ธอส. กับภาร กิจเคียงข้าง คีนไทยฝ่่าวิกฤต

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ถือเป็นธนาคารบ้านที่อยู่เคียงข้างคนไทย ให้ความช่วยเหลือ และคำปรึกษา ปล่อยสินเชื่อให้ได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองมายาวนานกว่า 68 ปี ได้ช่วยเหลือลูกค้าให้มีที่อยู่อาศัยแล้วกว่า 4 ล้านครอบครัว และเมื่อวิกฤต COVID-19 เกิดขึ้นในปี 2563 ธอส.ได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าให้มีความสามารถในการผ่อนชำระเงินงวดมาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันธนาคารมีมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19 มาแล้ว ถึง 20 มาตรการ ภายใต้ “โครงการ ธอส. ช่วยคนไทย ร่วมสร้างชาติ” และ “โครงการ ธอส. รวมไทย สร้างชาติ” โดย ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 มีลูกค้าได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการของธนาคารรวมสูงสุดถึง 972,978 บัญชี เงินต้นคงเหลือ 846,911 ล้านบาท ซึ่งหลังจากเข้ามาตรการช่วยเหลือ ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่สามารถปรับตัว และกลับมาผ่อนชำระได้ตามปกติ

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่ามาตรการช่วยเหลือของ ธอส. ที่ออกมา จะช่วยทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่สามารถปรับตัวและกลับมาผ่อนชำระเงินงวดได้ตามปกติ โดยยังคงมีลูกค้าที่ยังอยู่ระหว่างการได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการ รวมจำนวน 109,094 บัญชี เงินต้นคงเหลือ 113,281 ล้านบาท

ดังนั้นเพื่อเป็นการให้ความช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มนี้ ให้สามารถผ่อนชำระได้อย่างต่อเนื่อง ทางคณะกรรมการ ธอส. เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 จึงได้มีมติให้จัดทำ “มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน” เพื่อขยายความช่วยเหลือให้กับลูกค้าเดิม ที่ยังอยู่ระหว่างการใช้มาตรการความช่วยเหลือของ ธอส. จำนวน 9 มาตรการ ประกอบด้วย M2, M9, M10, M11, M12, M13, M14, M15 และ M16 ที่ความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ยังไม่กลับมาเป็นปกติได้ตามสัญญา ให้ได้รับความช่วยเหลือต่อไปอีก 6 เดือน จากเดิมที่จะสิ้นสุดมาตรการความช่วยเหลือวันที่ 31 ธันวาคม 2564

ซึ่งมาตรการที่ออกมานั้น เป็นการดำเนินการตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับแนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย (มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน) โดยลูกค้ากลุ่มดังกล่าวจะได้รับความช่วยเหลือในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ดังนี้

มาตรการที่ 18 สำหรับลูกค้ารายย่อยที่มีสถานะบัญชีปกติรองรับลูกค้าเดิมใน M2, M9, M11, M13 และ M15 เลือกแบ่งจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ (ตัดเงินต้น ตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระปกติ และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ใช้อยู่ลงอีก 0.25-0.50% ต่อปี ระยะเวลาความช่วยเหลือตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2565

มาตรการที่ 19 สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการสินเชื่อแฟลตรองรับลูกค้าเดิมใน M12 เลือกแบ่งจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ (ตัดเงินต้น ตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 70% ของเงินงวดผ่อนชำระปกติ และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ใช้อยู่ลงอีก 0.25% ต่อปี ระยะเวลาความช่วยเหลือตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2565

มาตรการที่ 17 สำหรับลูกค้ารายย่อยสถานะ NPL และลูกค้ารายย่อย NPL ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้และไม่ได้อยู่ในมาตรการ หรือรองรับลูกค้าเดิมใน M10, M14 และ M16 จะได้ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0% ต่อปี ในเดือนที่ 1-3 เดือนที่ 4-6 เท่ากับ 1.99% ต่อปี และเดือนที่ 7-12 เท่ากับ 3.90% ต่อปี ระยะเวลาความช่วยเหลือสูงสุดนาน 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมมาตรการที่ 18 สามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการผ่าน Application : GHB ALL หรือ GHB Buddy บน Application Line หรือ www.ghbank.co.th หรือ สาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2564 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 25 มกราคม 2565 ขณะที่มาตรการที่ 19 สามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการได้ที่สำนักงานใหญ่และสาขาทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2564 จนถึงวันที่ 25 มกราคม 2565 และมาตรการที่ 17 สามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการผ่าน Application : GHB ALL หรือ GHB Buddy บน Application Line หรือ www.ghbank.co.th ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565

ทั้งนี้ ลูกค้าตามมาตรการข้างต้นที่ต้องการขยายระยะเวลาความช่วยเหลือจะต้อง Upload แสดงหลักฐานยืนยันว่าได้รับผลกระทบทางรายได้ให้ธนาคารพิจารณาผ่าน Application : GHB ALL หรือ GHB Buddy บน Application Line ส่วนกรณีที่ลูกค้าไม่มีสมาร์ทโฟนสามารถกรอกข้อมูลเพื่อแจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือตามมาตรการได้ที่ www.ghbank.co.th สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือติดตามข้อมูลข่าวสารของธนาคารได้ที่ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000 หรือ www.ghbank.co.th, Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ Application : GHB ALL

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ธอส #ตลาดบ้าน #ธนาคารอาคารสงเคราะห์