ธุรกิจการเงินจะเป็นยังไงต่อ? ใต้โจทย์ใหญ่ หนี้เสียพุ่ง-การลงทุนถดถอย!

จบไปแล้วกับการประกาศกำไรสุทธิไตรมาส 2 ของกลุ่มธนาคารรายใหญ่ ที่เป็นป้อมด่านแรกที่จะพอทำให้เราพอมองเห็นว่า กลุ่มอื่นๆ จะเป็นยังไงต่อ? เพราะธุรกิจการเงิน และธนาคารส่วนใหญ่อิงกับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ (เพราะลูกค้าของธนาคารมีทั้งรายบุคคล และองค์กร)
.
หากลูกค้าธนาคารเจอผลกระทบจากวิกฤตต่างๆ ก็จะทำให้ความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยของธนาคารต่ำลง ธนาคารจึงต้องตั้งสำรองหนี้เสียให้สอดคล้องกับความเสี่ยงตามภาวะเศรษฐกิจ (ทำให้ธนาคารต้องแบกรับเพิ่มขึ้น)
.
เมื่อมองไปถึงภาพรวมช่วงไตรมาส 2 ปี 2564 ไทยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หนักๆ แค่ในช่วงท้ายไตรมาส (พฤษภาคม-มิถุนายน) แต่ถ้าหากเทียบกำไรกับไตรมาส 2 ปี 2563 ก็แน่นอนว่าต้อง “ฟื้นตัวชัวร์ๆ” เพราะฐานปีก่อนอยู่ในระดับต่ำมาก (กระทบโควิด-19 เต็มๆ) แต่สำหรับทิศทางไตรมาส 3 เป็นต้นไปนั้น รับรองว่าฟังแล้วไม่รื่นหูแน่ๆ ! แต่เราจะมาสรุปให้ในตอนท้าย
.
#ไขข้อสงสัยทำไม “กสิกรไทย” กำไรโตสุด!!
มาดูงบของ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ที่ประกาศกำไรออกมาโตที่สุดในกลุ่ม โดยไตรมาส 2/64 มีกำไรสุทธิ 8,894 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 308.91% จากไตรมาส 2/64 ที่มีกำไรสุทธิ 2,175 ล้านบาท (โตเกิน 3 เท่าตัว) สาเหตุที่ทำให้ กสิกรไทย เติบโตมากขนาดนี้มาจาก 5 ปัจจัยหลักๆ
.
1 . ตั้งสำรองลดลงมาที่ 10,807 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 20,192 ล้านบาท (ทำให้มีเงินปล่อยกู้มากขึ้น) ลดลงถึง 46.48%
.
2. เงินให้สินเชื่อเติบโตต่อเนื่อง (เงินปล่อยกู้ให้ลูกหนี้) โดยสิ้นเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 2,383,320 ล้านบาท และเดือนมีนาคมอยู่ที่ 2,302,352 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.52%
.
3. ผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิเพิ่มขึ้น โดยไตรมาส 2 ขยับขึ้นมาที่ 3.22% จากไตรมาส 1 อยู่ที่ 3.16%
.
4. ช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 เจอวิกฤตขั้นเลวร้ายแต่ไตรมาส 2 ของปี 2564 นี้ ได้รับผลกระทบแค่ช่วงท้ายไตรมาส จึงมีกำไรสูงกว่า (ซึ่งผลกระทบที่รุนแรงอาจจะเกิดขึ้นอีกในไตรมาส 3 นี้แหละ)
.
5. Coverage Ratio (ความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย) เพิ่มขึ้นมาที่ 154.09% จากสิ้นปี 2563 อยู่ที่ 149.19% (ยิ่งสูงยิ่งดี)
.
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ หนุนช่วงครึ่งปีแรก ธนาคารกสิกรไทย มีกำไรสุทธิ 19,520.94 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 104.40 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 9,550.22 ล้านบาท โดยรายได้จากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น 2.09% และมีการตั้งสำรองที่ 19,457 ล้านบาท ลดลง 39%จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ตั้งสำรอง 32,064 ล้านบาท
.
