คุยกับ ณัฐวุฒิ ปิ่นทองคำ แห่งอินเตอร์ลิ้งค์ กับเป้าหมายขยายตลาดสายสัญญาณในยุค 4.0 ให้เติบโต

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน หากพูดถึงสายสัญญาณคงดูเป็นเรื่องไกลตัวผู้บริโภค ในยุคนั้นตลาดจึงมีขนาดเล็กและยังเป็นตลาดเฉพาะกลุ่มเท่านั้น แต่ “ณัฐวุฒิ ปิ่นทองคำ” นักการตลาดที่คร่ำหวอดในวงการไอทีมายาวนาน

เขาเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการบุกเบิกตลาดสายสัญญาณให้เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากกลุ่มผู้บริโภคอย่างมาก จนสร้างการเติบโตให้กับตลาดมาอย่างต่อเนื่องและยังทำให้แบรนด์ LINK ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดจวบจนถึงปัจจุบัน

แต่ในยุคที่ทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล โดยเฉพาะการมาของ Internet of Things และ Big Data ส่งผลให้ทิศทางตลาดสายสัญญาณในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาปรับเปลี่ยนไปอย่างมาก ทั้งรูปแบบการใช้งานและคู่แข่งหน้าใหม่ที่เข้ามาตลอดเวลา ทำให้แบรนด์ผู้นำตลาดอย่าง LINK จึงต้องหาแนวรุกใหม่ ๆ ซึ่งกลยุทธ์รับมือของ LINK ในสมรภูมินี้จะเป็นอย่างไร Business+ ได้นัดพูดคุยแบบ Exclusive กับ “ณัฐวุฒิ ปิ่นทองคำ” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและสื่อสารองค์กร บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสายสัญญาณ LINK เพื่อค้นหาคำตอบไปพร้อม ๆ กัน

ตลาดเปลี่ยน เราต้องปรับ

โดย ณัฐวุฒิ เปิดฉากเล่าให้ฟังถึงภาพรวมตลาดสายสัญญาณในยุคปัจจุบันว่า หากมองในแง่ Functional Benefit อาจไม่ต่างไปจากเดิมมากนัก แต่ในแง่การรับรู้และการแข่งขันของตลาด นับว่าเปลี่ยนไปจาก 10 ปีที่ผ่านมาค่อนข้างมาก จากเดิมเมื่อพูดถึงสายสัญญาณ ผู้บริโภคนึกไม่ออกว่าจะนำไปใช้งานอะไร เพราะเป็นอุปกรณ์หลังบ้านที่คนใช้ไม่ได้ซื้อ คนซื้อไม่ได้ใช้ แต่วันนี้ผู้บริโภคมองเห็นภาพและเข้าใจในการใช้งานสายสัญญาณมากขึ้น

“ในอดีตเราใช้สาย LAN เพื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต แต่ปัจจุบันสาย LAN ถูก Adapt ใปใช้ในงานหลากหลายขึ้น ทั้งในกล้องวงจรปิดและระบบโทรศัพท์ในอาคาร เกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ตลาดสายสัญญาณจึงเติบโตทุกปีเฉลี่ย 14-15% ต่อปี แต่ในช่วง 2-3 ปีหลัง จากการสำรวจของ สวทช. และหลายหน่วยงานพบว่า ตลาดเติบโตในอัตราที่ลดลงเหลือเพียงตัวเลขหลักเดียว เพราะการแข่งขันด้านราคารุนแรง ทำให้ราคาเฉลี่ยของสายสัญญาณลดลง”

แม้จะคลุกคลีอยู่ในแวดวงไอทีมายาวนาน ทั้งยังต้องเผชิญกับการสร้างตลาดและการแข่งขันอย่างหนักหน่วงมามากมาย แต่ณัฐวุฒิ กลับยอมรับว่า ปีนี้เป็นปีที่ยัง “ท้าทาย” และ “เหนื่อย” ปีหนึ่งทีเดียว

โดยให้เหตุผลว่า เป็นเพราะธุรกิจสายสัญญาณซึ่งเป็นไอที อินฟราสตรัคเจอร์ มีความต่างจากธุรกิจไอที คอนซูเมอร์สิ้นเชิง โดย Life Cycle ในการซื้อสินค้าไอที คอนซูเมอร์จะสั้นกว่าอุปกรณ์สายสัญญาณ อีกทั้งเป้าหมายของบริษัทที่ต้องเติบโตทุกปี ขณะที่ภาพรวมตลาดอยู่ในภาวะอิ่มตัว แต่การแข่งขันของตลาดกลับเพิ่มสูงขึ้นโดยมีหลายแบรนด์เข้ามารุกทำตลาดและห้ำหั่นด้วยราคาอย่างหนัก

“ที่ผ่านมาเราพยายามสื่อสารให้ผู้บริโภคตื่นตัวและเห็นความสำคัญในการใช้สายสัญญาณ ซึ่งก็เป็นทั้งวิกฤตและโอกาส เพราะผลที่เกิดขึ้นคือ ผู้บริโภครับรู้มากขึ้น แต่ก็เกิดคู่แข่งขันมากขึ้น และเมื่อแข่งถึงจุดหนึ่งก็มักจะใช้ราคามาทำตลาด”

