ค่าเงินบาทอ่อนค่าตอนนี้จึงแทบไม่มีประโยชน์ หรือแทบดึงดูดใจนักท่องเที่ยวไม่ได้เลย

หนำซ้ำสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังรุนแรง ก็ยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นถดถอย การควบคุมสถานการณ์ในประเทศไม่ได้ หรือแม้กระทั่งประสิทธิภาพของวัคซีน ก็มีผลต่อการเข้ามาท่องเที่ยว หรือทำธุรกิจในประเทศไทย จึงไม่แปลกใจหากค่าเงินบาทจะยังอ่อนค่าไปจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

จากปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วนั้น หลายคนคงเห็นภาพว่า มีโอกาสสูงมากที่เราจะได้เห็นเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องมีอยู่สูง ซึ่งหลายสำนักก็เริ่มมีการวิเคราะห์ว่า ว่าเงินบาทมีโอกาสทะลุ 33 บาท/ดอลลาร์ไปได้ไกลขนาดไหนนั้น นักวิเคราะห์บางรายก็มองว่าอาจขึ้นไปถึง 35 บาท/ดอลลาร์ เลยทีเดียว

ที่มา : https://th.tradingview.com/symbols/USDTHB/

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHC
#Businessplus #เงินบาท #บาทอ่อน #ค่าเงินบาทอ่อนค่า