‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ แค่ไหนถึงจะพอ!? เปิดเบื้องหลังการขึ้นค่าแรง ผลพวงที่ต้องมีคนแบกรับ

เป็นที่ทราบกันดีว่า ขณะนี้เรื่องของปากท้องเป็นปัญหาระดับประเทศที่กำลังร้อนแรง ทั้งราคาน้ำมัน ราคาของสด และเงินเฟ้อที่พุ่งสูง ทำให้หลายคนหันกลับมามองว่า ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ ที่มีอยู่ เหมาะกับค่าครองชีพในปัจจุบันหรือไม่

ก่อนอื่นขออธิบายกันก่อนถึงนิยามของ ค่าแรง ได้มีการแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. ค่าแรงขั้นต่ำ หมายถึง อัตราค่าจ้างที่เพียงพอสำหรับแรงงานเพื่อพัฒนาฝีมือ โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ใช้กำลังแรงในการทำงานมากกว่าทักษะขั้นสูง
2. ค่าแรงมาตราฐานฝีมือ หมายถึง อัตราค่าจ้างสำหรับแรงตามมาตรฐานฝีมือ ของกลุ่มอาชีพ ช่างอุตสาหการ กลุ่มสาขาอาชีพช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ และกลุ่มสาขาอาชีพช่างเครื่องกล รวม 13 สาขาอาชีพ

จุดเริ่มต้นของกฎหมายแรงงาน

ประเทศนิวซีแลนด์ มีต้นแบบออกกฎหมายแรงงานขั้นต่ำมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1894 ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมานิวซีแลนด์ก็ได้มีการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันขยับมาอยู่ที่ 20 ดอลลาร์/ชั่วโมง หรือราว 437.76 บาท

สำหรับประเทศไทยกฎหมายแรงงานมีการนำมาใช้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเป็นลักษณะกฎหมายที่เกี่ยวกับทาสในสมัยพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ. 2181 ซึ่งต่อมาได้มีการเลิกทาสปี พ.ศ 2417 ในสมัย ร.5

โดยมีโองการกำหนดค่าจ้างรายเดือนที่ต้องไม่ต่ำกว่า 4 บาท/เดือน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้น เรียกได้ว่าเป็นกฎหมายกำหนดค่าแรงขั้นต่ำฉบับแรกของประเทศไทย

กฎหมายค่าแรงปัจจุบันของไทย

ปัจจุบันประเทศไทยใช้กฎหมายแรงงานภายใต้กรอบพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกา พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑

และใช้ยึดหลักตาม ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และอัตราค่าจ้างมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 10) ที่ประกาศให้มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 โดยมีคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละ 5 คนเท่ากัน

โดยจะพิจารณาด้วยปัจจัย ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิตราคาของสินค้าความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ สภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ในแต่ละท้องถิ่น และสภาพการณ์โดยทั่วไปของประเทศในขณะนั้น

ซึ่งทั้ง 3 ฝ่ายแบ่งการพิจารณา เพื่อเป็นตัวแทนของแต่ละฝ่าย
ฝ่ายนายจ้าง
พิจารณาความสามารถในการจ่าย เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ

ฝ่ายลูกจ้าง
พิจารณาปัจจัยด้านค่าครองชีพ และค่าตอบแทนที่เหมาะสม เพื่อเพียงพอต่อการดำรงชีวิต

ฝ่ายรัฐ
ร่วมพิจารณา และกำหนดค่าจ้างขั่นต่ำที่ทั้งฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้างอยู่รอดได้ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้น

ซึ่งสูตรการคำนวณการปรับค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละครั้ง คือ
ค่าแรงขั้นต่ำ = ค่าแรงขั้นต่ำปัจจุบัน + (ค่าแรงขั้นต่ำปัจจุบัน X (อัตราเงินเฟ้อ + % GDP ที่ขึ้นระหว่างปี)

ด้วยปัจจัยการพิจารณาข้างต้น บวกกับความแตกต่างของแต่ละพื้นที่ เช่น เป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งโรงงานอุตสาหกรรม แหล่งการแข่งขันด้านธุรกิจ ส่งผลให้แต่ละจังหวัดมีการกำหนดแรงงานขั้นต่ำแตกต่างกัน เช่น กรุงเทพฯ มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำเริ่มต้นที่ 331 บาท ต่างจากจังหวัดชลบุรี และภูเก็ตที่มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำมูลค่าสูงที่สุดในประเทศไทย คิดเป็น 336 บาท

การปรับขึ้น จะมีผลดี-ผลเสีย อย่างไร?

ในเบื้องต้นข้อดี คือเป็นการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคมากขึ้น และเป็นการเพิ่มขึ้นของตัวเลข GDP ภายในประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากการนับรวมรายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นภายในประเทศ

อีกทั้งยังเป็นการยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของกลุ่มคนยากจนให้มีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงกระตุ้นให้ประชาชนเข้าสู่ระบบแรงงานมากกว่าไปประกอบอาชีพที่ผิดกฎหมาย

ขณะเดียวกัน ก็ยังมีอีกบางมิติที่ควรให้ความสำคัญ และมีการเตรียมรับกับผลที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็น
– เงินเฟ้อ
ซึ่งอันที่จริงการมีภาวะเฟ้ออ่อน ๆ ถือเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ เแต่หากระบบมีปริมาณเงินเพิ่มขึ้น แต่อำนาจในการซื้อกลับสวนทางกัน ก็จะเป็นผลเสียที่ทำให้มูลค่าของเงินลดลง

– อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น
เนื่องจากภาคธุรกิจไม่ว่าจะเป็น SMEs หรือธุรกิจขนาดใหญ่ ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งจะส่งผลให้กำไรลดลง และอาจนำไปสู่ความต้องการจำนวนแรงงานน้อยลงเช่นกัน

– เหนี่ยวรั้งให้ชนชั้นแรงงานหยุดพัฒนา
เนื่องจากจำนวนเงินที่เพิ่มมากขึ้น กับการใช้แรงงานที่เท่าเดิม อาจเป็นอีกเหตุผลล่อใจกับการชะลอเข้าศึกษาพัฒนาทักษะเพิ่มเติม เนื่องจากส่วนใหญ่กลุ่มชนชั้นแรงงานจำเป็นต้องแก้ปัญหาเรื่องปากท้อง การเข้าทำงานเพื่อได้ค่าตอบแทนทันที จึงเป็นคำตอบที่สามารถแก้ปัญหาระยะสั้นได้ดีที่สุด

โดยสรุปแล้ว การขึ้นค่าแรง จำเป็นต้องคำนึงถึงหลายตัวแปร และหลายภาคส่วน ถึงแม้จะเป็นผลดีที่ทำให้ชนชั้นแรงงานมีโอกาสได้ลืมตาอ้าปากมากขึ้น แต่หากขึ้นค่าแรงมากไป ก็อาจส่งผลกระทบให้ภาคธุรกิจต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่ตามมาอาจไม่ใช่เรื่องดี เพราะความต้องการแรงงานในตลาดจะลดลงไปด้วย

ท้ายที่สุดแล้ว Business+ มองว่า การเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้น ไม่ได้มาจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำให้เพิ่มขึ้นเพียงอยางเดียว สิ่งที่สำคัญ และยั่งยืนที่สุด คือ การพัฒนาแรงงานให้มีทักษะเพิ่มขึ้น เพื่อสู้กับการมาของเทคโนโลยีที่จะเข้ามาแทนที่ให้ได้

 

ข้อมูล : mol.go.th / wikipedia.org