อาหารเสริม

ธุรกิจอาหารเสริม “ไม่ใช่ว่าใครก็ทำได้” การเข้าสู่ตลาดเป็นเรื่องง่าย แต่ให้อยู่รอดอาจเป็นเรื่องยาก!!

ธุรกิจอาหารเสริมถึงแม้จะเข้าสู่ตลาดได้ง่าย แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะ ‘อยู่รอด’ การแข่งขันอย่างดุเดือดทำให้เจ้าของกิจการต้องผลิตสินค้าที่มีความแตกต่าง มีคุณภาพ และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้ตรงจุด ไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาสินค้าด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อทำให้คู่แข่งไม่สามารถเลียนแบบ และเกิดความได้เปรียบเชิงแข่งขันในท้ายที่สุด

ธุรกิจอาหารเสริมกลับมาเป็นที่นิยมกันมากอีกครั้ง หลังจากเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั่นเป็นเพราะปัจจุบันผลิตภัณฑ์อาหารเสริมไม่ได้มีเพียงแค่เพื่อความสวยความงามอีกต่อไปแล้ว แต่อาหารเสริมด้านสุขภาพเป็นที่ต้องการจำนวนมาก ซึ่งธุรกิจนี้มีผู้เล่นหลากหลายทั้งกิจการขนาดเล็ก หรือคนทั่วไปที่ต้องการมีแบรนด์สินค้าเป็นของตัวเอง แม้กระทั่งบริษัทขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมอื่นก็แตกไลน์เข้าสู่ธุรกิจประเภทนี้เช่นกัน

สิ่งที่ทำให้ธุรกิจอาหารเสริมเป็นหนึ่งในธุรกิจที่หลายคนให้ความสนใจอยากเข้าลงทุนเป็นอันดับแรก ๆ นอกจากจะเป็นธุรกิจที่มีความต้องการสินค้าสูงแล้ว ยังเป็นธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนแก่เจ้าของกิจการสูงอีกด้วย ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ธุรกิจประเภทนี้ก็เป็นที่นิยมมากอยู่แล้ว และโควิด-19 ก็เข้ามาเป็นตัวเร่งให้เกิดความต้องการมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอาหารเสริมประเภทสุขภาพที่สามารถเสริมวิตามิน ปรับสมดุล หรือเพิ่มภูมิต้านทานต่าง ๆ ให้กับร่างกายทดแทนสารอาหารที่ไม่สามารถรับประทานอาหารหลักได้ครบ

โดยการแพร่ระบาดครั้งนี้ ได้ทำให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนแปลงไป กระตุ้นการตระหนักถึงเรื่องของสุขภาพมากยิ่งขึ้น จากเดิมอาจจะมีเพียงลูกค้ากลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้น ที่มีความต้องการสินค้าด้านสุขภาพสูง แต่ปัจจุบันกลุ่มคนรุ่นใหม่ก็หันมาใส่ใจสุขภาพมากยิ่งขึ้น และมีการคาดการณ์ว่าพฤติกรรมเหล่านี้จะยังคงอยู่ แม้การระบาดของโควิด-19 จะหมดไปแล้วก็ตาม

สอดคล้องกับข้อมูลจาก ‘ผลงานวิจัยของสวนดุสิตโพล’ ซึ่งพบว่าคนไทยกว่า 45.39% ใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น ทั้งการออกกำลังกาย รับประทานอาหารเสริมและวิตามิน ตลอดจนการขอคำปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ นั่นเป็นโอกาสทางการตลาดสำหรับเจ้าของกิจการที่จะขยายฐานลูกค้า

นอกจากนี้ มีรายงานของ Coherent Market Insight องค์กรด้านการตลาดและบริษัทที่ปรึกษาระดับโลก ระบุว่า ในปี พ.ศ.2563 อาหารเสริมบำรุงสมองและผ่อนคลายความเครียดมียอดจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้นถึง 8.5% หรือคิดเป็นมูลค่า 7,038 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 232,254 ล้านบาท (ณ อัตราแลกเปลี่ยน 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) และคาดว่าจะเพิ่มต่อเนื่องยาวไปอีกอย่างน้อย 6 ปีข้างหน้า หรือประมาณ พ.ศ.2570

และเมื่อย้อนดูข้อมูลจากผลประกอบการของบริษัทที่ประกอบธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารเสริมของไทยในช่วงที่ผ่านมา พบว่าเป็นธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนกับเจ้าของกิจการได้อย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากความสามารถในการทำกำไร โดยเฉพาะช่วงปี 2563-2564 ที่เริ่มเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

