เปิดอาณาจักร ‘อัลฟ่า ดิวิชั่นส์’ บริษัทที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา จากธุรกิจก๊อกน้ำมาไกลถึงสินเชื่อ!!

การเปลี่ยนแปลงกลุ่มธุรกิจ หรือแม้กระทั่งชื่อบริษัทมักจะมีให้เห็นไม่บ่อย นั่นเป็นเพราะการทำธุรกิจใด ๆ ก็ตามบริษัทจะมีเงินลงทุนเริ่มแรก ซึ่งเป็นการลงทุนในเครื่องจักร หรือสิ่งปลูกสร้างที่ออกแบบมาสำหรับธุรกิจหนึ่งโดยเฉพาะ แต่หากเปลี่ยนธุรกิจ ก็จะต้องกลับมาลงทุนใหม่เพิ่ม ซึ่งจะทำให้เงินลงทุนสำหรับธุรกิจเดิมเกิดต้นทุนค่าเสียโอกาส เพราะใช้งานได้ไม่เต็มที่

แต่สำหรับ บริษัท อัลฟ่า ดิวิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ALPHAX ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้น (mai) กลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค ถือว่าเป็นบริษัทที่มีการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน และหลายครั้งด้วยกัน

แต่เริ่มเดิมที บริษัท โอเชี่ยน คอมเมิรช จำกัด (มหาชน) หรือ OCEAN มีธุรกิจหลักคือ ผลิตและจำหน่ายกลุ่มชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ก๊อกน้ำ แต่มีผลขาดทุนมาต่อเนื่อง ปี 2561 ขาดทุน 146.29 ล้านบาท ปี 2560 ขาดทุน 32.26 ล้านบาท

ต่อมาในปี 2561 บริษัทฯ ได้หันหัวเรือไปยังธุรกิจซื้อขายน้ำมันปาล์มดิบ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เกิดจากการเข้ามาบริหารโดย “ชัชชญา ไตรตระกูลชัย” ด้วยการเทกโอเวอร์กิจการ OCEAN ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนรายได้หลักกลายมาเป็นซื้อขายน้ำมันปาล์มดิบ แทนธุรกิจก๊อกน้ำ แต่บริษัทยังคงดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับก๊อกน้ำมาต่อเนื่อง

จนกระทั่งวันที่ 1 พ.ย.2562 บริษัทฯ ได้หยุดประกอบธุรกิจเกี่ยวกับก๊อกน้ำ หลังจากที่ประเมินแล้วว่า รายได้จากการผลิตและจำหน่ายก๊อกน้ำนั้นไม่คุ้มค่ากับต้นทุนที่จะดำเนินต่อไป

และเมื่อปลายปี 2562 บริษัทฯ ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ด้วยการเข้ามาซื้อหุ้น OCEAN ของ “ธีร ชุติวราภรณ์” เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2562 ด้วยสัดส่วน 9.1176% (ปัจจุบัน “ธีร ชุติวราภรณ์” ถือหุ้นจำนวน289,590,000 หุ้น หรือ 24% และถูกแต่งตั้ง ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร (CEO) มีผลตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค.2564)

ซึ่งการเข้ามาของ “ธีร ชุติวราภรณ์” เป็นการสร้างพันธมิตรด้านอสังหาริมทรัพย์ จากพื้นฐานครอบครัวที่มีด้านเรียล ทำให้ OCEAN เริ่มมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจให้คำปรึกษาและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในปี 2562 เป็นปีแรก ด้วยรายได้ 2.1 ล้านบาท ซึ่งขณะนั้นยังคิดเป็นเพียง 0.1% ของรายได้รวม โดยในปี 2562 บริษัทฯ ยังมีรายได้จากธุรกิจก๊อกน้ำ 17.3% และธุรกิจซื้อขายน้ำมันปาล์ม 82.3%

โดยการเข้ามาของ “ธีร ชุติวราภรณ์” ทำให้ OCEAN มุ่งเน้นไปยังธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างเห็นได้ชัด และในที่สุดปี 2563 รายได้หลักของ OCEAN เปลี่ยนจากซื้อขายน้ำมันปาล์ม กลายเป็นธุรกิจให้คำปรึกษาและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (สัดส่วนรายได้ซื้อขายน้ำมันปาล์มเหลือ 11.73% และรายได้ธุรกิจอสังหาฯ ขึ้นมาเป็น 86.02%)

จนกระทั่งสัดส่วนรายได้ล่าสุด ไตรมาส 3 ปี 2564 บริษัทฯ มีรายได้จากธุรกิจให้คำปรึกษาและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพียงอย่างเดียว (รวมทั้งหมด 78.93 ล้านบาท)

โดยรายได้จากธุรกิจซื้อขายน้ำมันปาล์มไม่มีปรากฏให้เห็นอีกแล้ว ซึ่งบริษัทฯ ได้ชี้แจงผ่านคำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ (ไตรมาสที่ 3 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 2564) ว่าภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมโดยรวมเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวจากโควิด-19 ซึ่งกระทบในหลายส่วน โดยเฉพาะราคาน้ำมันปาล์มในตลาดที่มีความผันผวนอย่างมาก บริษัทฯ จึงชะลอการซื้อขายน้ำมันปาล์มเพื่อลดค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงด้านต่าง ๆ (แค่ชะลอแต่ยังไม่ได้หมายความว่าจะไม่ทำแล้ว)

