Bangkok Airways_WEB

“บางกอกแอร์เวย์ส-ทอท.” คัมแบ็คเร็วสุด!! ผู้เชี่ยวชาญชี้ธุรกิจการบินเริ่มดีดตัวไตรมาส 4 นี้ จับผู้โดยสารไทย 50% ต่างชาติ 40% เข้าจุดคุ้มทุน

ดูเหมือนจะเป็นที่น่าจับตามองอย่างมากกับการฟื้นตัวของธุรกิจการบินในประเทศ หลังจากรัฐบาลปลดล็อกการเดินทางโดยเครื่องบินภายในประเทศตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน ที่ผ่านมา ถึงแม้การเดินทางด้วยเครื่องบิน นั้น จะเป็นไปในรูปแบบระบบปิด ซึ่งต้องมีการคัดกรองผู้โดยสารตามมาตรการของ ศบค.

และผู้โดยสารต้องทำตามกฏของสนามบินอย่างเคร่งครัด เช่น สนามบินบางแห่งกำหนดให้ผู้ที่มาจากพื้นที่สีแดง (มีการระบาดจำนวนมาก) ต้องทำการฉีดวัคซีน หรือต้องยื่นผลตรวจโควิด-19 ก่อนออกจากสนามบินปลายทาง แต่ก็ถือเป็นการผ่อนผันให้เดินทางได้ จากเดิมที่ไม่สามารถเดินทางได้เลย

ทำให้หลายสายการบิน ได้กลับมามีรายได้ในประเทศ แต่การฟื้นตัวคงยังเป็นการทยอยฟื้นตัว และบริษัทที่จะมีการฟื้นตัวได้รวดเร็วจะเป็นสายการบินที่พึ่งพิงผู้โดยสารในประเทศมากกว่าต่างชาติ

โดยเราพบข้อมูลน่าสนใจจาก ‘บล.ฟินันเซีย ไซรัส’ ระบุในบทวิเคราะห์ (15 กันยายน 2564) โดยประเมินว่า กลุ่มสายการบินจะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 4 ปี 2564 เริ่มจากผู้โดยสารในประเทศที่จะฟื้นตัวหลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown โดยคาดแตะ 60-80% เทียบกับช่วงก่อนเกิด COVID-19 ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 ถึงไตรมาส 1 ปี 2565 จากทั้ง Pent-Up Demand รวมถึงมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ขณะที่ปี 2565 คาดเริ่มทยอยเปิดพรมแดน

นอกจากนี้บางสายการบินยังได้แรงหนุนจากธุรกิจ Cargo ซึ่งกระทบจำกัดจาก COVID-19 ประเมินว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT และ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA จะฟื้นตัวเร็วสุดเพราะต้องการจำนวนผู้โดยสารในประเทศ 50% และต่างประเทศ 40% เพื่อ Break even ขณะที่ บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ต้องการสูงกว่า 75% และ 50% ตามลำดับ

อ่านบทวิเคราะห์จบแล้วสำหรับใครที่ยังไม่เข้าใจคำว่า Break Even Point จะอธิบายให้ฟังอย่างง่าย ก็คือ จุดคุ้มทุน หรือจุดที่รายได้เท่ากับต้นทุนคงที่และต้นทุนผันแปร (เป็นจุดที่บริษัทไม่ได้กำไรและไม่เกิดการขาดทุน) ส่วนจุดที่ต่ำกว่าจุดคุ้มทุนคือการขาดทุน ส่วนจุดที่สูงกว่าจุดคุ้มทุนคือกำไรของธุรกิจนั่นเอง

ในบางครั้ง หลายองค์กรต้องดำเนินธุรกิจต่อไปถึงแม้จะอยู่ในจุดที่เรียกว่าไม่มีกำไร และไม่ขาดทุน และในบางครั้งกิจการเกิดการขาดทุนแต่ยังดำเนินกิจการต่อ “ถ้ารายรับยังสูงกว่าต้นทุนผันแปร” (ต้นทุนจากการผลิต) สาเหตุเป็นเพราะหากหยุดดำเนินธุรกิจจะทำให้เกิดการขาดทุนที่มากกว่าการดำเนินธุรกิจต่อไป เพราะเมื่อหยุดกิจการเท่ากับรายได้เป็นศูนย์ แต่ยังต้องแบกรับต้นทุนคงที่เต็ม ๆ เช่น ค่าเช่าที่ดิน ค่าเงินเดือนพนักงาน นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้บริษัทเหล่านี้ต้องดำเนินธุรกิจต่อไปถึงแม้จะไม่ได้กำไร

และเจ้าของกิจการเหล่านี้จะดำเนินกิจการต่อรอวันนึงที่สามารถมีรายรับที่สูงกว่าต้นทุนผันแปรได้ในอนาคต แต่ถ้ารายรับต่ำกว่าต้นทุนผันแปร จะปิดกิจการทันทีเพราะหากเปิดต่อจะเสียค่าใช้จ่ายสูงกว่าปิดกิจการ

ซึ่งจากสถานการณ์ข้างต้นเจ้าของกิจการต้องอาศัยการปรับลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ส่วนอื่น หรือแม้กระทั่งประคองธุรกิจให้ผ่านช่วงวิกฤตไปให้ได้ รอวันกลับมาสร้างกำไรได้อีกครั้งในภายหลัง

ปิดท้ายกันที่ผลประกอบการของ 3 บริษัทการบินที่มีการพูดถึงกันสักหน่อย

ดูกรณีบริษัทที่ว่ากันว่าจะฟื้นตัวยากสุดอย่าง แอร์เอเชีย ครึ่งปี 2564 มีผลขาดทุนสุทธิ 3,556 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุน 1,812 ล้านบาท และช่วงที่ผ่านมาได้จัดโปรโมชั่นกระหน่ำ ลด 30% ไม่เว้นวันหยุดยาวและวันหยุด

ส่วน การบินกรุงเทพ หรือ บางกอกแอร์เวย์ส เริ่มเห็นการฟื้นตัว ครึ่งปี 2564 มีผลขาดทุนสุทธิ 1,431 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุน 3,313 ล้านบาท และในช่วงที่ผ่านมา ได้กลับมาเปิด 5 เส้นทาง จากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ ภูเก็ต ลำปาง และสุโขทัย สัปดาห์ละ 3-5 เที่ยวบิน

และ ท่าอากาศยานไทย เป็นผลประกอบการ 9 เดือน (ต.ค.2563-มิ.ย.2564) มีผลขาดทุนสุทธิ 11,164 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 8,048 ล้านบาท ซึ่งภายหลังจากสายการบินต่าง ๆ กลับมาเปิดเส้นทางบินก็จะมีจำนวนผู้ใช้บริการมากขึ้น

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
.
ข้อมูล : บล.ฟินันเซีย ไซรัส
.
ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS
.
#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #SET #mai #ตลาดหุ้น #ตลาดหุ้นไทย #หุ้นไทย #stock #สนามบิน #ท่าอากาศยาน #สายการบิน #การบิน #AOT #BA #AAV