เปิดข้อมูลผลประกอบการธุรกิจอาหารเสริม
หากลองสำรวจผลประกอบการของบริษัท ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) ในรูปแบบของอาหารเสริมประเภทเม็ด เกล็ด ผง แคปซูล ที่มีแบรนด์คุ้นหูคุ้นตา อย่าง บริษัท เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ MEGA ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและสินค้าอุปโภคบริโภค และขายผลิตภัณฑ์กลุ่มบำรุงสุขภาพ ภายใต้แบรนด์ Mega We Care จะเห็นได้ว่า ผลประกอบการปรับตัวดีขึ้นมาตั้งแต่ปี 2560

และครึ่งแรกปี 2564 มีกำไรสุทธิ 837.84 ล้านบาท เติบโต 34% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุของการเติบโตมาจากรายได้ในทุกภูมิภาค โดยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตมากที่สุด ซึ่งเติบโต 18.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ อัตรากำไรขั้นต้นโดยรวมในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 อยู่ที่ 40.2% เปรียบเทียบกับ 39% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 ซึ่งการเติบโตของ เมก้า นั้น สอดคล้องกับภาพรวมอุตสาหกรรมเลยทีเดียว

ขณะที่อีกหนึ่งผู้เล่นในตลาดอาหารเสริมอย่าง บริษัท อินเตอร์ ฟาร์มา จำกัด (มหาชน) หรือ IP ผู้พัฒนา คิดค้น และจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพและนวัตกรรมความงามสำหรับคน และผลิตภัณฑ์สุขภาพสำหรับสัตว์เลี้ยงและปศุสัตว์ ผลประกอบการออกมาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ผลประกอบการเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560

และในช่วงครึ่งแรกปี 2564 มีกำไรสุทธิ 43.44 ล้านบาท เติบโต 41% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งกำไรสุทธิที่ปรับตัวขึ้นมีสาเหตุมาจากรายได้กลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับปศุกสัตว์เพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 1 และผลิตภัณฑ์รักษาสุขภาพและชะลอวัยเพิ่มขึ้นเป็นอันดับที่ 2

ทั้งนี้จะเห็นว่า เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ และอินเตอร์ ฟาร์มา ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภท เม็ด เกล็ด ผง แคปซูล ภายใต้ชื่อแบรนด์ของตัวเอง ต่างได้รับอานิสงส์ในช่วงโควิด-19 เห็นได้จากยอดขายสินค้าประเภทสุขภาพเพิ่มสูงขึ้น สนับสนุนการเติบโตของรายได้และกำไรสุทธิ

เครื่องดื่มเสริมอาหารมาแรง
นอกจากนี้ พบว่า อาหารเสริม ประเภทเครื่องดื่มเสริมอาหาร (Functional Drinks) เป็นที่นิยมมากในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนั้นในช่วงปี 2563 – 2564 ที่ผ่านมาเราจึงได้เห็นผู้เล่นหลากหลายลงมาร่วมวงธุรกิจนี้กันมากขึ้น

โดยเครื่องดื่มเสริมอาหารผู้ผลิตจะเติมสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเพิ่มเติมเข้าไปให้เหมาะกับการดื่มของผู้บริโภคในแต่ละวัน ยกตัวอย่างแบรนด์ที่ได้รับกระแสตอบรับค่อนข้างดีเป็น น้ำดื่มผสมวิตามินของ วิตอะเดย์ โดยบริษัท เจนเนอรัล เบฟเวอร์เรจ จำกัด ที่ผสมวิตามินบี หรือ วิตามินซี ซึ่งจะช่วยบำรุงระบบประสาทและสมอง ช่วยให้ร่างกายทำงานได้อย่างปกติสมบูรณ์ และช่วยป้องกันผมร่วง บำรุงเล็บที่แห้งเปราะ และป้องกันโรคผิวหนัง

รวมไปถึงแบรนด์ ยันฮี วิตามิน วอเตอร์ ผลิตภัณฑ์จากโรงพยาบาลยันฮี ก็เข้าร่วมวงผลิตเครื่องดื่มเสริมอาหารออกมาเป็นเจ้าแรก ๆ เช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทในตลาดหุ้นอย่าง บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์เครื่องดื่ม ‘อิชิตัน’ เข้ามาร่วมวง โดยในปัจจุบันไม่ได้ผลิตแค่ชาเขียว แต่ผลิตน้ำดื่มผสมวิตามินออกมาหลากหลาย เช่น เครื่องดื่ม pH Plus 8.5 ซึ่งมีการผสมวิตามินบีรวม มีคุณสมบัติเป็นด่างอ่อน ๆ ช่วยปรับสมดุลกรดด่างในร่างกายให้สมดุล ทำให้ร่างกายทำงานได้เป็นปกติและดีขึ้น

