ช่วยให้สวยอย่างเดียวไม่พอ!! Clean Beauty เทรนด์ใหม่เขย่าอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง

กระแสรักษ์โลกเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลดถุงพลาสติก ลดมลพิษจากกระบวนการผลิตสินค้า ที่ผ่านมาผู้คนให้ความสนใจกับ Eco-friendly ,Organic และ Vegan กันมากขึ้น ซึ่งตลาดเครื่องสำอางก็เป็นอีกอุตสาหกรรมที่กำลังถูกเปลี่ยนแปลง เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เลือกสรรมากขึ้น จนทำให้เกิด ‘Clean Beauty’ ขึ้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

หลายคนคงรู้จักและเคยได้ใช้ Natural Beauty หรือ Organic Beauty กันมาแล้ว แต่กับ Clean Beauty อาจจะยังไม่ได้ทดลองใช้ หรือบางคนอาจจะยังไม่เคยได้ยิน แต่ถ้าให้อธิบายง่าย ๆ ก็คือสินค้า Clean Beauty จะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องไม่มีสารพิษ สารเคมี และส่วนประสมที่เป็นอันตรายเป็นส่วนประกอบเลยแม้แต่นิดเดียว (คล้าย ๆ กับอาหารคลีนที่เราคุ้นหูคุ้นตา และต่างเลยลองใช้กันมาแล้ว)

ซึ่ง Clean Beauty จะเป็นขั้นกว่าของ Natural Organic หรือ Organic Beauty ที่ยังสามารถมีสารอื่น ๆ เป็นส่วนประกอบได้บ้างเพียงแต่จะเน้นส่วนประกอบจากธรรมชาติ

สำหรับแบรนด์ของประเทศไทยในตอนนี้อาจจะยังไม่ค่อยได้เห็นผลิตภัณฑ์ Clean Beauty มากนัก แต่ขณะนี้ในหลาย ๆ ประเทศเป็นที่นิยมมากขึ้น แถมยังมีแนวโน้มที่เครื่องสำอางประเภทนี้จะเข้ามาแทนที่เครื่องสำอางแบบเดิม ๆ ในไม่ช้า

ในประเทศเกาหลีใต้ เจ้าของแบรนด์เครื่องสำอางหลายเจ้าเริ่มผลิต Clean Beauty ออกมาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น แถมแนวโน้มการเติบโตของเครื่องสำอางประเภทนี้น่าสนใจเป็นอย่างมาก

#คุณลักษณะของ Clean Beauty
ข้อมูลจาก ‘กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์’ เปิดเผยว่า กระทรวง ความปลอดภัยอาหารและยาของเกาหลีในเดือนมกราคม 2564 กำหนดคุณลักษณะเอาไว้ 3 อย่างคือ ไม่มีส่วนผสมที่เป็นอันตรายใด ๆ ไม่ทดลองกับสัตว์ และการใช้บรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้หรือย่อยสลายได้ทางชีวภาพ

โดยกระแสนี้ได้รับอิทธิพลมาจากคนรุ่น MZ ที่เกิดในปี 2523-2547 คิดเป็น 34% ของประชากรทั้งหมดในประเทศเกาหลี โดยคนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับการบริโภคอย่างคุ้มค่า ซึ่งรสนิยมและความต้องการของคนกลุ่มนี้กลายเป็นการบริโภคกระแสหลัก

และยิ่งไปกว่านั้น คือคนกลุ่มนี้ยังออกมาแบนผลิตภัณฑ์ที่ผิดจรรยาบรรณและไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้บริษัทเครื่องสำอางหลายแห่งในเกาหลีเปิดตัวสินค้าในกลุ่ม Clean Beauty และเปลี่ยนวัสดุบรรจุภัณฑ์เป็นวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อย ๆ

สามารถยืนยันทางสถิติอ้างอิงข้อมูล Olive Young (แบรนด์เครื่องสำอางเกาหลี) ว่าในปี 2563 กลุ่มตัวอย่างเพศหญิง 2,000 คน เกี่ยวกับปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อเครื่องสำอาง หากสินค้าอยู่ในระดับราคาเดียวกัน สิ่งที่ให้ความสำคัญมากที่สุดคือ ส่วนผสม 71.1% และการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 48.3%

