จุดจบ ‘หมอบุญ’ จะเป็นอย่างไร? เปิดแฟ้มคดีเชือดผู้บริหารลักษณะใกล้เคียงกัน ก.ล.ต.จัดหนักจัดเต็ม สั่งปรับทางแพ่งทันที!! 

เป็นที่นำมาพูดถึงอีกครั้งกับกรณี “นพ.บุญ วนาสิน” หรือที่เรียกติดปากกันว่า “หมอบุญ” ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG หลังจากโดนพี่ใหญ่ของวงการ ซึ่งเป็นผู้คุมกฎของตลาดทุนอย่าง ก.ล.ต. ออกประกาศให้ชี้แจงกรณีข่าวการเซ็นสัญญากับกระทรวงกลาโหมเพื่อนำเข้าวัคซีน “ไฟเซอร์” รวมไปถึงการเสียเงินมัดจำ 500-600 ล้านบาท ภายใน 7 วัน (ครบกำหนด 11 สิงหาคม)

และเท่าที่รู้ตอนนี้ ก.ล.ต.กำลังอยู่ระหว่างสืบสาวหาความจริงไปถึง ข่าว การติดต่อสั่งซื้อวัคซีน ‘mRNA’ จากบริษัท BioNTech ของเยอรมนี ที่เคยให้ข่าวไปเมื่อเดือนกรกฏาคม อีกหนึ่งคดี

ซึ่งก่อนหน้านี้ การออกมาให้ข่าวของ หมอบุญ ได้ทำให้ราคาหุ้น THG ปรับตัวขึ้นจาก 29.25 บาท เมื่อวันที่ 12 กรกฏาคม ขึ้นไปทำจุดสูงสุด 32.00 บาท ในวันที่ 16 และ 19 กรกฎาคม หรือคิดเป็นการปรับตัวขึ้นไป 8.59%

และทาง ‘ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป’ ก็ได้ออกมาชี้แจงข้อมูลผ่านตลาดหลักทรัพย์ ตามกฏที่บริษัทในตลาดหุ้นต้องทำ หากมีข้อมูลที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้น

โดยชี้แจง ว่า “บริษัทฯ มีการตกลงซื้อวัคซีนจริงโดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการดําเนินการด้านเอกสารกับตัวแทนจําหน่ายในต่างประเทศ แต่ยังต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”

ต่อมาเกิดเป็นคำถามและที่วิพากษ์วิจารณ์กันครั้งใหญ่ว่า เรื่องการนำเข้าวัคซีนของหมอบุญ นั้น จะเกิดขึ้นได้จริงหรือเปล่า? และสัญญาที่ว่านั้นมีจริงไหม? การตั้งคำถามเกิดขึ้นหลังจาก บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จํากัด และ ไบโอเอนเทค ได้ลงนามสัญญาร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดส่งวัคซีนป้องกันโรคโควิดจำนวน 20 ล้านโดส ให้ประเทศไทย ซึ่งกำหนดส่งมอบในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้

จนนำไปสู่การที่ ก.ล.ต. ได้ส่งจดหมายให้ ธนบุรี เฮลท์แคร์ และหมอบุญ ในฐานะผู้บริหาร เข้าชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับการเซ็นสัญญากับกระทรวงกลาโหมเพื่อนำเข้าวัคซีน “ไฟเซอร์” รวมถึงการเสียเงินมัดจำจำนวน 500-600 ล้านบาท จากการผิดเงื่อนไขของสัญญา เพราะ “หมอบุญ และกระทรวงกลาโหม ให้ข้อมูลไปคนละทิศละทาง”

นอกจากนี้ พบว่า การให้ข้อมูลของ หมอบุญ อาจมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้น หรือต่อการตัดสินใจลงทุน รวมถึงมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นอีกด้วย

