กรดไหลย้อน

กรดไหลย้อน โรคยอดนิยมที่ไม่ได้เป็นแค่คนวัยทำงาน

ในยุคที่ทุกอย่างดำเนินไปด้วยความรวดเร็ว คนทำงานย่อมต้องปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิต เพื่อให้ตอบโจทย์กับธุรกิจและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าโดยไม่รั้งรอ สำหรับคนที่ปรับสมดุลไม่ทัน ก็อาจทำให้เกิดความเครียดและโรคภัยมากมายตามมา โดย 7 โรคภัยที่คนในวัยทำงานที่เจ็บป่วยกันอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โรคปลอกประสาทอักเสบ โรคเครียดลงกระเพาะ โรคความดันโลหิตูง ออฟฟิศซินโดรม โรคหัวใจ โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ และที่เราจะกล่าวถึงในวันนี้ก็คือ กรดไหลย้อน

 

 

กรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reux Disease : GERD)

กรดไหลย้อน เกิดจากน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปยังหลอดอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกรดในกระเพาะอาหาร หรือส่วนน้อยเกิดจากด่างในลำไส้เล็ก โดยอาจมีหรือไม่มีอาการของหลอดอาหารอักเสบก็ได้ ซึ่งในปัจจุบัน โรคนี้มีอัตราการพบผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยพบมากในวัยทำงานที่มีการดำเนินชีวิตอย่างเร่งรีบ ทำให้ละเลยการดูแลสุขภาพตัวเองไปเนื่องจากต้องโหมงานหนัก

 

โดยผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน จะมีอาการดังต่อไปนี้

1.เรอเปรี้ยว มีของเหลวรสเปรี้ยวหรือขม และอาจมีกลิ่น หรือรสขมของอาหารดันขึ้นมาที่คอ

2.แสบร้อนกลางหน้าอก อาจขึ้นมาถึงในลำคอ

3.อาการแย่ลงเมื่ออยู่ในท่าก้มต่ำ เอนหลัง หรือนอนราบ

4.มีอาการอื่น ๆ ร่วม เช่น เจ็บคอ มีกลิ่นปาก เสียงแหบ ไอเรื้อรัง ฟันผุกร่อน อาการทางระบบหายใจ

5.เจ็บหน้าอก จุกคล้ายมีอะไรติดหรือขวางอยู่บริเวณคอ ต้องพยายามกระแอมออกบ่อย ๆ

 

ซึ่งโรคกรดไหลย้อนสำหรับวัยทำงานนั้น มักมีสาเหตุมาจากมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เยอะ การสูบบุหรี่ รวมไปถึงผู้ที่รับประทานยาลดความดันโลหิต และยาแก้โรคซึมเศร้าบางตัว แต่ถึงอย่างนั้น โรคกรดไหลย้อนก็ยังสามารถพบได้ในทุกกลุ่มอายุ ไม่ใช่แค่เพียงกลุ่มคนวัยทำงานเท่านั้น โดยกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงเพิ่มเติม ได้แก่ สตรีที่ตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคผิวหนังแข็ง และผู้ป่วยโรคเบาหวาน

 

สำหรับเด็กนั้น สามารถพบว่าเป็นโรคกรดไหลย้อนได้ตั้งแต่วัยทารกจนถึงเด็กโต ซึ่งอาการที่พบบ่อย เช่น อาเจียนบ่อยหลังดูดนม โลหิตจาง น้ำหนักและการเจริญเติบโตไม่สมวัย ไอเรื้อรัง หอบหืด ปอดอักเสบเรื้อรัง ในเด็กบางรายอาจมีปัญหาการหยุดหายใจขณะหลับได้ หากบุตรหลานมีอาการดังกล่าว ควรพบแพทย์เพื่อตรวจและให้การรักษาทันที

 

กรดไหลย้อน
ขอบคุณข้อมูลรูปภาพจาก http://www.siphhospital.com/th/news/article/share/147

 

