ปี 2022 ท่องเที่ยวฟื้นไม่สุด!! หลังแรงงานขาดแคลนหนัก ด้านลูกค้าพฤติกรรมแย่ลง

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวถูกคาดหมายว่าจะกลับมาอยู่ในจุดที่ดีอีกครั้งในปีนี้ หลังจากต้องทนทุกข์ทรมานมาอย่างยาวนานตลอดเกือบ 2 ปีภายใต้สถานการณ์โรคระบาด เพราะฉะนั้นปีนี้หลังอัตราการฉีดวัคซีนทั่วโลกขึ้นสู่ระดับที่น่าพอใจของทุกภาคส่วนแล้ว เชื่อว่าหนึ่งในอุตสาหกรรมที่จะกลับมาคึกคักที่สุดคงหนีไม่พ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

แต่นั้นเป็นความคาดหวังที่อาจจะไม่จริงนัก เพราะหลายฝ่ายก็เชื่อว่าแม้โรคระบาดจะทยอยหลบไป แต่ปัญหาที่ตามมาจะยังคงมีอย่างต่อเนื่องให้แก้ไขกันต่อไปไม่หยุด จริง ๆ ถ้าใครเดินทางในช่วงนี้ก็พอจะคาดเดาผลกระทบได้อยู่แล้ว เริ่มตั้งแต่การใช้เวลาของผู้คนที่จะต้องมากขึ้นสำหรับการเดินทางแต่ละครั้ง คุณ Brandon Berkson บริษัท Hotels Above Par ซึ่งตั้งอยู่ที่นิวยอร์ก เผยว่า “ผู้คนจะเสียเวลามากขึ้น ความปรารถนาที่จะท่องเที่ยวของลูกค้าที่มีศักยภาพจะรุนแรงกว่าแต่ก่อนมาก”

ด้านคุณ Ben Drew ประธานของ TripAdvisor “ในเดือนธันวาคมความต้องการที่เกิดขึ้นสำหรับการท่องเที่ยวที่กำลังจะมาจะเป็นอะไรที่มากเป็นพิเศษ การท่องเที่ยวจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง แม้จะเผชิญกับโอมิครอนก็ตาม พร้อมกันนั้นนักท่องเที่ยวจะพบเจอกับประสบการณ์การจองที่มากกว่าตอนก่อนการระบาด”

ปี 2022 หลายฝ่ายเชื่อว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะมาพร้อมกับความท้าทาย ซึ่งเป็นปีที่ธุรกิจถูกเรียกร้องให้มีความยืดหยุ่น มีความสามารถในการฟื้นฟู และมีการเติบโตในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

แล้วอุตสาหกรรมพร้อมรึยัง?

แม้ข่าวการฟื้นตัวของธุรกิจจะมีมาอย่างต่อเนื่อง แต่หากทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วเกินไปก็อาจจะนำไปสู่ปัญหาได้ “หากอุปสงค์และความเร็วในการดึงดูดนักท่องเที่ยวรุนแรงเกินไป ธุรกิจบางราย อย่างสายการบิน จะเจอกับปัญหาได้ เพราะพวกเขาจะหาพนักงานมาทำงานไม่ได้ เช่น การจ้างนักบินให้กลับมาบินอีกครั้ง ซึ่งมันต้องใช้เวลาในการฝึกสอนและเข้าโปรแกรมใหม่ ๆ เพิ่มเติม”

โดยในปี 2020 ทาง the World Travel & Tourism Council เผยว่า ตำแหน่งงานด้านนี้กว่า 62 ล้านตำแหน่งเกิดการสูญเสีย แม้ว่าหลายตำแหน่งในตอนนี้กำลังจะกลับมาอีกครั้ง พร้อมคาดการณ์ว่าระดับการจ้างงานของอุตสาหกรรมนี้จะพุ่งขึ้นแตะระดับ 18% ในปี 2022 นี้ แต่แม้จะมีตำแหน่งว่าง มีเงินจ่าย แต่หลายคนก็ไม่กลับมาทำอีกแล้ว เพราะพวกเขาได้งานในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ไปแล้ว รวมไปถึงพนักงานแนวหน้าก็ไม่เต็มใจที่จะต้องไปเผชิญกับพฤติกรรมผู้บริโภคหรือผู้ใช้บริการที่จะเกรี้ยวกราดและรุนแรงขึ้น ซึ่งธุรกิจสายการบินไม่ใช่อุตสาหกรรมเดียวที่จะเจอกับปัญหานี้

และหากขยับไปดูกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ สเปน อิตาลี ฝรั่งเศส และโปรตุเกส ต่างจะเจอปัญหาเดียวกันหมดในภาคอุตสาหกรรมนี้ก็คือ มีคนทำงานไม่พอ อย่าง ประเทศโปรตุเกส มีความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมนี้อยู่ที่ 475,000 ตำแหน่ง แต่ยังขาดแคลนถึง 85,000 ตำแหน่ง คิดเป็นสัดส่วนถึง 18% เลยทีเดียว

คุณ Jon Bortz ซึ่งเป็น CEO ของ Pebblebrook Hotel Trust เผยว่า “มันยากมากที่จะหาพ่อครัวและพนักงานเสิร์ฟให้เพียงพอกับการพุ่งขึ้นของความต้องการในอุตสาหกรรมนี้ เพื่อจะอุดช่องว่างตรงนี้พนักงานต้องทำงานล่วงเวลา และระดับผู้จัดการก็ต้องมีการเคลื่อนย้ายหน้าที่” ในมุมนักท่องเที่ยวแล้วการขาดแคลนพนักงานจะนำมาซึ่ง ความล่าช้าในการเดินทาง การลดลงของงานบริการ การจองร้านอาหาร รวมไปถึงบริการทำความสะอาดห้องพักด้วยเช่นกัน “พวกเราอยู่ในอุตสากรรมที่เจ็บหนัก แต่จะฟื้นตัวอย่างแน่นอน พวกเราจำเป็นต้องขอให้ลูกค้าอดทน”

เทคโนโลยี คือ คำตอบ

และความยากลำบากเหล่านี้ทำให้อุตสาหกรรมนี้จำเป็นต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลง โดยการนำเทคโนโลยีที่หลากหลายเข้ามาเติมเต็มช่องว่างเหล่านี้ เช่น งานด้านการทำความสะอาดห้องพัก และทำความสะอาดสนามบินตรงนี้หุ่นยนต์สามารถเข้ามาทดแทนได้ ขณะนี้โรงแรมเองก็สามารถใช้หุ่นยนต์ช่วยในการจองห้องพัก ร้านอาหารได้ จะเห็นว่าการใช้ AI จะช่วยลดต้นทุน พร้อมทั้งมอบบริการที่เจาะจงได้มากขึ้นด้วย ตัวอย่างเช่น โรงแรมระดับหรูหราอย่าง Four Seasons ก็เปิดให้จองทุกอย่างผ่านแอปพลิเคชันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะที่ความหวาดกลัวโรคทำให้ผู้ใช้บริการอยากลดการสัมผัสลงนั้นทำให้เทคโนโลยีที่เรียกว่า “HoverTap” จากบริษัท NZ Technologies ได้รับการตอบรับอย่างดี เพราะมันเป็นระบบไม่ต้องสัมผัสอีกแล้ว “ผมเชื่อว่าเรากำลังจะได้เห็นลิฟต์ที่ไม่ต้องสัมผัสมากขึ้นอีกมากในปีนี้” คุณ Nima Ziraknejad CEO และผู้ก่อตั้งกล่าว

โดยเจ้าลิฟต์ที่ไม่ต้องสัมผัสนี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้นทาง NZ Technologies เตรียมจะขยายการใช้งานเทคโนโลยีแบบนี้ไปที่ สนามบิน ร้านอาหาร และโรงแรมในอนาคตต่อไป แม้รูปแบบการใช้งานในลักษณะดั้งเดิมจะมีอยู่ แต่ทาง คุณ Nima Ziraknejad เชื่อว่า เทคโนโลยีลดการสัมผัสจะเพิ่มขึ้น และจะพัฒนาจนกลายเป็นคู่แข่งที่สำคัญและแตกต่างต่อไป

เขียน แปล และเรียบเรียง : เอกพล มงคลพัฒนกุล

ข้อมูลและที่มา : CNBC, WTTC

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus

#ท่องเที่ยว #แรงงานขาดแคลน #โรงแรม #เทคโนโลยี #อุตสาหกรรมการเดินทาง