#ข้อความฉบับเต็มที่ ก.ล.ต. ระบุเอาไว้ มีใจความ ดังนี้
สืบเนื่องจาก นพ.บุญ ให้ข่าวผ่านสื่อเมื่อวันที่ 3 สิงหาคมว่า ภายในสัปดาห์นี้จะมีการเซ็นสัญญากับกระทรวงกลาโหมที่เป็นหน่วยงานนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ ต่อมาในวันเดียวกันโฆษกกระทรวงกลาโหมได้ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว และยืนยันว่าขณะนี้กระทรวงกลาโหมและหน่วยงานในสังกัด ยังไม่มีแผนหรือความตกลงร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชนในการสั่งซื้อหรือนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ แต่อย่างใด

นอกจากนี้ นพ.บุญยังกล่าวถึงการที่ต้องเสียเงินมัดจำเป็นจำนวน 500-600 ล้านบาท เนื่องจากผิดเงื่อนไขของสัญญาด้วย

ทั้งนี้ ก.ล.ต. เห็นว่าเนื่องจากข้อเท็จจริงดังกล่าวมีความขัดแย้งกัน อาจก่อให้เกิดความสำคัญผิด และอาจมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้น หรือต่อการตัดสินใจลงทุน หรือต่อการเปลี่ยนแปลงในราคาหลักทรัพย์ ก.ล.ต. จึงอาศัยอำนาจตามกฎหมายให้ “THG” และ นพ.บุญ ชี้แจงข้อมูลที่เกี่ยวข้องภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ 4 สิงหาคม พร้อมทั้งให้ THG เปิดเผยคำชี้แจงผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วย

โดย ก.ล.ต.ได้มีหนังสือ 2 ฉบับ ถึงประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ THG และ นายแพทย์บุญ วนาสิน ในฐานะประธานกรรมการของ THG ให้ชี้แจงกรณีดังกล่าว

#ความเห็น
ทั้งนี้ เรามองว่าหากหน่วยตรวจสอบของก.ล.ต.ได้ทำการสืบข้อมูลแล้ว พบว่า ข้อมูลที่ หมอบุญ ออกมาเปิดเผยผ่านสื่อไม่มีมูลความจริง หรือไม่มีหลักฐานยืนยันได้ว่าได้มีการเจรจาเซ็นสัญญากับกระทรวงกลาโหมจริง “อาจจะไปกระทบข้อหาเผยแพร่ข้อความอันอาจก่อให้เกิดความสำคัญผิดเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ หรืออาจจะเป็นการกระทำผิดโดยการบอกกล่าวข้อความอันเป็นเท็จหรือข้อความที่เจตนาให้ผู้อื่นสำคัญผิดในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับฐานะการเงิน การดำเนินงานหรือราคาหุ้น” แต่ก็ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป

#เปิดแฟ้มเคสใกล้เคียง
ย้อนรอยกับเคสใกล้เคียงกันสักหน่อย โดยก่อนหน้านี้มีกรณีที่เกิดขึ้นกับประเด็นของผู้บริหารในลักษณะคล้ายกันมาแล้ว เมื่อต้นปี 2564 กับกรณีผู้บริหารของ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ JKN ได้โพสต์ข้อความลงใน Facebook ส่วนตัว เมื่อวันที่ 8 – 9 มีนาคม 2564 ในลักษณะเชิญชวญลงทุนในหุ้นของบริษัทตัวเอง

ซึ่งการออกมาโพสต์ข้อความในโซเชียลนั้น ก็ส่งผลให้ราคาหุ้นในวันต่อมาหลังจากให้ข่าวเปิดกระโดดจากราคา 9.20 บาท ไปสู่ 10.20 บาท หรือปรับตัวขึ้นกว่า 10.87% และยังขึ้นต่อเนื่องไปจนถึง 11.80 บาท ใน 3 วันให้หลังคิดเป็นการปรับตัวขึ้นรวมกัน 28.26%

