Zenya ขอเติบใหญ่ใน CLMC

CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) อาจเป็นเป้าหมายเจาะตลาดของนักธุรกิจไทย แต่สำหรับบริษัท ที.เอ.ซี.คอนซูเมอร์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายชาเขียวพร้อมดื่มแบรนด์ Zenya (เซนย่า) กลับมองไปตลาดที่ใหญ่กว่า นั่นคือ CLMC (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และจีน)

 


การเพิ่มขึ้นของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของเศรษฐกิจกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง 4 ปีที่ผ่านมา ตอกย้ำให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ทำให้รัฐบาลกัมพูชายิ่งพยายามเอื้อสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อให้เกิดการลงทุนจากต่างชาติมากกว่าเดิม

บริษัท ที.เอ.ซี.คอนซูเมอร์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องดื่มชาเขียวของไทย เป็นหนึ่งในตัวอย่างของนักลงทุนจากไทยที่เข้าปักฐานธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2551 ซึ่ง Zenya แบรนด์ชาเขียวที่บรรจุขวดในสีสันสดใส ปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างสูงในกลุ่มผู้บริโภคชาวกัมพูชา

Zenya วางตำแหน่งทางการตลาดในกลุ่ม Healthy drinks ซึ่งจุดกำเนิดของแบรนด์นี้ เกิดจากการรวมตัวของผู้บริหารมืออาชีพจากสินค้าคอนซูเมอร์ชื่อดังอย่างเซเรบอส และโคคา-โคล่า เพื่อบุกเบิกธุรกิจในฐานะนักธุรกิจหน้าใหม่ โดยมี ชัชชวี วัฒนสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ที.เอ.ซี.คอนซูเมอร์ จำกัด ชายผู้ซึ่งบอกกับตัวเองเสมอว่า “เราต้องไม่เป็นมือปืนรับจ้างตลอดไป”

ชัชชวี สั่งสมชั่วโมงบินจากผู้บริหารระดับสูงในธุรกิจอุปโภค-บริโภค เกือบ 10 ปี ก่อนยกหูโทรศัพท์ไปหาเพื่อนที่อยู่กรีนสปอตและโคคา-โคล่าให้ออกมาสร้างอนาคตร่วมกัน

ชัชชวี คือ Start up เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว จับธุรกิจตัวแรกคือ เครื่องดื่มประเภทโถกด (Dispenser) จำหน่ายใน 7-11 ก่อนจะแตกไลน์ธุรกิจมาสู่กลุ่ม Healthy drinks ซึ่งแบรนด์ตัวแรกก็คือ Zenya

ผู้ประกอบการหน้าใหม่อย่างชัชชวี ในสนามธุรกิจกลุ่มชาเขียว แม้จะวาง Position ในกลุ่ม Healthy drinks แต่วัตถุดิบก็มาจากชาเขียว ที่หนักกว่านั้นต้องแข่งขันกับคู่แข่งเกือบ 40 แบรนด์ที่วางขายในไทย ผลคือ ยอดขายไม่ได้เป็นไปตามที่ประเมินไว้ ทำให้ต้องปรับทิศทางธุรกิจใหม่

“ตอนนั้นธุรกิจในกลุ่มนี้กำลังจะเป็น Red Ocean เราควรจะหาสนามรบใหม่ ที่เราจะมีโอกาสในการชนะ” ชัชชวี กล่าว

การถอนสมอออกจากสนามรบที่แข่งขันรุนแรงในไทย และพุ่งเป้าไปยังเพื่อนบ้านอาเซียนอย่างกัมพูชา สปป.ลาว สิงคโปร์ และล่าสุดคือจีน ทำให้ยอดขายของบริษัทดูดีขึ้น

Consumer 02

ยุทธศาสตร์ของชัชชวีได้ผล หลังกระแสตอบรับในต่างแดนดีขึ้น และนั่นทำให้เห็นตัวเลขการเติบโตแบบพุ่งไม่หยุด โดยเฉพาะตลาดกัมพูชา แบรนด์สินค้า Zenya ขึ้นเป็นผู้นำในตลาดชาเขียวพร้อมดื่มไปแล้ว

กลยุทธ์ที่ผลักดันให้แบรนด์ Zenya ประสบความสำเร็จในประเทศกัมพูชา คือ การทำตลาดเครือข่ายและมีช่องทางการกระจายสินค้าที่แข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อ ยี่ปั๊ว โมเดิร์นเทรด

สิ่งสำคัญการวางคาแรกเตอร์ของแบรนด์ให้เป็นชาพร้อมดื่ม สีที่ดึงดูดผู้บริโภคในท้องถิ่น พร้อมจับกระแสเกาหลี หรือ K-POP ผ่านแคมเปญโฆษณา จัดโปรโมชัน หรือแม้แต่สร้างแบรนด์ผ่านเครือข่ายโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook คือ กุญแจสำคัญที่ทำให้แบรนด์ Zenya ครองเบอร์ 1 ในธุรกิจเครื่องดื่มชาเขียวที่มีมูลค่าตลาดราว 600 ล้านบาทต่อปี

“กลุ่มเป้าหมายหลักเราคือ วัยรุ่น ซึ่งการที่เราจะชนะใจพวกเขา เราต้องรู้ Insight แต่เหนืออื่นใด การสร้าง brand equity ด้วย brand position ที่ว่า “Super Power from Super Fruit” คือ การมอบ Experience จากการตลาดแบบ 360 องศา นั่นคือ จุดสำเร็จของเราในตลาดกัมพูชา” …

วิทยา กิจชาญไพบูลย์

—– ติดตามบทความทั้งหมดได้ที่ นิตยสาร Business+ June 2015 Issue 316 —-