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ เราได้เห็นแล้วว่า ระยะเวลาเพียง 3 ปี (2561-2564) บริษัทฯ แห่งนี้เปลี่ยนสัดส่วนรายได้จากธุรกิจหลักไปแล้วถึง 3 ธุรกิจด้วยกัน คือ จากก๊อกน้ำ มาเป็นน้ำมันปาล์ม และสุดท้ายคืออสังหาริมทรัพย์

ขณะที่เมื่อวันที่ 6 พ.ค.2564 บริษัทฯ ได้แจ้งข้อมูลกับตลท. ถึงการบันทึกความเข้าใจ เพื่อการศึกษาวิจัยกัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ในอนาคต ร่วมกับ 2 พันธมิตรในวงการกัญชง-กัญชา โดยพันธมิตรรายแรกคือ บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ JP ซึ่งเป็นโรงงานผลิตยา อาหารเสริม เครื่องสำอาง สมุนไพร และผลิตภัณฑ์อาหารเสริม

พันธมิตรรายที่ 2 คือ บริษัท แคนนาบิซ เวย์ จำกัด ผู้ออกแบบและพัฒนาระบบปลูกกัญชง-กัญชาอิจฉริยะ เพื่อป้อนวัตถุดิบให้กับบริษัท ซึ่งวางแผนจะก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้คุมปัจจัยการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ ปลายน้ำ อย่างครบวงจร

แผนการขยายธุรกิจเกี่ยวกับกัญชง-กัญชา ได้ดำเนินมาต่อเนื่องจนเดือนส.ค.2564 บริษัทฯ ได้เข้าลงทุนผ่านบริษัทย่อย คือ บริษัท เค ที ดี เอ็ม จำกัด เพื่อลงทุนในสินทรัพย์ที่ใช้ประกอบธุรกิจลงทุนเพื่อจัดจำหน่าย ร่วมผลิตสินค้า และว่าจ้างผลิตสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ วัตถุดิบ ประเภทรวมพืชกัญชง-กัญชา เพื่อใช้ในการผลิตอาหารเสริมและยา รวมถึงสั่งซื้อเครื่องจักรสำหรับการผลิต

โดย OCEAN ชี้แจงว่าการแตกไลน์เข้าสู่ธุรกิจผลิตสารตั้งต้นกัญชง-กัญชา เป็นเพราะเล็งเห็นการเติบโตของธุรกิจนี้ และเชื่อว่าจะมาเป็น New Growth ผลักดันรายได้และกำไรเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปี 2565 (รับรู้รายได้เต็มปี) ซึ่งคาดว่าจะได้รับใบอนุญาตการสกัดภายในไตรมาส 1/2565

ต่อมา เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2565 บริษัทฯ ได้มีการการเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัทและชื่อย่อหลักทรัพย์จาก บริษัท โอเชี่ยน คอมเมิรช จำกัด (มหาชน) หรือ OCEAN เป็น บริษัท อัลฟ่า ดิวิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ALPHAX

โดยให้เหตุผลการเปลี่ยนชื่อว่า เพื่อสื่อให้เห็นถึงความเป็นผู้นำ (ALPHA) การเริ่มต้นในการขยายธุรกิจออกไปอีกหลายประเภท (DIVISIONS) ซึ่งในอนาคตบริษัทพร้อมแสวงหาโอกาสการลงทุนใหม่

และไม่กี่วันที่ผ่านมา ALPHAX ได้ขยายธุรกิจใหม่อีกครั้ง หลังจากที่ประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 10 ม.ค.2565 อนุมัติเข้าซื้อหุ้นบริษัท มหทุน โฮลดิ้ง จำกัด (MHTH) สัดส่วน 76.78% จากบริษัท บี ริช โฮลดิ้ง จำกัด ส่งผลให้ MHTH กลายเป็นบริษัทย่อยของ ALPHAX ทันที

โดยการเข้าลงทุนในครั้งนี้เป็นการแตกไลน์ก้าวเข้าสู่ธุรกิจไฟแนนซ์ ซึ่งภายหลังจากการเข้าไปลงทุนในบริษัท MHTH จะทำให้ ALPHAX กลายบริษัทฯ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท มะหะทุน เช่าสินเชื่อ มหาชน ผู้นำธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในสปป.ลาว (เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลาว ซึ่งแต่ละปีจะมีกำไรจากการดำเนินงานไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท) คาดว่าในปีนี้จะสามารถรับรู้รายได้จากธุรกิจไฟแนนซ์เข้ามาเสริม

การเปลี่ยนแปลงของ ALPHAX จนถึงปัจจุบันส่งผลให้ตอนนี้บริษัทจะมีรายได้หลัก 3 ธุรกิจ ประกอบด้วยรายได้หลักในขณะนี้คือ อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจใหม่ที่กำลังจะเข้ามาเสริมอย่างธุรกิจกัญชง-กัญชา และธุรกิจน้องใหม่อย่างไฟแนนซ์

เป็นที่น่าจับตาว่า 3 ธุรกิจหลักนี้จะเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ และกำไรสุทธิให้กับ ALPHAX ได้อย่างโดดเด่น และยั่งยืนหรือไม่ หรือจะมีการเปลี่ยนแปลงธุรกิจในอนาคตอีกหรือไม่? โดยที่บริษัทฯ ตั้งเป้าว่ารายได้ในปี 2565 จะเติบโตได้ 200% หรือ 2 เท่าตัว

ที่มา : SET

เรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHC
#Businessplus #ตลาดหุ้น #SET #ALPHAX