ส่วนอีก 2 บริษัทฯ ที่โตโดดเด่น คือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มีกำไรสุทธิ 14,523 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 123.5% จากไตรมาสที่ 2/63 ที่มีกำไรสุทธิที่ 6,508 ล้านบาท สาเหตุหนึ่งมาจากการบันทึกกำไรจากเงินลงทุนจากการขายหุ้นใน ‘เงินติดล้อ’ (TIDLOR) ช่วงไตรมาส 2/64
.
ตามด้วย ธนาคารกรุงเทพ (BBL) มีกำไร 6,357 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 105.4% (1 เท่าตัว) จากงวดเดียวกันปี 63 ที่มีกำไร 3,095 ล้านบาท
.
แต่เดี๋ยวก่อน! หากใครมองว่าธนาคารเริ่มฟื้นตัวแล้ว ต้องบอกเลยว่า คิดผิด!! เพราะจากข้อมูลแล้วสามารถประเมินแนวโน้มไตรมาส 3 ของปี 2564 นี้ และตอบได้คำเดียวว่า “ไม่สวยแน่ๆ”
.
เพราะเป็นไตรมาสที่จะได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปลายไตรมาส 2 มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งยังไม่มีทิศทางว่าจะสามารถควบคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อได้เลย (ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน!) และมีการใช้มาตรการควบคุมที่เข้มข้น (ปิดร้านอาหาร และร้านสะดวกซื้อเปิดได้ถึง 2 ทุ่ม ในพื้นที่โซนแดง) จึงมีบริษัทฯ ได้รับผลกระทบอีกจำนวนมาก
.
นอกจากนี้ ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยแตะ 90% ของ GDP เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4 ปี 2563 ที่ 89.4% สูงเป็นประวัติการณ์ และหากลูกค้าธนาคารไม่มีเงินมาจ่ายหนี้จะเกิดเป็น “หนี้เสีย” (NPL) (ทั้งหนี้บ้าน หนี้รถ หนี้บัตรเครดิต) แน่นอนว่าไม่ส่งผลดีต่อธนาคารในสถานะเจ้าหนี้ แถมแนวโน้มยังมีทิศทางขาขึ้นสะท้อนไม่แน่นอนของเศรษฐกิจจากผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 ทำให้เชื่อว่าช่วงที่เหลือของปีอาจจะมีลูกค้าผิดนัดชำระหนี้อีกจำนวนมาก
.
เศรษฐกิจไทยมีการลงทุนที่ต่ำลง ทำให้ความต้องการระดมทุนหรือไฟแนนซ์จากธนาคารน้อยลง บริษัทในไทยไปลงทุนนอกประเทศมากขึ้น แม้กระทั่งคนธรรมดายังเลือกที่จะไปลงทุนต่างประเทศ ก็ทำให้ความต้องการสินเชื่อธนาคารลดน้อยลง
.
และอีกผลกระทบของกลุ่มธนาคารยังมาจากมาตรการภาครัฐที่ให้สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงการปล่อยสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ลูกค้า ซึ่งธนาคารต้องติดตามดูแลคุณภาพหนี้สินอย่างรัดกุมขึ้นไปอีก ต้องตั้งสำรองหนี้เสียเพิ่ม รับมือกับหนี้เสียในระบบที่จะเพิ่มขึ้นแน่นอน
.
อีกทั้งยังมีความท้าทายเรื่องอัตราส่วนเงินกองทุนรวมสำรองต่อสินทรัพย์ความเสี่ยงสูง (Basel III) ที่แต่ละธนาคารตั้งไว้จะสูงพอสำหรับภาวะโควิด-19 หรือไม่? เพราะก่อนหน้านี้เกณฑ์มาตรฐานนี้ยังไม่ได้ประเมินกรณีเลวร้ายอย่างการระบาดระลอก 3 ทำให้เงินสำรองอาจไม่เพียงพอ กลุ่มธนาคารจึงจะต้องเจอศึกหนักไปจนกว่าสถานะการณ์จะคลี่คลายลง
.
ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHC
.
ที่มา: set
#ธนาคาร #BANK #การเงิน #ตลาดหลักทรัพย์ #หุ้น