ชนกันด้วย“เรตติ้ง” ตัวชี้ขาดราคาหุ้นทีวีดิจิทัล

ผ่านมา 4 ปี ภาพรวมของ “ทีวีดิจิทัล” ยังคงอยู่ในวังวนทรงกับทรุด บางรายถึงกับถอดใจขอคืนใบอนุญาตไปเรียบร้อย เพราะรายได้จากเม็ดเงินโฆษณาไม่เป็นไปตามคาดหวัง สวนทางกับรายจ่ายที่พุ่งอย่างต่อเนื่อง ทั้งรายจ่ายค่าผลิตรายการ ค่าบุคลากร และค่าลิขสิทธ์คอนเทนต์ ยิ่งไปกว่านั้น ยังต้องมีภาระการจ่ายค่าใบอนุญาต และค่าเช่าโครงข่าย (MUX) ที่ถือว่าเป็น Fix Cost ก้อนโตที่ต้องจ่ายอีกจำนวนไม่น้อย

จากจำนวนช่องทีวีดิจิทัลที่เหลืออยู่ 22 ช่อง (ไทยทีวีและโลก้า ขอคืนใบอนุญาต) มีเพียงกลุ่มผู้นำเรตติ้ง 1-5 อันดับแรกเท่านั้น ที่ยังพอมีกำไรและเลี้ยงตัวเองได้ ขณะที่ช่องที่มีเรตติ้งตั้งแต่อันดับ 8 ลงไป เป็นเรื่องยากที่จะสร้างรายได้และอยู่รอดในธุรกิจนี้ต่อไป

จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้รัฐบาล คสช. ต้องออกมาประกาศใช้ ม.44 เพื่อช่วยต่อลมหายใจให้กับกลุ่มผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ด้วยมาตรการพักการชำระค่าใบอนุญาต 3 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2563 แต่ผู้ประกอบการยังต้องจ่ายดอกเบี้ยตามอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดที่ 1.5% ต่อปี และปรับลดค่าเช่าโครงข่าย (MUX) ลง 50% ของค่าเช่าที่ต้องชำระเป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่ปี 2561-2562

แน่นอนว่ามาตรการดังกล่าว แม้ว่าท้ายที่สุดแล้ว อาจจะไม่สามารถทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทุกรายอยู่รอดได้ แต่ถือว่าเป็นการต่อลมหายใจให้กับธุรกิจ เพราะสามารถนำเงินที่จะต้องจ่ายค่าใบอนุญาตฯ ไปใช้ในการพัฒนาเนื้อหารายการและบุคลากร ขณะเดียวกัน ในช่วง 3 ปีนี้ คาดว่าจะมีความชัดเจนเรื่องมาตรการคืนใบอนุญาตฯ จะทำให้เหลือผู้ประกอบการประมาณ 15 ราย อีกทั้ง ช่องอะนาล็อกที่ยังคงออกอากาศอยู่ 3 ช่อง คือ ช่อง 3 ช่อง 7 และช่อง 9 จะยุติการออกอากาศ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าจะทำให้ภาพรวมของกลุ่มทีวีดิจิทัลดูดีขึ้น

ทั้งนี้ มาตรการพักการชำระใบอนุญาตที่ออกมา ทำให้หุ้นกลุ่มทีวีดิจิทัลได้รับอานิสงส์เชิงบวกทันที โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการที่มีฐานะการเงินยังไม่ดีนัก เช่น MCOT, BEC, GRAMMY และกลุ่มเนชั่น เป็นต้น แต่ในกลุ่มที่มีกระแสเงินสดที่ดีอย่าง RS, MONO และ WORK อาจจะรับผลบวกไม่มาก

ส่วนมาตรการปรับลดค่า MUX ลง 50% เป็นเวลา 2 ปีนั้น นับว่าส่งผลบวกกันถ้วนหน้าแก่ทุกผู้ประกอบการ เพราะปัจจุบันค่า MUX ในช่อง HD จะต้องชำระ 14 ล้านบาท/เดือน ส่วนช่อง SD จะต้องชำระ 4.7 ล้านบาท/เดือน ซึ่งในกรณีนี้ BEC เป็นหนึ่งในผู้ได้รับได้ประโยชน์มาก เพราะมีช่องถึง 3 ช่อง ทั้ง HD, SD และช่องเด็ก รวมแล้วต้องจ่ายกว่า 280 ล้านบาท/ปี จึงช่วยให้ BEC ลดค่าใช้จ่ายไปได้อย่างมาก

ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูลผลประกอบการของบริษัทที่ดำเนินการทีวีดิจิทัลในกลุ่มผู้นำเรตติ้งอันดับต้น ๆ พบว่า ผลประกอบการ ณ สิ้นปี 2560 ส่วนใหญ่มีผลประกอบการที่ออกมาไม่ดีนัก และได้สะท้อนถึงราคาหุ้นในกระดานที่ลดลงอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นเดียวกัน

