Bubble_Seal

ภาคธุรกิจอาจฟื้นตัวล่าช้ากว่าเดิม!! Bubble & Seal อุปสรรคด้านต้นทุนอันใหญ่หลวง

ตั้งแต่เดือนกันยายน มาจนถึงเดือนตุลาคม ประเทศไทยเริ่มใช้มาตรการป้องกันโควิด-19 ที่ผ่อนคลายมากขึ้น นั่นทำให้หลายธุรกิจได้กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง เช่น การกลับมาเปิดห้างสรรพสินค้า การนั่งรับประทานอาหารในร้านได้ รวมไปถึงการขยายช่วงเวลาก่อนเคอร์ฟิวเพิ่ม 1 ชั่วโมง แน่นอนว่าส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางธุรกิจมากขึ้น

โดยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือนกันยายน 2564 อยู่ที่ระดับ 42.6 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 40.0 ในเดือนสิงหาคม แม้ภาพรวมยังต่ำกว่าระดับ 50 (ทรงตัว) แต่การแพร่ระบาดที่มีแนวโน้มลดลง และการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown บางส่วน ส่งผลให้ดัชนีฯ ของเกือบทุกธุรกิจทั้งในภาคการผลิต และภาคที่มิใช่การผลิตปรับเพิ่มขึ้น

สำหรับกลุ่มการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มขนส่งสินค้า ถือว่าโดดเด่นมาก ๆ เพราะดัชนีฯ กลับมาอยู่สูงกว่าระดับ 50 จากความเชื่อมั่นด้านการผลิตและบริการ รวมทั้งด้านคำสั่งซื้อที่ปรับดีขึ้นมาก

นอกจากนี้อีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีฯ เพิ่มขึ้นจาก 46.8 มาอยู่ที่ 50.7 ตามการเพิ่มขึ้นในเกือบทุกองค์ประกอบ และเกือบทุกธุรกิจ โดยเฉพาะภาคที่มิใช่การผลิต ที่ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 50 ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร และค้าปลีกที่ปรับดีขึ้นมาก สอดรับแผนการเปิดประเทศในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของกลุ่มธุรกิจก่อสร้างและอสังหาฯ ยังอยู่ในระดับต่ำ สำหรับธุรกิจส่วนใหญ่ในภาคการผลิต ดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่เหนือหรือใกล้เคียงระดับ 50 นำโดยกลุ่มการผลิตเคมีปิโตรเลียม ยางและพลาสติก รวมถึงกลุ่มเครื่องจักรและอุปกรณ์ (ข้อมูลจาก ธปท.)

นอกจากนี้ ในเดือนกันยายน 2564 การฟื้นตัวของธุรกิจปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนในทุกธุรกิจ โดยเฉพาะภาคที่มิใช่การผลิตตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน

ด้านระดับการฟื้นตัวของการจ้างงานปรับดีขึ้นทั้งจำนวนแรงงานและรายได้เฉลี่ย ซึ่งก็ถือว่าสอดคล้องกับการฟื้นตัวของธุรกิจ

แต่ในมุมมองจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ มองว่าธุรกิจจะฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับก่อนโควิด-19 ล่าช้า ภาคการผลิตคาดว่าจะกลับสู่ระดับเดิมได้ภายในครึ่งแรกของปี 2565 (1H65) ส่วนภาคที่มิใช่การผลิตคาดว่าจะกลับมาภายในครึ่งหลังของปี 2565 (2H65)

โดยภาคการผลิตมีการทำมาตรการ ‘Bubble & Seal’ (แนวทางการควบคุมโรคโดยหลักการกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน) กลับพบว่ามีต้นทุนที่สูง (ค่ายา ค่าตรวจ ATK และด้านการจัดหาพื้นที่กักตัว)

ซึ่ง ‘เรา’ อ้างอิงผลสำรวจจากผู้ประกอบการ 280 ราย (ความคิดเห็นผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และ SMEs ระหว่างวันที่ 1–23 ก.ย. 64 จากส่วนวิเคราะห์สนเทศธุรกิจและครัวเรือน ฝคศ.) พบว่า ธุรกิจมีมุมมองต่อการฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับก่อนโควิด-19 ล่าช้ากว่าการสำรวจรอบก่อน ภาคการผลิตส่วนใหญ่คาดว่าจะกลับสู่ระดับเดิมได้ภายในครึ่งแรกของปี 2565 เร็วกว่าภาคที่มิใช่การผลิตที่คาดว่าจะกลับมาภายในครึ่งหลังของปี 2565

และในประเด็นที่น่าจับตามอง เป็นเรื่องของธุรกิจภาคการผลิตเกือบครึ่งหนึ่งมีการทำมาตรการ Bubble & Seal เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน

ด้านมุมมองต่อการกลับมาใช้ชีวิตปกติของประชาชน ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ประเมินว่าวัคซีนเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด และจะเกิดได้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565

จากข้อมูลที่เราได้เรียบเรียงมาทั้งหมดนั้น ทำให้เห็นว่า ในมุมมองของผู้บริโภคแล้วเริ่มเห็นความเชื่อมั่นกลับมาในทุกภาคส่วน แต่ในมุมมองของผู้ประกอบการเองยังมีความกังวลในแง่ของต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น (ต้นทุนสาธารณสุข) เพราะต่อจากนี้ถึงแม้การระบาดของโควิด-19 จะลดลง แต่มาตรฐานของสินค้า และความสะอาดปลอดภัยเป็นสิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งก็นำพามาสู่ต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นนั่นเอง

เรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ข้อมูล : bot ,ส่วนวิเคราะห์สนเทศธุรกิจและครัวเรือน ฝคศ.

Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ภาคธุรกิจ #เศรษฐกิจ #ธุรกกิจ #Bubble & Seal