โดยผลการดำเนินงานของ อิชิตัน ในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 ออกมาค่อนข้างดีที่ระดับ 164.29 ล้านบาท เติบโต 10% แม้ครึ่งปีแรกกำไรสุทธิจะปรับตัวลดลงไปเล็กน้อย ซึ่งรายได้ในไตรมาส 2 เติบโต นั้น มีสาเหตุมาจากบริษัทมียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น 21.9% ส่วนยอดขายจากต่างประเทศปรับตัวลดลง 35%

ส่วนอีกแบรนด์ที่ผลประกอบการออกมาค่อนข้างโดดเด่น คือ บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) หรือ SAPPE ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและความงาม โดยผลประกอบการช่วงไตรมาส 2 ปี 2564 และช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 เติบโตอย่างโดดเด่น

โดยผลการดำเนินงานของ เซ็ปเป้ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 อยู่ที่ 126.87 ล้านบาท เติบโตสูงถึง 53% ส่งผลให้ครึ่งปีแรกกำไรสุทธิอยู่ที่ระดับ 213.43 ล้านบาท เติบโต 29.59% สาเหตุมาจากรายได้เพิ่มขึ้น 31.9% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของยอดขายในต่างประเทศที่เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ความสามารถทำกำไรธุรกิจอาหารเสริม
อีกจุดที่ทำให้ธุรกิจอาหารเสริม เป็นที่ดึงดูดให้หลายคนอยากเข้ามาลงทุน เพราะเป็นธุรกิจที่อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) สูงมากในระดับ 40-50% หากนำมาเปรียบเทียบกับธุรกิจประเภทอื่นแล้วถือว่าสูงกว่าหลายเท่าตัว เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีอัตรากำไรขั้นต้น 30% ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง 20% หรือแม้กระทั่งธุรกิจค้าปลีกน้ำมันมีอัตรากำไรขั้นต้นราว 10%

โดยอัตรากำไรขั้นต้นนั้น ใช้ประเมินประสิทธิภาพของธุรกิจ ว่ารายได้ที่ได้จากการขายสินค้า เมื่อหักต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตออกแล้วเหลือเป็นกำไรขั้นต้นเท่าไหร่ โดยยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่น พูดให้เข้าใจได้ง่าย ๆ คือ ใช้เป็นตัวชี้วัดความสามารถในการทำกำไรขั้นเบื้องต้นว่าต่ำหรือสูง แน่นอนว่า อัตรากำไรขั้นต้นยิ่งสูงยิ่งดี แสดงให้เห็นว่าธุรกิจของเราขายสินค้าได้ในราคาสูง ในขณะที่ต้นทุนต่ำ

ซึ่งสาเหตุที่ธุรกิจอาหารเสริมมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงนั้น มีหลายสาเหตุ หนึ่งในนั้นคือ แบรนด์อาหารเสริมส่วนใหญ่จะใช้บริการรับจ้างผลิตในรูปแบบ Original Equipment Manufacturer (OEM) ซึ่งจะเป็นการรับจ้างผลิตสินค้าเพื่อนำไปใช้กับแบรนด์ที่มีอยู่แล้ว ซึ่งโรงงานประเภทนี้จะได้มาตรฐานการผลิตระดับสากล พร้อมกับใบรับรองการผลิต ซึ่งเจ้าของกิจการที่มีแบรนด์ของตัวเองอยู่แล้วไม่ต้องลงทุนเครื่องจักรเพิ่ม จึงสามารถประหยัดงบลงทุนได้ และหันมาเลือกใช้บริการแบบ OEM กันเป็นจำนวนมาก

อีกหนึ่งการรับจ้างผลิตที่ได้รับความนิยมมากในตลาดอาหารเสริมคือ การรับจ้างผลิตและออกแบบ หรือ Original Design Manufacturer (ODM) ซึ่งโรงงานเหล่านี้ล้วนมีใบอนุญาต และผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยา (อย.) เป็นที่เรียบร้อยแล้วเช่นเดียวกับ OEM แต่ ODM นั้น จะให้บริการตั้งแต่การคิดค้น การวิจัย และช่วยปรับสูตร ไปจนถึงออกแบบโลโก้ ฉลากสินค้า และกระบวนการหาบรรจุภัณฑ์ ที่สำคัญยังรวมไปถึงการจดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อีกด้วย

