ซิตี้ ใหม่ ภารกิจป้องกันแชมป์

สิ่งต่างๆ ที่เพิ่มเข้ามาอย่างมีคุณค่า ทำให้รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างมากในซิตี้ โฉมใหม่ 

เส้นทางคดโค้งในจ.เชียงราย ถูกจัดวางให้เป็นบททดสอบฮอนด้า ซิตี้ ใหม่ เพื่อพิสูจน์ถึงการเปลี่ยนแปลงทั้งเชิงโครงสร้างที่ทีมวิศวกรฮอนด้าบอกว่า มีการลงพื้นที่เพื่อสำรวจความต้องการลูกค้า ก่อนนำมาขีด-เขียน เป็นภาพสเก็ต และเป็นรูปโฉมจริงอย่างที่เห็น

ซิตี้ โฉมใหม่ เป็นเจเนอเรชันที่ 4 ภายใต้แนวคิด Advanced Cool Stunner เพื่อตอบสนองต่อประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของผู้ขับ โดยมี Exciting H Design ซึ่ง H ในที่นี้หมายถึง ต้องการให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารเป็นศูนย์กลาง (Human Center) ผ่านแนวคิด Man-Maximum Machine-Minimum มาเป็นแกนหลักในการพัฒนา ซึ่งสะท้อนถึง 3 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่

High Tech แสดงถึงนวัตกรรมอันล้ำสมัย แต่สามารถใช้งานได้ง่าย, High Tension โครงสร้างที่แสดงถึงพลังแห่งการขับเคลื่อนและ High Touch สนองตอบทุกการสัมผัสของการออกแบบ

Blue_Front & Rear_CMYK

ภายในถูกพัฒนาขึ้นตามแนวคิด Layered Floating Cockpit แสดงถึงภาพลักษณ์ที่ดูล้ำสมัยและมีกลิ่นอายความสปอร์ต โดยมีการเลือกใช้วัสดุที่เปี่ยมคุณภาพ ทั้งยังให้ความสะดวกสบายในการใช้งาน ซึ่งหลายๆ จุดทั้งในส่วนด้านหน้าและด้านหลัง มีการเพิ่มอุปกรณ์เพื่อให้ทุกการเดินทางเป็นไปอย่างมีความสุข

IMG_1450

ดีไซน์ใหม่ ทำให้เหลือพื้นที่มากพอสมควร ขณะที่การเพิ่มฟังก์ชันใช้งานเป็นไปอย่างมีคุณค่า อาทิ ระบบเครื่องเสียงหน้าจอสัมผัสขนาด 7 นิ้ว แบบ Advanced Touch (เฉพาะรุ่น V+, SV และ SV+) รองรับการเชื่อมต่อโทรศัพท์แบบไร้สาย ทั้งยังรองรับการเชื่อมต่อภาพและเสียงผ่าน HDMI รองรับระบบสั่งการด้วยเสียง Siri Eye Free Mode (สำหรับ iPhone 4s ขึ้นไป) รองรับการเชื่อมต่อ HondaLink Application (เฉพาะ Smart Phone บางรุ่น)

แสดงถึงความมุ่งมั่นพัฒนาสินค้าให้ดีเลิศขึ้นไปอีก สมกับสโลแกนที่ว่า จะไม่หยุดแค่คำว่าที่สุด (Be Your B-E-S-T)

ส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าซิตี้ โฉมใหม่ ให้ความสำคัญกับแนวคิดในการออกแบบ ทั้งภายนอกและภายใน เพื่อลบจุดด้อยในอดีตที่อยู่ระหว่างกึ่งกลาง จะสวยก็ไม่สวยสุดซอย จะหล่อก็ไม่หล่อเข้มจับใจ

IMG_1541

แต่ครั้งนี้ การออกแบบด้านข้าง เน้นการใช้เส้นสายด้านข้างที่ลึกและคมชัด ส่วนด้านหลังเน้นลายเส้นที่ต่อเนื่อง เชื่อมต่อไปยังไฟคู่ท้ายด้วยคิ้วฝากระโปรง ทำให้ดูหรูหราและส่งผลให้รถดูกว้างขึ้น

ส่วนภายใน จุดสำคัญอยู่ที่การเลือกใช้วัสดุเกรดที่ดีขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ และเมื่อบวกกับความใส่ใจในรายละเอียดมากขึ้น ผมมองว่าเป็นผลดีไม่เฉพาะกับแบรนด์ แต่ยังส่งผลดีถึงตัวสินค้า ที่สามารถบอกปากต่อปากได้

