Sustainable Development

Sustainable Development ทางออกธุรกิจไทย

ทุกวันนี้ Sustainable Development หรือการพัฒนายั่งยืน นั่นหมายถึงสามารถสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่กระทบต่อขีดความสามารถในการสนองความต้องการที่จำเป็นของคนรุ่นใหม่

คำกล่าวของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ในงานมอบรางวัล Thailand Top Company Awards 2016 ที่กล่าวเริ่มต้นจากการทำลายธรรมชาติโดยมนุษย์ ทำให้สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ภาวะ Climate Change ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ จนผู้คนทั่วโลกตื่นตัวหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม และรณรงค์ให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

เพื่อส่งต่อโลกที่ดีให้กับคนรุ่นหลังได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข สหประชาชาติ (UN) ออกโรงปกป้องสิ่งแวดล้อม จุดประกายความคิดในงานประชุม Earth Summit ณ กรุงริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี

เริ่มต้นระดมความคิดจากนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ สื่อมวลชน และประชาชนทั่วโลก เพื่อเฟ้นหาคำตอบของคำถามที่ว่า “โลกของเราจะ Sustainable ได้อย่างไรบ้าง ? ”

กระทั่งเกิดต้นกำเนิดของคำว่า Sustainable Development ในรายงาน Brundland Report เสนอต่อที่ประชุมสหประชาชาติในปี 1987 ด้วยคำนิยามสั้น ๆ ไว้ว่า Our Future หรือหมายถึง “อนาคตของโลกใบนี้”

Sustainable Development
ภาพวาดในรายงาน Brundtland Report จากเว็บไซต์ brundtlandreport.blogspot.com

Sustainable Development  คือ ? 

ในเวลาต่อมา ค.ศ. 2000 ทางสหประชาชาติก็ยังคงเดินหน้าหาทางออกอย่างต่อเนื่อง โดยระดมไอเดียจากนักคิดชั้นนำ กับโจทย์ที่ว่า “เราจะร่วมกันกำหนดแนวทางพัฒนาโลกใบนี้อย่างไร”

พร้อมกับร่างแผนพัฒนา New Millionaires Development Gold (MDG 8) ระหว่างค.ศ.  2000-2015 กำหนดทิศทางการพัฒนาหลากหลายด้าน แต่ปรากฏว่านี่ก็ยังไม่ตอบโจทย์ เพราะแผนพัฒนา MDG 8 ยังสอบตกหลายข้อ !

ยกตัวอย่าง ‘เรื่องสันติภาพ’ พบว่าระหว่าง 2-3 ปีที่ผ่านมา ภัยก่อการร้ายร้อนระอุไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ย่านราชประสงค์ในเมืองไทย ที่ต้องพบกับเรื่องราวที่ไม่คาดฝันไปด้วย ซึ่งสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้คนเป็นอย่างมาก

ในอดีต สงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ทุกฝ่ายรบกันด้วยความเป็นสุภาพบุรุษ มีการประกาศอย่างชัดเจนว่ามีพื้นที่ War Zone ตรงไหน เมื่อไหร่ แต่ทุกวันนี้การก่อการร้ายในโลกไม่มีกติกา ซึ่งจะเกิดที่ไหนก็ได้ เวลาไหนก็ได้ เมืองไหนก็ได้ ประเทศไหนก็ได้ นี่คือความแตกต่างที่เห็นได้ชัด !

 

ประเด็นที่น่ากังวล คือ แม้กระทั่งเลขาธิการสหประชาชาติอย่าง บันคีมุนยังไม่สามารถห้ามได้ แล้วใคร ? ที่จะสามารถหยุดยั้งเหตุร้ายนี้ได้ เพราะหากเราไม่สามารถปรองดองกันได้ ก็ไม่มีใครสามารถหยั่งรู้ว่า “เรื่องนี้จะจบลงเมื่อไหร่? ”

ขณะเดียวกัน ฝั่งทรัพยากรธรรมชาติก็ร่อยหรอเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ บวกกับภูมิอากาศที่ถูกบิดเบือน เนื่องจากฝีมือของมนุษย์ กว่า 99% ! แสดงให้เห็นว่าแผนพัฒนาชุด New Millionaires Development Gold ทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