โดยสาเหตุของกรดไหลย้อนอาจไม่ได้มาจากการดำเนินชีวิตผิดวิธีเพียงอย่างเดียว กรดไหลย้อนสามารถเกิดได้จากความผิดปกติของหูรูดส่วนปลายหลอดอาหาร ที่ทำหน้าที่ป้องกันกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหาร มีความดันของหูรูดต่ำหรือเปิดบ่อยกว่าในคนปกติ ความผิดปกติเหล่านี้อาจเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคหอบหืดบางตัวเช่นกัน

 

หรือไม่ก็อาจเกิดจากความผิดปกติในการบีบตัวของหลอดอาหาร ทำให้อาหารที่รับประทานลงช้า หรืออาหารที่ไหลย้อนขึ้นมาจากกระเพาะอาหารค้างอยู่ในหลอดอาหารนาน

 

รวมไปถึงความผิดปกติของการบีบตัวของกระเพาะอาหาร ทำให้อาหารค้างอยู่ในกระเพาะนานกว่าปกติ ทำให้เพิ่มโอกาสการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหารสู่หลอดอาหารมากขึ้น อาหารประเภทไขมันสูงและช็อคโกแลตจะทำให้กระเพาะอาหารบีบตัวลง

 

ทางออกสำหรับวัยทำงานที่กำลังเผชิญกับความทรมานจากอาการกรดไหลย้อน สามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตใหม่ โดยการระมัดระวังน้ำหนักตัวไม่ให้เกินมาตรฐานหรืออ้วนเกินไป หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม น้ำผลไม้ หรืออาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด รวมถึงอาหารไขมันสูงและช็อคโกแลต

อาหารที่คนเป็นกรดไหลย้อนควรหลีกเลี่ยง

1.อาหารไขมันสูง เช่น อาหารทอด ๆ อาหารมัน ฟาสต์ฟู้ด อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น กะทิ นม เนย ชีส ไอศกรีม หรือไขมันจากเนื้อสัตว์ เป็นต้น เนื่องจากไขมันจากอาหารเหล่านี้จะไปรวมกับกรดในกระเพาะ ทำให้เกิดอาการจุก แน่น หรือร้อนที่กลางอกได้

2.อาหารที่มีแก๊สมาก ทั้งน้ำอัดลม ชา กาแฟ โซดา เครื่องดื่มชูกำลัง อาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด อาหารรสเผ็ดจัด และถั่ว เพราะเป็นอาหารที่กระตุ้นการสร้างน้ำย่อยมากขึ้น

3.น้ำส้มสายชู ซึ่งเป็นเครื่องปรุงรสที่มีกรดมาก ดังนั้นผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนไม่ควรเติมน้ำส้มสายชูลงในอาหาร เพราะจะเป็นการเพิ่มกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้นไปอีก

4.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็น เบียร์ สุรา ไวน์ ค็อกเทล หรือเครื่องดื่มที่ผลมแอลกอฮอล์ทุกชนิด คนเป็นกรดไหลย้อนควรเลี่ยงให้ไกล เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้มีฤทธิ์กระตุ้นให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารเปิดออก ทำให้กรดจากกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับไปที่หลอดอาหารได้ง่าย

5.ผลไม้ที่มีกรดมาก เช่น ส้ม องุน มะนาว เลมอน มะเขือเทศ สับปะรด หรือแม้กระทั่งน้ำผลไม้รสเปรี้ยวจัด และซอสมะเขือเทศก็ควรเลี่ยงเช่นกัน

6.ผักที่มีกรดแก๊สมาก เช่น หอมหัวใหญ่ดิบ กระเทียม พริก พริกไทย หอมแดง เปปเปอร์มินท์ หรือสะระแหน่ รวมทั้งผักดิบทุึกชนิดก็ไม่ควรรับประทาน เพราะผักเหล่านี้จะไปเพิ่มกรดแก๊สในกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดการแสบร้อนกลางอก

7.อาหารหมักดอง อย่างเช่น ปลาร้า หน่อไม้ดอง ผักกาดดอง ผลไม้ดอง ผลไม้แช่อิ่ม กิมจิ ซูชิบางชนิดที่มีผักดอง ล้วนมีส่วนในการเพิ่มแก๊สในกระเพาะอาหาร ก่อให้เกิดอาการจุกเสียดแน่นท้องได้

