ต่างชาติทิ้งไทยจริงไหม? ไขข้อข้องใจทำไมบริษัทฯ ในไทยถูกขาย!! พร้อมเปิด 5 เหตุผลกดตลาดหุ้นไทย “วนอยู่ในอ่าง”

หลายคนคงได้อ่านบทวิเคราะห์ KKP Research โดย ‘เกียรตินาคินภัทร’ กันไปเมื่อไม่กี่วันก่อน จากบทความ “เมื่อโลกเริ่มไม่สนใจไทยอีกต่อไป” ซึ่งมีอยู่หลายมิติ ที่ทำให้หลายคนเริ่มเห็นภาพชัดว่าประเทศไทยได้รับความสนใจจากต่างชาติน้อยลง
.
หนึ่งในนั้นมีการพูดถึงการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน เช่น ตลาดหุ้น ที่มองว่า ต่างชาติมีสัญญาณขายสุทธอต่อเนื่อง และนักลงทุนในไทยก็เริ่มออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยปี 2564 ในไตรมาส 1 นักลงทุนไทยออกไปลงทุนในต่างชาติแล้วกว่า 3 แสนล้านบาท
.
แถม คุณไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ให้ข้อมูลสนับสนุน ว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ต่างชาติทยอยขายหุ้นไทยมาตลอด ถ้าดูจากสถิติย้อนหลังตั้งแต่ปี 2554 จะพบว่าต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิไปแล้วกว่า 900,000 ล้านบาท และขายต่อเนื่องทุกปี ยกเว้นในปี 2555 และปี 2559
.
ทีนี้มาดูกันที่ข้อมูลล่าสุดเรา จะเห็นเลยว่า แต่ต้นปีจนถึงตอนนี้ (22 กรกฏาคม 2564) ต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย (SET) ไปแล้วกว่า 88,210 ล้านบาท และช่วงเวลาเดียวกันในปี 2563 ก็ขายทิ้งหุ้นไทยไปแล้ว 219,679 ล้านบาท ส่วนกลุ่มที่ซื้อหุ้นไทยเป็นนักลงทุนรายย่อยในประเทศ ซื้อสุทธิไป 125,982 ล้านบาท (เม่าไทยใจกล้าสุดๆ)

#อะไรที่ทำให้หุ้นไทยถูกทิ้ง
สิ่งที่ยังทำให้หลายคนข้องใจ ว่า อะไรที่จะทำให้ต่างชาติหมดความสนใจในหุ้นไทย? โดย ‘เรา’ จะอาศัยข้อมูลจากสถิติมาสรุป และสามารถระบุได้ทั้งหมด 5 ข้อด้วยกัน
.
1. อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยขยายตัวแบบถดถอย
.
#ความเห็น
อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยลดลงต่อเนื่อง ในปี 2561 ขยายตัว 4.2% ปี 2562 ขยายตัว 2.3% และปี 2563 ปรับตัวลดลง 6.1% หลังจากเจอวิกฤตโควิด-19 และประเทศไทยขาดความน่าสนใจจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่มีมาโดยตลอด หนำซ้ำไทยยังเจอกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุ กระทบต่อปริมาณแรงงานที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ต่างชาติมองเห็นว่าการเติบโตของไทยต่อจากนี้จะ “ถอยหลังลงคลอง” ไปทุกที และแน่นอนว่า ตลาดหุ้นที่ล้อไปกับเศรษฐกิจในประเทศก็น่าจะเจอเหตุการณ์เดียวกัน
.
2. ตลาดหุ้นวนอยู่ในอ่าง
‘KKP research’ ระบุว่า เมื่อย้อนดูแนวโน้มการเติบโตของตลาดหุ้นไทย อิงจากดัชนี MSCI Thailand Index เทียบกับประเทศอื่นๆ พบว่า ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นไทยแทบจะไม่เติบโต ยังคงอยู่ในระดับเดิมกับปี 2556 ขณะที่ดัชนี MSCI ของสหรัฐเติบโตกว่า 100% และดัชนีของภูมิภาคเอเชียโดยรวมโตกว่า 50%
.