โดย ก.ล.ต. ระบุว่า การกระทำของผู้บริหาร เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 240 ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 วรรคสอง และมาตรา 296/2 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ และได้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับ โดยให้ชำระเงินค่าปรับทางแพ่งและชดใช้ค่าใช้จ่ายเนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด รวมเป็นเงินจำนวน 2,166,840 บาท (เงินค่าปรับทางแพ่งเป็นรายได้แผ่นดินที่ ก.ล.ต. ต้องนำส่งกระทรวงการคลัง)

ซึ่งกรณีนี้หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอมชำระเงินค่าปรับทางแพ่งและชดใช้ค่าใช้จ่ายเนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าที่ ค.ม.พ. กำหนดจนถึงอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติ

#กรณี ‘รสา พร็อพเพอร์ตี้’
ยกตัวอย่างอีกสัก 1 กรณี เป็นเรื่องของบริษัท รสา พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ RASA ซึ่งตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ S

โดยช่วงต้นปี 2557 กรรมการผู้จัดการและผู้ถือหุ้นใหญ่ รสา พร็อพเพอร์ตี้ ได้เปิดเผยข้อมูลผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า รสา พร็อพเพอร์ตี้ ไม่ได้มีการติดต่อหรือได้รับการติดต่อจากผู้สนใจที่จะซื้อกิจการ ในขณะนั้น ผู้บริหารรายนี้ ทราบอยู่แล้วว่ามีกลุ่มผู้ลงทุนใหม่สนใจเข้าซื้อหุ้น รสา พร็อพเพอร์ตี้ เนื่องจากผู้บริหารเป็นผู้ลงนามในความตกลง (MOU) และเป็นผู้ดำเนินการให้ผู้ลงทุนกลุ่มใหม่สามารถเข้าทำ Due diligence กิจการและทรัพย์สินของ รสา พร็อพเพอร์ตี้ ได้แล้ว

การกระทำของผู้บริหาร เป็นการกระทำผิดโดยการบอกกล่าวข้อความอันเป็นเท็จหรือข้อความที่เจตนาให้ผู้อื่นสำคัญผิดในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับฐานะการเงิน การดำเนินงานหรือราคาหุ้นของ รสา พร็อพเพอร์ตี้ และถูกเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 500,000 บาท ซึ่งการถูกเปรียบเทียบปรับดังกล่าว ทำให้ผู้บริหารรายนั้น มีลักษณะเข้าข่ายขาดความน่าไว้วางใจที่จะเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน

จะเห็นว่า คดี ของผู้บริหาร 3 รายมีลักษณะใกล้เคียงกัน แตกต่างกันเพียงแค่ผู้บริหาร ‘เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย’ ออกมาพูดถึงแผนธุรกิจ และชี้ชำราคาหุ้นของตัวเอง ส่วนกรณีของ รสา พร็อพเพอร์ตี้ ผู้บริหารปกปิดความจริง ถึงแม้วงเงินที่ถูกปรับจะค่อนข้างน้อย แต่หากเข้าข่ายขาดความน่าไว้วางใจที่จะเป็นกรรมการและผู้บริหาร อาจจะต้องเด้งหลุดตำแหน่งไปเลย

ส่วนกรณีของ หมอบุญ นั้น คงต้องมีการสืบสาวราวเรื่องกันให้ดีก่อนว่าข้อมูลที่ได้ให้ข่าวนั้น มีความจริงเท็จแค่ไหน? และหากมีความผิดจริงจะถูกลงโทษในลักษณะใด? และกรณีการถูกเปรียบเทียบปรับเงินค่าปรับทางแพ่งของบริษัทในตลาดหุ้น ถือเป็นรายได้แผ่นดินที่ ก.ล.ต. ต้องนำส่งกระทรวงการคลัง

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : https://market.sec.or.th/public/idisc/th/Enforce
https://www.sec.or.th/TH/Pages/News_Detail.aspx?NewsNo=104&NewsYear=2564&Lang=TH

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHC