ผู้ประกอบการไทยปิดกิจการสูงสุดรอบ 7 เดือน!! ทุนจดทะเบียนธุรกิจเริ่มร่อยหรอ เดือนกรกฎาคมปิดตัวไปแล้วกว่า 1,140 ราย

ช่วงที่ผ่านมาหลังจากเจอวิกฤตก็มีธุรกิจหลายประเภทต้องปิดตัวเลิกกิจการ แต่ก็ยังมีอีกหลายธุรกิจที่ผุดขึ้นมาใหม่เช่นเดียวกัน

‘กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์’ เปิดตัวเลขการจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือนกรกฎาคม 2564 ทั่วประเทศมีทั้งหมด 5,661 ราย ปรับตัวลดลง -0.1% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และลดลง -7% จากเดือนมิถุนายน 2564

ที่นี้มาดูว่า ประเภทธุรกิจไหนที่จัดตั้งเพิ่มขึ้นกันนะ?
สำหรับประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก คือ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จัดตั้งเพิ่มขึ้น 593 ราย คิดเป็น 10% อันดับที่ 2 คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 240 ราย คิดเป็น 4% และอันดับ 3 คือ ธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้ารวมถึงคนโดยสาร 231 ราย คิดเป็น 4%

เห็นแบบนี้แล้ว คงต้องเข้าไปดูข้อมูลผลประกอบการของทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจ โดยเราจะหยิบยกตัวอย่างบริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้นไทยขึ้นมาเพื่อให้เห็นข้อมูลได้อย่างชัดเจน

สำหรับกลุ่ม ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK มีมูลค่าตามราคาตลาด (Market Capitalization) สูงสุดในกลุ่มขึ้นมาเป็นตัวแทน โดยพบว่า กำไรสุทธิครึ่งแรกของปี 2564 อยู่ที่ 525.906 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้วขาดทุนสุทธิ 49.835 ล้านบาท

มาต่อกันที่กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN มีมูลค่าตามราคาตลาด สูงสุดในกลุ่มขึ้นมาเป็นตัวแทน โดยพบว่า กำไรสุทธิครึ่งแรกของปี 2564 อยู่ที่ 5,103 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.87% เทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้วมีกำไรสุทธิ 5,059 ล้านบาท

และกลุ่มธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้ารวมถึงคนโดยสาร เราเลือก บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX ซึ่งเป็นธุรกิจขนส่งสินค้า มีมูลค่าตามราคาตลาด เป็นอันดับที่ 4 ขึ้นมาเป็นตัวแทน โดยพบว่า ครึ่งแรกของปี 2564 มีกำไรสุทธิ 638.420 ล้านบาท ลดลง 13.49% เทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้วมีกำไรสุทธิ 737.974ล้านบาท

จะเห็นว่า 2 ใน 3 ของกลุ่มที่กล่าวมา มีผลประกอบการที่เติบโตได้อย่างโดดเด่นสวนภาวะโควิด-19

ดูข่าวดีไปแล้ว!! ทีนี้มาดูส่วนธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการในเดือนกรกฎาคม 2564 กันบ้าง
พบว่ามีกิจการที่ปิดตัวไปจำนวน 1,140 ราย (สูงที่สุดในรอบ 7 เดือน) โดยเป็นการปิดตัวเพิ่มขึ้น 9% จากเดือนมิถุนายน 2564 ที่ปิดตัวไป 1,048 ราย

และประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 97 ราย คิดเป็น 9% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 65 ราย คิดเป็น 6% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 35 ราย คิดเป็น 3%

จะเห็นว่า กลุ่มธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป และ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ยังเป็น 2 กลุ่มธุรกิจที่มีทั้งจดทะเบียนเพิ่ม และปิดกิจการสูงสุด แต่สัดส่วนของการจดทะเบียนใหม่ที่เพิ่มขึ้นมานั้น ยังสูงกว่าการเลิกกิจการ

แต่สำหรับภาพรวมนั้น เมื่อมองทุนจดทะเบียนที่หายไปจากการเลิกกิจการจะเห็นว่า ทุนจดทะเบียนลดลงอย่างต่อเนื่อง จากเดือนมิถุนายน 2564 ทุนจดทะเบียนหายไป 3,145.81 ล้านบาท และเดือนกรกฎาคม ตัวเลขดังกล่าวขยับมาที่ 4,152.42 ล้านบาท (ทุนจดทะเบียนหายไปมากขึ้นถึง 1,006.60 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 3 เดือน)

ในขณะที่ มูลค่าของทุนจดทะเบียนที่เพิ่มขึ้นจากการจดทะเบียนธุรกิจ เริ่มถดถอยลง จากเดือนมิถุนายน 2564 ทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 20,921.90 ล้านบาท เหลือเพิ่มขึ้น 13,543.18 ล้านบาทในเดือนกรกฎาคม (ทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นในอัตราที่ถดถอย 7,378.72 ล้านบาท)

และภาพรวมสิ้นเดือนกรกฎาคม มีธุรกิจเปิดดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศทั้งสิ้น 807,283 ราย มูลค่าทุน 19.66 ล้านล้านบาท เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 197,348 ราย คิดเป็น 24.45%

เป็นบริษัทจำกัด 608,629 ราย คิดเป็น 75.39% และบริษัทมหาชนจำกัด 1,306 ราย คิดเป็น 0.16%

จะเห็นว่า แนวโน้มการจดทะเบียนธุรกิจเริ่มถดถอย หากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย ก็ยังเป็นเป็นประเด็นที่กระทบต่อการลงทุน เพราะการลงทุนจัดตั้งบริษัทจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อธุรกิจ และเศรษฐกิจของประเทศ

หากตัวเลขผู้ติดเชื้อลดน้อยลง และการฉีดวัคซีนในประเทศครอบคลุม ก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับการลงทุนได้

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ข้อมูล : SET,กระทรวงพาณิชย์

https://www.dbd.go.th/download/document_file/Statisic/2564/H26/H26_202106.pdf

Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHC

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #SET #mai #ตลาดหุ้น #ตลาดหุ้นไทย #หุ้นไทย #stock #IPO #กระทรวงพาณิชย์ #ปิดกิจการ