ณัฐวุฒิ บอกถึงโจทย์ท้าทายของอินเตอร์ลิ้งค์ในยุค 4.0 พร้อมกับอธิบายให้ฟังถึงกลยุทธ์การรุกตลาดนับจากนี้ว่า ในด้านผลิตภัณฑ์ จากเดิมที่มุ่งขายเพียงสายสัญญาณซึ่งเป็นอุปกรณ์นำสัญญาณอย่างเดียว แต่ต่อไปอินเตอร์ลิ้งค์จะนำอุปกรณ์ส่งสัญญาณเข้ามาทำตลาดเพิ่มขึ้น โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้เริ่มนำ PoE SWITCH ซึ่งเป็นตัวกระจายสัญญาณและไฟบนสาย LAN เส้นเดียวเข้ามาทำตลาด และในครึ่งหลังมีแผนจะนำเข้ามาทำตลาดมากขึ้น

“ถือเป็นการพลิกโฉมครั้งสำคัญของเรา เพราะเป็นครั้งแรกที่เราทำตลาดอุปกรณ์ส่งสัญญาณ เนื่องจากในอนาคตอุปกรณ์ดังกล่าวจะตอบรับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากการมาของเทรนด์ Internet of Things และ Big Data ขณะเดียวกันก็จะช่วยให้พอร์ตสายสัญญาณของเราขยายตัวและเติบโตเพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้า 3 ปี ยอดขายของ PoE SWITCH จะมีสัดส่วน 10-15% ส่วนสายสัญญาณเราพยายามเมนเทนให้เติบโตไปเรื่อย ๆ”

ลุย Digital Market สร้าง Brand LINK

นอกจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ตอบโจทย์กับตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว กลยุทธ์การทำตลาดของอินเตอร์ลิ้งค์ ยังปรับรูปแบบเข้มข้นขึ้นด้วย โดยจะมุ่งสร้างการรับรู้ Brand อินเตอร์ลิ้งค์ให้เป็นรับรู้กับผู้บริโภคทุกกลุ่มตั้งแต่ B2B ไปจนถึง End User โดยเฉพาะในกลุ่ม End User เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มขยายการใช้งานสายสัญญาณมากขึ้น

โดยใช้สิ่งที่เป็นจุดแข็งของบริษัทคือ คุณภาพสายสัญญาณที่แตกต่าง และ การบริการที่เหนือกว่า เป็นตัวชูโรงในการสื่อสารถึงผู้บริโภค เพื่อให้เกิด Customer Experience และเมื่อผู้บริโภคนึกถึงสายสัญญาณจะคิดถึงแบรนด์ LINK มากขึ้น

“เราวาง Position ชัดเจนเป็นสินค้าพรีเมียมแบรนด์ เราจะไม่ลงมาสู้กับตลาดล่าง เพราะถ้าแข่งเรื่องราคา พอถึงจุดหนึ่ง ก็มีแต่ตาย เราจะขายความเป็นเทคโนโลยี และพยายาม Educate คนให้ตระหนักถึงความสำคัญของคุณภาพเพราะเมื่อคนเข้าใจ จะเลือกซื้อสายสัญญาณอย่างถูกต้อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและทำต่อเนื่อง”

สำหรับวิธีการที่ณัฐวุฒิเลือกใช้เพื่อ Educate ตลาด จะผสานทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ โดยมีทั้งการจัดกิจกรรมฝึกอบรม ทั้งยังร่วมกับสมาคมเคเบิ้ลลิ่งไทย สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงานร่างมาตรฐานผู้ติดตั้งระบบและสัญญาณ และสร้างบุคคลากรในสายงานนี้ นอกจากนี้ยังร่วมกับสถาบันการศึกษาจัดโครงการแข่งขัน Cabling Contest เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ให้นักศึกษาทั่วประเทศได้พัฒนาทักษะฝีมือและแลกเปลี่ยนความรู้ในเทคโนโลยีสายสัญญาณที่มีในปัจจุบัน

โดยผู้ชนะการแข่งขันจะได้เป็นตัวแทนของประเทศไทย เพื่อไปแข่งขันทักษะฝีมือแรงงานระดับอาเซียน หรือ World Skill Asian ซึ่งจะจัดแข่งขันทุก ๆ 2 ปี และในปี 2561ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในการแข่งขัน พร้อมทั้งตั้งเป้าภายใน 1-2 ปีจากนี้ มีแผนจะต่อยอดสร้างสถาบันทางด้านสายสัญญาณเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านนี้ป้อนเข้าสู่ตลาด

ส่วนกระบวนการทำ Digital Marketing นั้น ณัฐวุฒิ บอกว่า ในปีนี้อินเตอร์ลิ้งค์จะโฟกัสมากขึ้น หลังนำร่องเป็นช่องทางในการสื่อสารและตอบปัญหาให้ลูกค้าแบบเรียลไทม์ 24 ชั่วโมง จนสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้ามากขึ้น ปีนี้จะเดินหน้ารุกสร้างความรู้และเข้าใจผ่านช่องทาง Online Channel ทั้ง YouTube, Info Graphic, Content Story และการทำวิดีโอ เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ที่เปลี่ยนไป โดยตั้งเป้าในสิ้นปีจะมีแฟนเพจ 1 แสนราย จากปัจจุบันที่มีอยู่ 30,000 ราย ส่วนไลน์ตั้งเป้า 20,000 ราย

นับเป็นการขยับที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว เพื่อให้เท่าทันกับการเปลี่ยนไปแบบก้าวกระโดดที่กำลังเกิดขึ้นเพื่อให้ “LINK” ยังคงครองใจผู้บริโภคอย่างเหนียวแน่นยาวนานในโลกของสายสัญญาณต่อไป