ฮอนด้า ซิตี้ ใหม่มีให้เลือก 6 รุ่น มีสีให้เลือก 7 สี กับราคาเริ่มต้นในรุ่นเกียร์ธรรมดา 550,000 บาท จนถึงรุ่นทอป SV+ (เพิ่มเติมอุปกรณ์ความปลอดภัยระดับพรีเมียม อาทิ ถุงลมด้านข้างคู่หน้าแบบอัจฉริยะ และม่านถุงลมด้านข้าง) ที่ 749,000 บาท ซึ่งแพงกว่าโฉมที่แล้วนิดหน่อย แต่สำหรับใครที่คิดจะซื้อรุ่นทอป ผมว่ามันค่อนข้างคุ้มราคากับฟังก์ชันที่จัดเต็มมากๆ

Console

ภายนอกโดดเด่น ภายในใส่อุปกรณ์มาเต็มที่ ทั้งด้านความบันเทิง ความสะดวกสบาย และความปลอดภัย ซึ่งมีมาครบทั้งระบบป้องกันล้อล็อก (ABS) ระบบควบคุมการทรงตัว VSA ระบบช่วยการออกตัวขณะอยู่บนทางลาดชัน (HSA) และสัญญาณไฟฉุกเฉินอัตโนมัติขณะเบรกกะทันหัน (ESS) ในทุกรุ่น

พร้อมเทคโนโลยีความปลอดภัยล้ำสมัยของรถระดับพรีเมียม อาทิ ถุงลม 6 ตำแหน่ง ได้แก่ ถุงลมคู่หน้า Dual SRS ถุงลมข้างคู่หน้าแบบอัจฉริยะ i-Side Airbag และม่านถุงลมด้านข้าง Side Curtain Airbags กล้องส่องภาพด้านหลังปรับมุมมองได้ 3 ระดับ และอีกหลากหลายเทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยสูงสุด

เมื่อเปรียบเทียบกับรุ่นเดิม อย่างที่บอกว่า ค่อนข้างประหลาดใจด้วยซ้ำกับฟังก์ชันต่างๆ ที่มีการแก้ไขหลายจุดให้เป็นจุดต่าง ทั้งเรื่องอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงการนำเกียร์ CVT กลับมาใส่ในซิตี้รุ่นใหม่นี้ โดยวิศวกรฮอนด้า กล้าเคลมว่า อายุการใช้งานของเกียร์ลูกใหม่ ทนทานและสามารถวิ่งได้ไกลถึง300,000 กิโลเมตร

IMG_1527
แม้เครื่องยนต์ยังคงเป็นบล็อกเดิม เบนซิน 4 สูบ SOHC 16 วาล์ว i-VTEC ความจุ 1,497 ซีซี กำลังสูงสุด 117 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 14.87 กก.-ม. ที่ 4,700 รอบต่อนาที รองรับเชื้อเพลิง E85 ที่เปลี่ยนการเคลือบลูกสูบเพื่อลดความฝืด จากเดิมแนวตรงเป็นแบบซิกแซ็ก ซึ่งรุ่นที่ทดสอบคือ รุ่นทอป ยางขนาด 16 นิ้ว

เมื่อบวกกับการตอบสนองของเครื่องยนต์ แม้ช่วงออกตัวอาจจะดูเหมือนไม่ร้อนแรง แต่หลังจากจังหวะเข้าที่ รอบเครื่องยนต์ทำงานได้ราบเรียบ สามารถคิกดาวน์ผ่านเกียร์ พาวเวอร์ ชิพ หลังพวงมาลัยได้เป็นอย่างดี

ช่วงทางโค้งขึ้นเขาและลงเขา ช่วงล่างให้การตอบสนองดีมาก เช่นเดียวกับทางตรงสามารถเค้นความเร็วขึ้นได้ตามระดับของจังหวะการจราจรที่โล่งและโปร่ง

การขับขี่ตลอดเส้นทาง กับความเร็วพอควรตามเส้นทางทั้งทางราบ ทางเขา ช่วงล่างที่ตอบสนองความกระชับที่ดีขึ้น ไม่นุ่มเหมือนรุ่นที่แล้ว ทำให้การเข้าโค้งกลายเป็นความมั่นใจ เพราะความหนึบมีส่วนอย่างมาก

สำหรับอัตราเฉลี่ยสิ้นเปลือง 12 กิโลเมตรต่อลิตร เป็นตัวเลขที่ผมพอใจครับ แม้ฮอนด้าจะบอกว่า ตัวเลขความประหยัดได้สูงถึง 18.1 กิโลเมตรต่อลิตร ในรุ่นเกียร์อัตโนมัติ และ 17.7 กิโลเมตรต่อลิตร ในรุ่นเกียร์ธรรมดา

…ส่วนที่ต้องติเตียนเห็นจะเป็นเสียงแตรที่เบามาก สำหรับจุดอื่นๆ ผมว่าเป็นการตีโจทย์แตกครั้งสำคัญของฮอนด้า โดยเฉพาะประเด็นความคุ้มค่าที่ได้มาในรถรุ่นนี้

ดูต่อได้ที่ : เลกซัส CT 200h ทางเลือกไฮบริดรุ่นเล็ก

วิทยา กิจชาญไพบูลย์