คาเฟ่ชิคกับอาคารเก่าควรค่าอนุรักษ์ มูลค่าอสังหาใหม่ที่น่าจับตามอง

ในยุคสมัยที่ถูกดิจิทัลกลืนกินไปแทบหมด ส่งผลให้ผู้คนอีกส่วนหนึ่งหลงใหลไปกับบางสิ่งคอนทราสกัน อย่างเช่น สถาปัตยกรรมแนวลอฟท์ (Loft Style) แนวการตกแต่งที่เน้นสร้างความต่อเนื่องของพื้นที่ โชว์ผิวสัมผัสของวัสดุ

เช่น ผนังอิฐ ก่อโชว์แนว ผนังปูนเปลือย เป็นต้น โดยเฉพาะร้านอาหารและคาเฟ่ต่าง ๆ ที่นำเอาความลอฟท์มาใส่ในร้าน เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งจุดดึงดูดลูกค้าสายโซเชียลที่นิยมถ่ายภาพอัปลงอินสตาแกรม เฟสบุ๊ค ให้ดูเป็นคนชิค ๆ คูล ๆ

หากไม่ได้สร้างขึ้นมาใหม่ ตึกอาคารบ้านเรือนที่จะตอบโจทย์และตรงกับความลอฟท์ที่สุด หนีไม่พ้นอาคารเก่าที่มีกลิ่นอายความดิบด้วยอายุและสภาพที่ผ่านการใช้งานมาอย่างโชกโชน ทั้งผนังปูนที่เริ่มปรากฏรอยกะเทาะ หรือจะเป็นความเก่าของไม้ ล้วนตรงกับความต้องการแนวลอฟท์ทั้งสิ้น

โดยในปัจจุบันจึงเริ่มนำเอาอาคารเก่ามาปรับปรุงให้แข็งแรงและเหมาะสมกับการทำร้านอาหารหรือร้านกาแฟมากขึ้น ทำให้ร้านอาหารและคาเฟ่นั้น ๆ โดดเด่นน่าใช้บริการกว่าร้านอื่นไปโดยปริยาย

Loft style

กระแสร้านอาหาร/คาเฟ่แนวลอฟท์ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในปีสองปีที่ผ่านมา แต่มีรากฐานตั้งแต่สมัยหลังครามโลกครั้งที่สองซึ่งเศรษฐกิจตกต่ำลงจนโรงงานหลายแห่งต้องปิดตัวไป ผู้คนที่ต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นจึงได้นำโรงงานเหล่านั้นมาปรับใช้เป็นที่อยู่แทน และใช้เศษวัสดุที่เหลือจากโรงงานมาตกแต่งให้สวยงาม แนวลอฟท์จึงถือกำเนิดขึ้นดังนี้เอง

เพิ่มมูลค่าธุรกิจ และอนุรักษ์อาคารเก่าด้วย Loft Style

ส่วนสไตล์ลอฟท์ในยุค 2019 ก็ได้มีการปรับเพิ่มมุมมองเล็กน้อย นอกจากความสวยงามแล้ว เรายังคิดถึงการอนุรักษ์อาคารและสิ่งปลูกสร้างเก่าที่ควรค่าแก่การรักษาเข้าไปด้วย เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อมรรัตน์ กล่ำพลบ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กรมธนารักษ์ ได้มีการเปิดเผยว่า จากกระแสอนุรักษ์ที่กำลังเป็นที่นิยม

กรมธนารักษ์จึงมีการจัดทำฐานข้อมูลอาคารหรือสิ่งปลุกสร้างที่เป็นพื้นที่ราชพัสดุ ที่มีลักษณะยังทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม หรือสถาปัตยกรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ หากอาคารเหล่านี้ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ก็จะเปิดให้ภาคเอกชนที่สนใจเข้ามาประมูลอาคารเพื่อนำไปพัฒนาให้เกิดมูลค่า แต่ทั้งนี้ยังต้องคงเอกลักษณ์ของอาคารไว้

“ตอนนี้กรมธนารักษ์ได้ทำการสำรวจอาคารเก่าแล้ว พบอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างเก่าประมาณ 200 หลัง ซึ่งเป็นอาคารที่มีสถาปัตยกรรมสวยงาม ทำเลดีกว่า 60 หลัง อยู่ในกรุงเทพฯ ประมาณ 21 หลัง เช่น อาคารวังบ้านตอกไม้ เป็นต้น