3 เจ้าใหญ่บุกตลาด Clean Beauty ก่อนใคร
สำหรับแบรนด์ที่ออกผลิตภัณฑ์ Clean Beauty ออกมาในเกาหลีใต้มี 3 เจ้าหลัก ๆ อย่าง Innisfree ที่มีช้อปในประเทศไทย ได้เปิดตัว Bija Trouble Skin Care Set ซึ่งเป็นชุดบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้แม่พิมพ์เยื่อกระดาษเพื่อลดขยะพลาสติก ซึ่งแม่พิมพ์เยื่อกระดาษเป็นวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ง่ายต่อการรีไซเคิล และย่อยสลายทางชีวภาพ

อีกแบรนด์ดังที่มีช้อปในไทยมากมายอย่าง Skinfood ก็ได้เปิดตัว carrot carotene เป็นผลิตภัณฑ์ Vegan ไลน์แรก ทำจากแครอทปลอดสารกำจัดศัตรูพืชที่คัดสรรอย่างดี และได้รับการรับรองว่าเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์ในเกาะเชจู

นอกจากนี้ยังมีแบรนด์ Aromatica ที่ได้ออกสบู่ก้อน 4 ประเภทที่นำทั้งวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์มาผลิตแบบ Upcycling ซึ่งในบรรดาสบู่ก้อนของ Aromatica มีลักษณะเด่นคือ การนำวัตถุดิบเช่นต้นชาและโรสแมรี่ที่ผ่านการ Upcycling มาใช้ นอกจากนี้แบรนด์ยังคงยึดหลัก Zero waste โดยการใช้บรรจุภัณฑ์จากกระดาษรีไซเคิลที่ผลิตจากกากอ้อยโดยไม่ต้องใช้ไม้

แบรนด์เหล่านี้ยังมีแนวโน้มว่าจะออกผลิตภัณฑ์ Clean Beauty ออกมาต่อเนื่อง หลังจากเทรนด์บริโภคเครื่องสำอางประเภทนี้กำลังเป็นที่นิยม

ทั้งนี้ Clean Beauty ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโตอีกมาก เพราะคนรุ่นใหม่หันมาสนใจผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และตลาด Clean Beauty ที่เกาหลีเองก็เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีการแข่งขันและพัฒนาอยู่ตลอด

ถือเป็นโอกาสที่ดีหากผู้ประกอบการไทยได้เริ่มพัฒนาสินค้าเพื่อตอบรับเทรนด์ที่กำลังเติบโต ไม่เพียงแต่ในเกาหลีแต่ยังรวมถึงตลาดอเมริกาและยุโรป นอกจากนี้ไทยเองก็ยังมีสินค้าด้านความงามต่าง ๆ ที่สามารถพัฒนาเป็น Clean Beauty ได้ และมีความสามารถในการส่งออก เช่น เครื่องสำอางสมุนไพรไทย เป็นต้น

สรุปได้ว่า การเลือกใช้ Clean Beauty เป็นพฤติกรรมที่สอดคล้องมากับการเลือกบริโภคอาหารคลีน และกระแส Healthy ซึ่งก่อนเจอกับสถานการณ์โควิด-19 กระแสเหล่านี้ก็เข้ามามีบทบาทพอสมควร แต่เมื่อเจอกับการแพร่ระบาดของโรคร้ายยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบกอบในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย ให้ผลิตสินค้าออกมาตอบโจทย์ให้มากขึ้น เพราะสมุนไพรไทยนั้น ได้รับการยอมรับจากหลาย ๆ ประเทศ

และการเข้าสู่ตลาดเป็นเจ้าแรก ๆ ก็จะทำให้เกิดความได้เปรียบเชิงแข่งขัน เพราะตลาด Clean Beauty ในไทยตอนนี้ถือว่าเป็น Blue Ocean ใครที่เข้ามาในตลาดได้ก่อนก็จะกวาดลูกค้าไปได้อย่างเต็มที่ และจะนำมาซึ่งการสร้างกำไรสูงสุดในที่สุด

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ข้อมูล : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ , thearomatica , skinfood

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS
.
#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #เศรษฐกิจ #เครื่องสำอาง #เกาหลีใต้ #สาวเกาหลี #CleanBeauty