เริ่มจาก บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BEC ซึ่งช่อง 3 HD มีเรตติ้อยู่ในอันดับ 2 (เดือนเมษายน 2560) แจ้งผลการดำเนินงานงวดปี 2560 มีกำไรสุทธิ 61.01 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.03 บาท ลดลงจากปี 2559 มีกำไรสุทธิ 1,218.29 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.61 บาท โดยกำไรสุทธิลดลงถึง 95% อย่างไรก็ดี แม้ว่าช่อง 3 จะสามารถสร้างปรากฏการณ์ “ออเจ้า” จากละครดัง “บุพเพสันนิวาส” กระชากเรตติ้งพุ่งขึ้นอย่างถล่มทลาย และยังส่งผลให้ราคาหุ้น BEC ในเดือนมีนาคม ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดในรอบปีที่ 9.85 บาทต่อหุ้น ขึ้นไปเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 14 บาทต่อหุ้น แต่ภายหลังจากละครลาจอ ราคาหุ้นได้ปรับลดลงมาเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 10 บาทต่อหุ้นอีกรอบ แน่นอนว่า นอกจากเรตติ้งที่ดีแล้ว ผลประกอบการจะต้องออกมาดีด้วย จึงจะทำให้นักลงทุนกลับมาเชื่อมั่นอีกครั้ง

ด้าน บริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ MONO ซึ่งช่อง MONO29 มีเรตติ้งอยู่ในอันดับที่ 3 แจ้งผลการดำเนินงาน ปี 2560ว่า มีรายได้รวม 2,575 ล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิ 58 ล้านบาท ขณะที่ปี 2559 ขาดทุนสุทธิเกือบ 250 ล้านบาท ซึ่งการเติบโตของรายได้และกำไรในปี 2560 เป็นผลมาจากทีวีดิจิทัลช่อง MONO29 มีเรตติ้งดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจนก้าวขึ้นมาติดอันดับ 3 ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา

ส่วน บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ WORK เรตติ้งอันดับ 4 รายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2560 ว่ามีกำไรสุทธิจำนวน 904.09 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 705.46 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้น 355% เมื่อเทียบกับปี 2559 ที่มีกำไรสุทธิ 198.63 ล้านบาท นับเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่มีความสามารถในการสร้างกำไร โดยมีจุดแข็งอยู่ที่การสร้างเนื้อหารายการ เนื่องจากเคยเป็น Content Provider ให้กับช่องต่าง ๆ มาก่อนนั่นเอง ทำให้ในปีที่ผ่านมาราคาหุ้นพุ่งทะยานไปถึง 100 บาทต่อหุ้นเมื่อช่วงปลายปี ก่อนที่จะลงมาอยู่ในระดับ 60 บาทต่อหุ้น ตามเรตติ้งที่ตกลงมา

ทางด้าน บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS ซึ่งมีช่อง 8 ครองเรตติ้งอันดับ 5 แจ้งผลประกอบการทั้งปี 2560 มีรายได้รวม 3,502 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 333 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นรายได้จากธุรกิจสื่อที่มีช่อง 8 เป็นหัวหอก สร้างรายได้รายได้ 1,704 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 49% ของรายได้รวม ทั้งนี้ หากมองในแง่ราคาหุ้น จะพบว่า ราคาหุ้น RS พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากระดับ 12 บาทต่อหุ้นเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา จนมาถึงระดับสูงสุด 35 บาทต่อหุ้น เมื่อเดือนมีนาคม 2561 ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความสามารถในการสร้างรายได้และผลกำไร ที่มาจากธุรกิจอื่นไม่ได้พึ่งพาธุรกิจสื่อเพียงอย่างเดียว โดยมีธุรกิจสุขภาพและความงาม (Health and Beauty) ที่โตโดดเด่น ด้วยรายได้ในปี 2560 สูงถึง 1,389 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึง 40% ของรายได้รวมของบริษัทฯ

ขณะที่ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GRAMMY ที่เรตติ้งช่อง ONE อยู่อันดับ 6 รายงานผลการดำเนินงานงวดปี 2560 ยังคงมีผลประกอบการที่ขาดทุน โดยขาดทุนไปทั้งสิ้น 384.26 ล้านบาท แต่ถือว่าผลประกอบการดีขึ้นจากปีก่อนหน้า เนื่องจากปีก่อนขาดทุนถึง 520.15 ล้านบาท ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานที่ขาดทุน ทำให้กดดันราคาหุ้นของ GRAMMY ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ทั้งนี้ แกรมมี่มี 2 ช่องในเครือที่มีทุนใหญ่ร่วมถือหุ้นประมาณครึ่งหนึ่ง คือ ช่อง ONE มีบริษัทของลูก นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เจ้าของเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ และช่องพีพีทีวีถือหุ้น ส่วนช่อง GMM 25 มีบริษัทของลูกชาย เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ร่วมถือหุ้น

อย่างไรก็ตาม การที่ คสช. ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ในระยะสั้นอาจจะส่งผลบวกต่อบริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้น ทั้งในแง่ค่าใช้จ่ายที่ลดลงและด้านจิตวิทยาของนักลงทุน แต่ในภาพรวมผลการดำเนินงานของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ยังคงอยู่ในลักษณะทรงกับทรุด และคงต้องติดตามและลุ้นระทึกกันต่อไปว่าใครจะยกธงขาวเป็นรายถัดไป และท้ายที่สุดจะมีใครบ้างที่อยู่รอดในธุรกิจนี้