8.อาหารเสริมไขมันสูง รู้หรือไม่ว่าน้ำมันตับปลา สารสสกัดจากกระเทียม วิตามินอี และวิตามินซี ถือว่าเป็นอาหารเสริมไขมันสูงที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับคนเป็นกรดไหลย้อน เพราะจะไปเพิ่มกรดในกระเพาะอาหาร

9.หมากฝรั่ง เนื่องจากการเคี้ยวหมากฝรั่งเป็นการเพิ่มน้ำลาย ทำให้เราต้องกลืนน้ำลายลงท้องมากขึ้น เท่ากับจะได้กลืนลมลงกระเพาะอาหารมากขึ้นไปด้วย ดังนั้นคนเป็นกรดไหลย้อนจึงไม่ควรเคี้ยวหมากฝรั่งบ่อย ๆ 

อีกทั้งการลดการดื่มสุราและการสูบบุหรี่ให้น้อยลง และไม่ควรนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร โดยควรเว้นระยะเวลาอย่างน้อย 3-4 ชั่วโมง หลังจากทานอาหารเสร็จเพื่อให้อาหารย่อยแล้วจึงค่อยนอน ที่สำคัญคือพยายามออกกำลังกายสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงความเครียด

ข้อห้ามในการรับประทานอาหารของคนเป็นกรดไหลย้อนเยอะขนาดนี้ แล้วอะไรบ้างที่คนป่วยกรดไหลย้อนควรกินบ้าง?

สิ่งที่ดีต่อสภาพร่างกายของคนป่วยเป็นกรดไหลย้อนก็คือ

1.อาหารไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลา ไก่ ไข่ขาว นมไขมันต่ำ หรือน้ำเต้าหู้ก็ดื่มได้

2.อาหารไฟเบอร์สูง จะช่วยให้ย่อยง่าย เช่น ธัญพืช โฮลวีท โฮลเกรน เป็นต้น

3.ผลไม้ที่เหมาะกับคนเป็นกรดไหลย้อน ก็คือ กล้วย แตงโม แคนตาลูป แอปเปิล พีช ลูกแพร์ อะโวคาโด หรือผลไม้ที่มีรสหวานชนิดอื่น ๆ

4.น้ำขิง เป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อน ช่วยขับลม ช่วยย่อย กระตุ้นการทำงานของลำไว้ ลดอาการท้องอืด และอาการกรด-แก๊สในกระเพาะเกินได้

สำหรับในกรณีที่ผู้ป่วยรักษาด้วยยาเป็นเวลานานแล้ว และไม่สามารถควบคุมอาการหรือหยุดยาได้ หรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานยาเป็นเวลานาน และมีผลข้างเคียงจากยา สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด ทั้งนี้ หากเริ่มมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น การรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจร่างกาย จะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในสำหรับการดูแลรักษา ไม่ควรปล่อยให้ป่วยจนเรื้อรังหรือหาซื้อยาทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ

 

กรดไหลย้อน
ขอบคุณข้อมูลรูปภาพจาก https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/

 

เมื่อได้รู้สาเหตุที่มาและการรักษาอาการของโรคกรดไหลย้อนแล้ว อย่าลืมปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตให้ห่างไกลจากโรค รักษาสุขภาพที่ดีของตนเอง เพื่อให้สามารถบริหารจัดการธุรกิจและหน้าที่การงาน ให้ก้าวทันกับเทคโนโลยี และยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วอย่างเต็มศักยภาพนะคะ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

โรงพยาบาลศิริราช

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

และ อ.นพ. ปิยะพันธ์ พฤกษพานิช

 

 

ขอบคุณรูปประกอบ

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

 https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/

โรงพยาบาลศิริราช

http://www.siphhospital.com/th/news/article/share/147

 

ติดตามอ่านข้อมูลข่าวสารน่ารู้เพิ่มเติมได้ที่

www.thebusinessplus.com


GERD