เมื่อพบว่าแผนพัฒนาชุดเก่าไม่สามารถตอบโจทย์ได้อีกต่อไป เพื่อกอบกู้โลกใบนี้อีกครั้ง เดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา (2015) สหประชาชาติจัดประชุม General Assembly ณ กรุงนิวยอร์ค นำแนวคิดเก่ามาปัดฝุ่น ภายใต้ชื่อใหม่ว่า Sustainable Development Goals (SDG)

โดยร่างกติกาขึ้นมาใหม่ วาง ‘17 เป้าหมายหลักแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน’ โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีของความเป็นคนเป็นหลัก กระจายความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียม รวมทั้งแก้ปัญหาเรื้อรังอื่น ๆ ซึ่งแผนนี้จะถูกนำมาใช้ในระหว่างปี 2016-2030

17 เป้าหมายหลัก : วาระการพัฒนาที่ยั่งยืนแบบ  Sustainable Development 

 Sustainable Development

  1. ความยากจน
  2. ความหิวโหย
  3. สุขภาวะ
  4. การศึกษา
  5. ความเท่าเทียมทางเพศ
  6. น้ำ และการสุขาภิบาล
  7. พลังงาน
  8. เศรษฐกิจและการจ้างงาน
  9. โครงสร้างพื้นฐานและการปรับให้เป็นอุตสาหกรรม
  10. ความเหลื่อมล้ำ
  11. เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์
  12. แบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
  13. การเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ และผลกระทบ
  14. ทรัพยากรทางทะเล
  15. ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ
  16. สังคมและความยุติธรรม
  17. หุ้นส่วนความร่วมมือและการปฏิบัติที่ได้ผล

แหล่งที่มา : หนังสือ Thailand’s SUSTANINABLE DEVELOPMENT Source, edm, 2015

และสำหรับทางออกของปัญหาที่นำพาความยั่งยืนมาสู่สังคมโลก นักธุรกิจชั้นนำสามารถหยิบยกเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาทำกิจกรรม CSR ช่วยเหลือโลกของเราให้น่าอยู่ โดยสามารถลงมือผลักดันโครงการได้ทันทีแบบไม่ต้องรอ

 

‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ฮีโร่ตัวจริง 

ขณะที่ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ ภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว น้ำแล้ง น้ำท่วม รวมถึงภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นทั่วโลก คำถามคือ “ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ บริษัทของเราจะยั่งยืนได้แค่ไหน ? ”  

และถ้าต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตอีกครั้ง เราจะทำอย่างไรให้บริษัทมีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็ง พร้อมเผชิญหน้ากับปัญหา นี่เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาให้ดี

อีกหนึ่งซูเปอร์ฮีโร่ที่ช่วยกอบกู้โลกอย่าง ‘ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง’ หรือ Sufficiency Economy Philosophy ปรัชญาในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งพระราชทานให้แก่ปวงชนชาวไทย เมื่อปี 2540 เพื่อเป็นแนวทางดำรงชีวิตในยุคเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง

หากย้อนไปเมื่อปี 2540  รัฐบาลไทยปล่อยค่าเงินบาทลอยตัว ทำให้ค่าเงิน 1 ดอลลาร์พุ่งพรวด จาก 25 บาทไปเป็น 50 บาท ทำให้ผู้ประกอบการเป็นหนี้ทีเดียวเกือบเท่าตัว หลาย ๆ คนได้ตัดสินใจจบชีวิต เนื่องจากโรงงานปิด ไม่มีที่ไป

ดังนั้น ปรัชญาของในหลวงเมืองไทย จึงเป็นอีกกลยุทธ์และทางออกที่ทำให้คนไทยสามารถรับมือกับวิกฤตได้ อีกทั้ง สามารถปรับใช้ได้ทั้งในครอบครัว ชุมชน องค์กรบริษัท รวมถึงประเทศได้เป็นอย่างดี

 

Business+ 325

 

 

ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ในนิตยสาร Business+ ฉบับเดือนมีนาคม 2559 หรือคลิกที่นี่