และนอกจากนั้นจะเป็นอาคารที่อยู่ในภูมิภาค เช่น อาคารกรมศุลกากร อำเภอหนองคาย จังหวัดหนองคาย เป็นต้น โดยพื้นที่เหล่านี้สามารถสร้างมูลค่าได้ แม้เงินค่าเช่าอาจจะไม่มากนัก แต่สิ่งที่ได้กลับมานั่นคือ คุณค่าของอาคารเหล่านี้ที่จะยังคงอนุรักษ์ไว้ต่อไป” อมรรัตน์กล่าว

Labyrinth Café และอาร์ตสเปซ

ในส่วนของภาคเอกชนเอง ก็มีเจ้าของตึกอาคารเก่าที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของสถาปัตยกรรม และได้ดึงเอาความโดดเด่นนั้นออกมาสร้างเป็น “พื้นที่ทางความคิด” ให้ใครอีกหลายคนรวมถึงคนรุ่นใหม่หันกลับมาให้คุณค่ากับของเก่าแต่ยังเก๋าที่เรามีอยู่

อย่างเช่นตึกแถวเก่าอายุ 70 ปี ที่ดูธรรมดาดาษดื่นเหมือนตึกแถวทั่วไปในสามย่าน กลับเป็นที่ตั้งของคาเฟ่ Slow Bar อย่าง Labyrinth Café แล็บลิ้นน คาเฟ่ ร้านกาแฟอันมีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่มีใครเหมือน

Loft style

Labrinth Café หรือ แล็บลิ้นน คาเฟ่ อยู่ไม่ไกลจากสามย่านมิตรทาวน์ด้วยระยะทางราว 300 เมตร เป็นร้านกาแฟที่หากกวาดสายตามองผ่าน คุณจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่านี่เป็นร้านกาแฟ และเข้าใจไปว่าก็เป็นเพียงโกดังเก็บของเท่านั้น จนกว่าจะผลักประตูเหล็กบานใหญ่เข้าไปจึงจะพบกับโลกอีกใบ

ซึ่งคอกาแฟจะต้องปลาบปลื้มไปกับกาแฟดริปที่นำเข้าเมล็ดกาแฟแบบ Seasonal หายากและบางตัวก็หมดแล้วหมดเลย ให้คุณได้ลิ้มรสกาแฟรสชาติแปลกใหม่ไปพร้อมกับการเปิดความคิด รับเอาประสบการณ์ใหม่ ๆ จากนิทรรศการชั้นสองของร้าน

“เก้าอี้เรามีไม่เยอะ เพราะเราต้องการให้ลูกค้ามาทานกาแฟเสร็จแล้ว ก็จะได้ขึ้นไปชมนิทรรศการที่ชั้นสอง ซึ่งร้านกาแฟนี้ก็ได้รับคำชวนจากเจ้าของตึกที่ต้องการพัฒนาพื้นที่เก่าแก่อายุเกือบ 70 ปี ที่อยากให้ผู้คนได้รับรู้ประสบการณ์พื้นที่ตรงนี้มากขึ้น อยากให้เป็นพื้นที่ทางความคิด เราฟังคอนเซ็ปต์แล้วก็สนใจ อยากจะทำกาแฟให้ผู้คนได้รับประสบการณ์แบบนั้นบ้าง” วรัญญู มาลสุขุม หนึ่งในแก๊งเจ้าของร้านกล่าว

แบ่งปันรสชาติที่หลากหลายของกาแฟ

เดิมก่อนจะมี Labrinth Café ที่ตรงนี้เป็นหนึ่งในโครงการของ Shophouse 1527 อาร์ตสเปซสำหรับจัดแสดงนิทรรศการที่ตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อบอกเล่าเรื่องราวส่วนหนึ่งของพื้นที่สามย่าน โดยนำเอาความเก่าของตึกแถวนี้ที่เคยเป็นโรงกลึงเหล็กมาใช้แบบที่ไม่ลบไม่กลบรอยตำหนิใด เปิดโชว์ความเป็นมาและจิตวิญญาณของสถานที่อย่างเต็มเปี่ยม รวมถึงการแชร์ประสบการณ์ของบาริสต้าที่คอยแนะนำกาแฟที่ถูกจริตกับลูกค้าอย่างใส่ใจ

ซึ่ง Labrinth Café ก่อตั้งขึ้นมาด้วยความใส่ใจในการแชร์ประสบการณ์กาแฟให้กับลูกค้าจากคนทั้ง 3 ท่าน นอกจากวรัญญู แล้ว ก็ยังมี สิทธิเดช ตั้งสัมฤทธิ์กุล และณทพน จารุวัชระพน ช่างภาพแนวสตรีท เป็นการรวมกลุ่มคนหนุ่มที่มีแนวทางความคิดที่น่าสนใจต่อวงการกาแฟไม่น้อย