นั่นทำให้การออกผลิตภัณฑ์ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปสำหรับเจ้าของกิจการรายเล็กที่ต้องการมีแบรนด์อาหารเสริมเป็นของตัวเอง เพราะไม่จำเป็นต้องลงทุนเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต แถมไม่ต้องยุ่งยากเรื่องของการเข้าตรวจสอบโรงงานที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ อาศัยเงินลงทุนจำนวนมาก ประกอบกับใช้เวลานานกว่าจะสามารถผลิตสินค้าออกมาได้ เป็นที่มาของแบรนด์อาหารเสริมที่มีให้เห็นตามท้องตลาดจำนวนมาก โดยอาจจะทำให้ใครหลายคนใช้คำว่า ‘อาหารเสริมใคร ๆ ก็เป็นเจ้าของแบรนด์ได้’

ส่วนเจ้าของกิจการรับจ้างผลิต OEM และ ODM นั้น เนื่องจากเป็นโรงงานขนาดใหญ่ มีเครื่องจักร และเงินลงทุนสูง นั่นส่งผลให้พวกเขาได้เปรียบในเรื่องของการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) คือการผลิตสินค้าจำนวนมากเพื่อให้ได้ต้นทุนต่อชิ้นที่ต่ำลง ซึ่งค่าบริการที่เจ้าของโรงงาน OEM และ ODM คิดค่าบริการนั้น ลูกค้าจะมองว่าคุ้มค่ากว่าการลงทุนเอง

ส่องผลงานโรงงานรับจ้างออกแบบ-ผลิตอาหารเสริม
มาผลประกอบการของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจแบบ OEM และ ODM ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เช่น บริษัท แกรททิทูด อินฟินิท จำกัด (มหาชน) หรือ GIFT ผู้ดำเนินธุรกิจผลิต จัดหา พัฒนาและจัดจำหน่าย ผลิตภัณฑ์สำหรับการผลิตสินค้าสำเร็จรูป (Chemical Ingredient) สำหรับกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ดูแลครัวเรือน ผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง

อีกทั้งกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ยาแผนโบราณ ผลิตภัณฑ์ยา แผนปัจจุบัน โดยช่วงครึ่งปี 2564 มีผลขาดทุนสุทธิ 17.13 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมี 25.23 ล้านบาท สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้รายได้จากการขายลดลงสาเหตุหลักเดียวกัน คือความต้องการสั่งซื้อสินค้าของลูกค้าลดลง จากสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ถดถอยจากโรคระบาดโควิด-19

เป็นไปในทิศทางเดียวกันสำหรับ บริษัท ดีโอดี ไบโอเทค จำกัด (มหาชน) หรือ DOD บริษัทดำเนินธุรกิจรับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารภายใต้ตราสินค้าของลูกค้า และตราสินค้าของบริษัท “Dai a to” (ได เอโตะ) ช่วงครึ่งปีแรกมีผลขาดทุนสุทธิ 2.70 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไรสุทธิ 103.69 ล้านบาท

ถึงแม้บริษัทจะมีรายได้จากการขายธุรกิจผลิตอาหารเสริมจะเพิ่มขึ้น แต่สําหรับธุรกิจเครื่องสําอางและธุรกิจเครือข่ายได้หยุดการดําเนินงาน อันเนื่องจากทั้งสองธุรกิจประสบปัญหาในการดําเนินธุรกิจจากผลกระทบโรคระบาดของโควิด-19

และบริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ RBF ผู้ผลิตและจำหน่ายวัตถุที่ใช้เป็นส่วนผสมในอาหาร (Food Ingredients) ตามคำสั่งซื้อของลูกค้า ช่วงครึ่งปีแรกมีกำไรสุทธิ 183 ล้านบาท ลดลง 28.60% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไรสุทธิ 256.32 ล้านบาท

มาถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่า ถึงแม้การบริโภคอาหารเสริมจะเติบโตในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผลประกอบการของบริษัทที่เป็นเจ้าของแบรนด์สินค้าเติบโต แต่สำหรับโรงงานรับจ้างออกแบบ และผลิตกลับเป็นไปในทิศทางตรงข้าม สาเหตุมาจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดปัญหาคอขวดสำหรับห่วงโซ่การผลิต (Supply chain) ทั้งในเรื่องของจำนวนพนักงานที่น้อยลงตามมาตรการคุมเข้มโควิด-19 เพราะไม่สามารถเปิดโรงงานได้ตามปกติ และอาจใช้เครื่องจักรได้ไม่เต็มประสิทธิภาพอีกต่อไป เป็นผลทำให้ต้นทุนที่เคยได้รับการประหยัดต่อขนาดน้อยลง (Economy of scale)

นอกจากนี้ยังต้องเผชิญกับปัญหาซัพพลายเออร์ที่ขาดแคลนจากการขนส่งโลจิสติกส์ที่ล่าช้า ส่งผลให้ไม่สามารถผลิตสินค้ามากตามความต้องการได้ ทั้ง 2 ปัจจัยหลัก ๆ นี้ ส่งผลกระทบต่อกำไรสุทธิของเจ้าของกิจการโดยตรง

ความท้าทายที่กำลังรออยู่
สำหรับความท้าทายที่เจ้าของธุรกิจอาหารเสริมโดยเฉพาะเจ้าของแบรนด์ ทั้งประเภทเครื่องดื่มเสริมอาหาร หรืออาหารเสริม จะต้องเผชิญต่อจากนี้ เป็นเรื่องของการแข่งขันทางการค้า เพราะอย่าลืมว่ากำไรขั้นต้นที่สูงมากของธุรกิจอาหารเสริม นั้น เป็นการดึงดูดให้ผู้เล่นรายใหม่อยากจะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาด (Market Share) ยิ่งอัตรากำไรขั้นต้นสูงมากเท่าไร โอกาสที่จะมีคู่แข่งมากขึ้นก็เพิ่มขึ้นเท่านั้น

และในท้ายที่สุด เมื่อมีผู้เล่นในตลาดหลายรายก็จะต้องเกิดการทำสงครามด้านราคา ทำให้ผู้เล่นในตลาดทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ต้องลดราคาขายสินค้าเพื่อชิงส่วนแบ่งการตลาด และท้ายที่สุด ก็จะกดให้กำไรขั้นต้นน้อยลงลงเรื่อย ๆ

อย่างไรก็ตาม หากเจ้าของกิจการมีความเชี่ยวชาญ มีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจ และสามารถผลิตสินค้าออกมาได้ตรงตามความต้องการของตลาดก็จะยังสามารถอยู่รอดได้ภายใต้การแข่งขันที่รุนแรง โดยการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรของไทยไปสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะเพิ่มขึ้นเป็น 14% ของประชากรไทยในปี 2568 (ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย) ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้มีความต้องการสินค้าประเภทสุขภาพ และมีกำลังซื้อสูงจึงเรียกได้ว่า เป็นกลุ่มที่เจ้าของกิจการต้องออกผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้ากลุ่มนี้ให้มากขึ้น

ดังนั้น เจ้าของกิจการควรเน้นกลยุทธ์ทางการตลาดเข้ามาเสริมความแข็งแกร่ง เช่น กลยุทธ์ความแตกต่าง (Differentiate Strategy) และกลยุทธ์มุ่งเฉพาะกลุ่ม (Niche or Focus Strategy) เข้ามาร่วมด้วย เพื่อมุ่งเน้นบริการลูกค้าเฉพาะกลุ่มที่มีโอกาสได้ยอดขายสูง ขณะที่ต้องเน้นทำการตลาด เพื่อโฆษณาสินค้าผ่านสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อนอกบ้าน หรือสื่อโซเชียลมีเดีย โดยเลือกใช้พรีเซ็นเตอร์ที่น่าเชื่อถือ และเหมาะสมกับแบรนด์มารีวิวสินค้า

“ธุรกิจอาหารเสริมถึงแม้จะเข้าสู่ตลาดได้ง่าย แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะ ‘อยู่รอด’ การแข่งขันอย่างดุเดือดทำให้เจ้าของกิจการต้องผลิตสินค้าที่มีความแตกต่าง มีคุณภาพ และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้ตรงจุด ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาสินค้าด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อทำให้คู่แข่งไม่สามารถเลียนแบบ และเกิดความได้เปรียบเชิงแข่งขัน (Competitive Advantage) ในท้ายที่สุด”
.

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
.
ข้อมูล : SET
.
ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS
.
#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #SET #mai #ตลาดหุ้น #ตลาดหุ้นไทย #หุ้นไทย #stock #อสังหาริมทรัพย์ #ตลาดอาหารเสริม #ธุรกิจอาหารเสริม