ดีแทค ผนึกพันธมิตร เดินหน้าทดสอบ Use Case หวังขับเคลื่อน 5G ไทยสู่ความยั่งยืน

ดีแทค ร่วมกับ CAT และทีโอที ลุยเปิดสนามทดสอบเทคโนโลยี 5G ทั้งในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพื้นที่ EEC ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศรีราชา เพื่อทดสอบการใช้งานจริง (Use Case)

โดยการทดสอบครั้งนี้ ดีแทคได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์จากอีริคสัน หัวเว่ย และโนเกีย พร้อมแนะรัฐเร่งจัดทำแผนคลื่นความถี่ทั้งย่านสูงกลางต่ำ ให้ชัดเจน ควบคู่กับแผนปรับปรุงคลื่นความถี่ (Spectrum Refarming) เพื่อขับเคลื่อน 5G ไทยให้เกิดความยั่งยืน

แม้ปัจจุบันเทคโนโลยี 5G จะยังไม่เปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์ แต่ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือก็เดินหน้าทดสอบเทคโนโลยีกันอย่างคึกคัก เพราะต้องยอมรับว่า การมาถึงของ 5G นั้นไม่ใช่แค่เรื่องความเร็วที่จะช่วยให้สมาร์โฟนดูหนังฟังเพลงได้รวดเร็วขึ้นกว่าในยุคที่ผ่านมา แต่ 5G เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะเข้ามาช่วยต่อยอดอุตสาหกรรมต่าง ๆ สู่ยุคดิจิทัลได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งจะทำให้เกิดบริการรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนมากมาย

ดังนั้น หัวใจของการพัฒนา 5G วันนี้ จึงอยู่ที่ การทดสอบทดลองใช้งานจริง เพื่อให้ภาคธุรกิจได้รู้จักและเห็นบริการจาก 5G ว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง เพราะสิ่งนี้จะช่วยให้ธุรกิจเกิดความเข้าใจและนำไปสู่การใช้งานแพร่หลายตามมา

บริการ 5G จะเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน ภาครัฐต้องตระหนักถึงภาระหน้าที่ในการส่งเสริมให้อุตสาหกรรรมต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมทดสอบทดลอง ไม่ว่าจะเป็น IoT (Internet of Things), ปัญญาประดิษฐ์ (AI), หุ่นยนต์ (Robotic) และระบบคลาวด์ ผสานกับ 5G ให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรม เพื่อนำไปสู่การสร้างการใช้งานจริงในอนาคต” วรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) บอกถึงความสำคัญของการทดสอบ 5G ซึ่งในปัจจุบัน ทางกระทรวงฯ ได้ร่วมกับ กสทช. จัดทำแผนการทดสอบนำ 5G มาประยุกต์ใช้งานในด้านต่าง ๆ ร่วมกัน

เช่นเดียวกับ อเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค มองว่า การผลักดัน 5G ให้เกิดการใช้งานจริงในอุตสาหกรรมเป็นสิ่งสำคัญ แต่จะเกิดขึ้นได้ ต้องเริ่มจากการสร้างความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และอุตสาหกรรมร่วมกัน จึงเป็นที่มาของการร่วมกับ CAT และทีโอที เดินหน้าทดสอบรูปแบบการใช้งาน 5G ร่วมกัน

โดยทีโอทีได้ร่วมทดสอบโดยการนำโครงการเสาอัจฉริยะ หรือสมาร์โพล (Smart Pole) ซึ่งเป็นเสาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลยุค 5G ที่ออกแบบให้ใช้งานโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน (Infrastructure sharing) เสาอัจฉริยะ Smart Pole นี้จะถูกนำไปทดสอบ 5G Testbed ในพื้นที่ตามที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน กสทช. มาร่วมทดสอบ 5G ส่วนความร่วมมือกับ CAT จะร่วมกันทั้งการใช้โครงสร้างพื้นฐาน ฐานข้อมูลความรู้ และประสบการณ์ร่วมกัน สำหรับการทดสอบ โครงการ “PM 2.5 Sensor for All” วัดค่าคุณภาพอากาศ

ขณะที่ดีแทคจะนำ 5G มาเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการบริหารจัดการแปลงเกษตร โดยใช้อากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน มาทำการฉีดพ่นปุ๋ยและสารอาหารที่จำเป็นให้กับพืชในแปลงปลูกขนาด 50 ไร่ขึ้นไป เพื่อให้เกษตรกรสามารถระบุตำแหน่งฉีดพ่นปุ๋ยได้ตรงความต้องการแม้จะอยู่ในพื้นที่มีสิ่งกีดขวางหรือถูกปกคลุมหนาแน่น

นอกจากการร่วมมือทดลองการใช้งาน 5G แล้ว ดีแทคยังเชื่อด้วยว่า “คลื่นความถี่” เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนา 5G สู่ความยั่งยืน เพราะการให้บริการ ต้องมีคลื่นที่เพียงพอ ดังนั้น ภาครัฐจึงควรจัดทำแผนจัดสรรคลื่นความถี่ที่ชัดเจน และกำหนดมูลค่าคลื่นความถี่ให้เหมาะสม ควบคู่กับการสนับสนุนให้เกิดการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน (Infrastructure Sharing)