“การที่ทำเป็น Slow Bar ทำให้เราได้ Take Time กับลูกค้าได้ว่ากาแฟตัวนี้มาจากไหน โรงคั่วไหน เราใช้เมล็ดกาแฟต่างประเทศที่ดูเหมือนจะมีขายทั่วไป แต่สิ่งที่เราแตกต่างคืออยากให้มาตีความเมล็ดกาแฟด้วยกัน เราจะใช้ผลไม้ที่เจ้าของบ้านชอบทานมาทำ

Loft style

เช่น ผลไม้ เครื่องดื่ม อย่าง Black Magic เมนูซิกเนเจอร์ก็มาจากโอเลี้ยงกับลิ้นจี่ โดยใช้ตัวร้านรีเลทไปกับสถานที่ โดยนอกจากกาแฟ ทางร้านก็มีขนมเปี๊ยะไข่แดงลาวาให้ทานรองท้อง ความเค็มมันของขนมเปี๊ยะเข้ากันได้ดีกับกาแฟจนอยากให้ลอง

เราพยายาม Convince คนที่ทาน Classic Coffee ให้เปลี่ยนมาลองรับประสบการณ์กาแฟใหม่ ๆ เพราะรสชาติกาแฟมันมีมากกว่ารสขมและไหม้ ซึ่งเราตั้งใจทำทุกแก้ว และรับประกันเลยว่าบางแก้วไม่ใช่จะไปหาทานที่ไหนได้ง่าย ๆ เราเลยอยากให้ลอง เนื่องจากบางเมล็ดที่มา หมดแล้วหมดเลย บางตัวอาจจะเข้ามาอีก แต่ก็ไม่แน่นอน

ทุกคนในร้านอาจจะไม่ได้ทำกาแฟได้มาตรฐานเท่ากันทั้งหมด แต่นั่นแหละคือเสน่ห์ของกาแฟดริป มันสามารถยืดหยุ่นได้ เราสามารถคุยกับลูกค้าได้ว่าเขาชอบกาแฟรสชาติไหน” วรัญญูกล่าวด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการชิมกาแฟ ไปยังผู้คนที่แวะเวียนเข้ามาใน Labyrinth Café

Loft style

นอกจากกาแฟดี ๆ ที่หาทานยากแล้ว ยังมีโอกาสได้สัมผัสกับ ‘สามย่าน’ อีกแง่มุมด้วยนิทรรศการ Resonance of Lives at 1527 การสร้างพื้นที่แห่งเสียงสะท้อนในสภาพแวดล้อมของเมืองทำให้เกิดคำถามต่อสิ่งที่ก่อให้เกิดเสียงและการรวบรวมสะสมเรื่องเล่าเกี่ยวกับชุมชนที่ฉายภาพชีวิตที่เคลื่อนย้าย ที่หยิบเอาช่วงเวลา 24 เดือนของชาวสามย่านมาถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนด้วยภูมิทัศน์ของเสียง นับเป็นการได้เรียนรู้ความเป็นมาของพื้นที่นั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี

นอกเหนือจาก Labyrinth Café ก็ยังมีคาเฟ่และร้านอาหารอีกไม่น้อยที่ใช้อาคารเก่ามาเพิ่มมูลค่าธุรกิจ ซึ่งถือว่าเหมาะสมและตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการอะไรแปลกใหม่ มีความยูนีคไม่เหมือนใครและมีเอกลัษณ์ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีเรื่องราวในตัวของมันเองให้ได้เล่าต่อ

เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่ผู้บริโภคจะได้รับไปจากธุรกิจ อีกทั้งยังปลุกเร้าให้เกิดการเรียนรู้ในพื้นที่และประวัติความเป็นมาของตึกรามอาคารเก่าต่าง ๆ เพื่อคงความเก่าแก่อนุรักษ์ไว้ให้สืบต่อไป


Labrinth Café หรือ แล็บลิ้นน คาเฟ่

ที่ตั้ง : ถัดจากสามย่าน มิตรทาวน์ประมาณ 300 เมตร

: 1527 Rama IV Rd, Wang Mai, Phathum Wan District
Bangkok 10330

เปิดทำการ : 11.00 – 19.00 น. อังคาร – อาทิตย์

โทร : 099 145 9563

www.facebook.com/Labyrinth-Cafe-แล็บลิ้นน-คาเฟ่-

 

Loft style