“ตัวฉุดเยอะ แต่ตัวช่วยน้อย” ภาพการลงทุนปี 62 น่าห่วง

ในปี 2562 ภาพใหญ่ของเศรษฐกิจโลกค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะมี “ตัวฉุดเยอะ แต่ตัวช่วยน้อย” โดยตัวฉุดหลักมาจาก 1. สงครามการค้า หากสหรัฐฯ และจีนไม่สามารถหาข้อตกลงกันได้ จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกให้ชะลอตัวลงอย่างชัดเจนและกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างเต็มที่ในปี 2562

จากปีนี้ที่ตัวเลขการส่งออกของทั่วโลกน่าจะเติบโตได้ในระดับที่ค่อนข้างดี เพราะผู้ประกอบการเร่งส่งออกสินค้าก่อนที่ผลของการประกาศขึ้นภาษีจะมีผลบังคับใช้ 2. แรงส่งจากการปรับลดภาษีและเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐบาลสหรัฐฯ คาดว่าจะแผ่วลงในช่วงปลายปีหน้า และจะเป็นปัจจัยฉุดเศรษฐกิจต่อเนื่องไปถึงปี 2563 และ 3. แรงกดดันจากการขึ้นภาษีการบริโภคของญี่ปุ่นในเดือนตุลาคม 2561 อาจทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของโลกหดตัว

ขณะที่ตัวช่วยมีน้อยลง จากภาครัฐและธนาคารกลางมีเครื่องมือจำกัดที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในกรณีที่เศรษฐกิจชะลอลงแรง หากพิจารณาจากนโยบายการเงิน เช่น นโยบาย QE และนโยบายดอกเบี้ยที่กำลังถูกถอนออกเรื่อย ๆ

เนื่องจากเงินเฟ้อเริ่มฟื้นตัว ทำให้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเดินหน้าลดงบดุลและขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะหยุด QE ภายในสิ้นปีนี้ และเริ่มขึ้นดอกเบี้ยในไตรมาส 3 ปีหน้า ทำให้นโยบายการเงินเริ่มตึงตัวขึ้น และสภาพคล่องที่ล้นโลกเริ่มถูกทยอยดึงออกทีละน้อย

ด้านนโยบายการคลัง ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ถือเป็นประเทศใหญ่ประเทศเดียวที่ยังพอมีกระสุนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่สหรัฐฯ กลับนำกระสุนมาใช้อย่างพร่ำเพรื่อ โดยได้ประกาศลดภาษีทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาลงในปีที่แล้ว รวมทั้งผ่านร่างงบประมาณเพิ่มการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ จึงทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวได้อย่างร้อนแรงในปีนี้

แต่ปกติการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะนี้มักจะทำในช่วงเศรษฐกิจขาลงเท่านั้น ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบันนั้นตรงกันข้าม โดยอัตราการว่างงานสหรัฐฯ ต่ำกว่า 4% ซึ่งต่ำสุดในรอบ 50 ปี การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวดีมาก ดังนั้น การดำเนินนโยบายดังกล่าวจึงกลายเป็นการสร้างภาระหนี้ภาครัฐโดยไม่จำเป็นและยังเป็นข้อจำกัดในการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต

ส่วนญี่ปุ่นและยุโรป การใช้นโยบายการคลัง เช่น การลดภาษีหรือเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐค่อนข้างมีข้อจำกัด เนื่องจากรัฐบาลมีภาระหนี้สูงอยู่แล้ว ขณะที่จีนก็ประสบปัญหาเรื่องภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงเช่นกัน ทำให้เครื่องมือเดิม ๆ เช่น การปล่อยกู้และการลงทุนไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป จีนจึงต้องหันไปใช้เครื่องมืออื่น เช่น การลดภาษี และการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่เห็นผลช้ากว่า และรัฐบาลก็ลังเลที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ เนื่องจากกลัวปัญหาหนี้ที่จะตามมาในระยะยาว

หากย้อนกลับมาดูภาพเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกที่เคยเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มอ่อนกำลังลงในปีหน้า โดยการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ ประเมินว่า เป็นผลจากค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลงแรงในปีนี้ (เงินหยวนอ่อนค่าลงประมาณ 11% นับจากเดือนเมษายน) ดังนั้นถ้าในปีหน้าค่าเงินหยวนไม่ฟื้นตัว โอกาสที่จะเห็นนักท่องเที่ยวจีนกลับมาโตได้ดีคงเป็นไปได้ยาก

นอกจากนี้ กรณีที่จีนยกเลิกการห้ามขายแพ็กเกจทัวร์ไปเกาหลีเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ในไตรมาส 2 มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางไปเกาหลีเติบโตสูงถึง 50% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ดังนั้น เกาหลีจึงน่าจะเป็นคู่แข่งที่สำคัญและทำให้การท่องเที่ยวของไทยได้รับผลกระทบพอสมควร

ส่วนการส่งออกในปี 2562 น่าจะชะลอตัวลงจากปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโตได้ดีประมาณ 8% โดย 3% จาก 8% มาจากการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมัน ซึ่งถ้าราคาน้ำมัน (Brent) ยังทรงตัวอยู่ที่ 70-80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในปีหน้าการส่งออกสินค้าเหล่านี้น่าจะไม่เติบโต ส่วนอีก 2% มาจากการส่งออกรถยนต์ที่ในปีหน้าจะได้รับผลกระทบจากยอดขายรถยนต์ในออสเตรเลีย ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของไทย ติดลบติดต่อกันต่อเนื่องมาหลายเดือน จึงน่าจะทำให้การส่งออกรถยนต์ในปีหน้าไม่ค่อยสดใสนัก ส่วนที่เหลือจากการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าค่อนข้างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ภาพของเศรษฐกิจที่ดูชะลอลง ประกอบกับข้อจำกัดในการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ น่าจะทำให้ปี 2562เป็นปีที่ตลาดผันผวนไม่น้อยไปกว่าปีนี้ และการลงทุนยังคงต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง

 คมศร ประกอบผล หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้