#ความเห็น
จากข้อมูลสถิติการปรับตัวของตลาดหุ้นไทย ยังคงไปไหนไม่ได้ไกลเทียบกับต้นปี 2562 ดัชนีอยู่ที่ระดับ 1,565.94 จุด (ล่าสุด 22 กรกฏาคม อยู่ที่ระดับ 1,552.36 จุด) ถึงแม้ตั้งแต่ต้นปี 2563 มูลค่าซื้อขายรายวันจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นวันละ 1 แสนล้านบาท ทำให้ตลาดดูคึกคัก แต่ภาพรวมตลาดหุ้นไทยยัง Side Way ออกด้านข้าง (ไม่ไปไหนไกล) ทำให้ผลตอบแทนยังไม่ดึงดูด เมื่อเทียบกับตลาดอื่นที่เป็นขาขึ้นมาต่อเนื่องอย่าง เช่น เวียดนาม
.
3. การมีบริษัทฯ ที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย C (Caution) เพิ่มขึ้น โดยเรื่องหมาย C เป็นเครื่องหมายที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยหุ้นที่ถูกขึ้นเครื่องหมายดังกล่าวจะมีส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่า 50% ของทุนชำระแล้ว
.
#ความเห็น
การขึ้นเครื่องหมาย C นั้นเป็นการเตือนนักลงทุนกรณีบริษัทจดทะเบียนมีเหตุการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อฐานะการเงินและการดำเนินธุรกิจ และส่วนของผู้ถือหุ้น หรือส่วนทุนของบริษัทฯ ที่ต่ำกว่าทุนชำระแล้ว แสดงให้เห็นว่าบริษัทฯ เริ่มขาดสภาพคล่อง การที่มีบริษัทฯ ถูกขึ้นเครื่องหมาย C มากขึ้นจะทำให้ภาพลักษณ์ของตลาดหุ้นแย่ลง และไม่น่าสนใจในสายตานักลงทุนต่างชาติ ซึ่งปี 2563-2564 มีบริษัทฯ ถูกขึ้นเครื่องหมาย C เพิ่มสูงขึ้นจำนวนมากจากสถานะการณ์โควิด-19
.
4. กิจกรรม Corporate Action และการใช้สิทธิ์ต่างๆ รวมไปถึงการจ่ายเงินปันผลของบริษัท
.
#ความเห็น
หากบริษัทฯ มีการเปลี่ยนแปลงอัตราการจ่ายเงินปันผล หรือสิทธิ์พิเศษต่างๆ หากเป็นไปในทิศทางที่แย่กว่าเดิมจะทำให้ต่างชาติหมดความสนใจที่จะลงทุน เช่น หุ้นที่มีอัตราการจ่ายเงินปันผลสูงๆ วันนึงประกาศไม่จ่ายปันผลเสียอย่างนั้น ต่างชาติอาจจะเริ่มโยกเงินไปยังหุ้นอื่น หรือตลาดอื่นแทน และเจ้าโควิด-19 นี่แหละที่ทำให้กำไรสุทธิบริษัทฯ ลดลงจนไม่สามารถจ่ายปันผลได้
.
5. นโยบายของบริษัทจดทะเบียนในการเปลี่ยนนักลงทุนกลยุทธ์
.
#ความเห็น
การปรับเปลี่ยนนโยบายของบริษัท เช่น โครงสร้างรายได้ หรือการเข้าลงทุนต่างๆ ที่แตกต่างไปจากเดิม อาจเป็นตัวกดดันให้ต่างชาติขายทิ้งหุ้นออกมา เพราะมองว่านโยบายใหม่ไม่สอดคล้องกับที่นักลงทุนตั้งความหวังเอาไว้
.
ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา (1 มกราคม-22 กรกฏาคม 2564) มีบริษัทฯ เปลี่ยนกลุ่มธุรกิจมากถึง 13 บริษัทด้วยกัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 จำนวน 10 บริษัทฯ และปี 2562 จำนวน 9 บริษัท
.
#บริษัทฯ ไหนต่างชาติถือสูงสุด?
สามารถวัดได้จากการถือครองหุ้นของ NVDR แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น จะอธิบายให้ฟังก่อนว่า NVDR คืออะไร?
.
NVDR คือ ใบแสดงสิทธิผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย ที่ทำให้นักลงทุนมีสิทธิได้รับผลประโยชน์จากหุ้นตัวเหมือนกับการซื้อหุ้นในกระดานปกติ (พวกเงินปันผล, กำไรจากส่วนต่างราคา และการซื้อหุ้นเพิ่มทุน) แต่ว่าผู้ถือครอง NVDR จะไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนใดๆ ในการประชุมผู้ถือหุ้น (ต่างกับการถือหุ้นทั่วไป)
.
#แล้ว NVDR มีไว้ทำอะไร?
NVDR ถูกสร้างมาเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนต่างชาติ เพราะปกติแล้วชาวต่างชาติซื้อขายบนกระดานทั่วไปจะไม่มีสิทธิได้รับเงินปันผล ดังนั้นจึงมีทางเลือกให้ซื้อขายผ่านกระดานต่างประเทศ (Foreign) หรือใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย (NVDR) แทน
.
แต่การลงทุนของคนต่างชาติก็มีเงื่อนไข เช่น นักลงทุนต่างชาติจะถือครองหุ้นทั่วไปได้ไม่เกิน 49% ส่วนหุ้นในกลุ่มธนาคารและสถาบันการเงิน ถือได้ไม่เกิน 25% และคนเพียงคนเดียวจะถือ NVDR ได้ไม่เกิน 25%
.
แต่ถึงแม้ NVDR จะมีไว้เพื่อส่งเสริมการลงทุนของคนต่างชาติ แต่คนไทยก็สามารถซื้อ NVDR ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น NVDR ไม่ได้สะท้อนการขายของนักลงทุนต่างชาติทั้งหมด (มีคนไทยปะปนอยู่ด้วย) แต่สามารถวัดปริมาณการขายหุ้นในรายตัวได้ส่วนหนึ่ง
.
ย้อนกลับมาที่คำถามว่า “หุ้นไหนที่ถูกถือครองโดย NVDR สูง
.
สำหรับข้อมูลการถือหุ้น ณ วันที่ 21 กรกฏาคม 2564 บริษัทฯ ที่มีสัดส่วนการถือครองของ NVDR มากที่สุด 5 อันดับแรก เรียงลำดับจากมากไปน้อย (เฉพาะบริษัทฯที่มีการซื้อขายสม่ำเสมอ) ดังนี้
.
1. บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) สัดส่วนถือครอง NVDR ร้อยละ 22.97 ถือหุ้นเป็นอันดับ 1
.
2. บมจ.เนชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเทนเมนท์ (NINE) สัดส่วนถือครอง NVDR ร้อยละ 21.25 ถือหุ้นเป็นอันดับ 2 รองจาก Silom Road Limited
.
3. บมจ.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) สัดส่วนถือครอง NVDR ร้อยละ 19.98 ถือหุ้นเป็นอันดับ 1
.
4. บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) (AP) สัดส่วนถือครอง NVDR ร้อยละ 16.46 ถือหุ้นเป็นอันดับ 2 รองจาก คุณอนุพงษ์ อัศวโภคิน
.
5. บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LH) สัดส่วนถือครอง NVDR ร้อยละ 16.27 ถือหุ้นเป็นอันดับ 2 รองจาก คุณอนันต์ อัศวโภคิน
.
แต่ใช่ว่าทุกบริษัทฯ ที่ NVDR ถือครองจะถูกขายทิ้งทั้งหมด เพราะเราจะต้องดูกลุ่มอุตสาหกรรม และความสามารถในการทำกำไรของบริษัทฯ ร่วมไปกับสภาพคล่อง เพราะถึงแม้ภาพรวมตลาดหุ้นจะยังไม่ดีในสายตานักลงทุน แต่หากเป็นบริษัทฯ ที่โอกาสเติบโตสูงบนเมกะเทรนต์
.
และไม่พึ่งพารายได้อย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป ก็อาจจะยังเป็นหุ้นน่าสนใจในสายตาต่างชาติได้เช่นกัน
.
ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHC
.
ที่มา: setsmart
#BusinessPlus #NVDR #ทิ้งหุ้นไทย #ตลาดหลักทรัพย์ #หุ้น