ฝ่าวิกฤตแรงงาน

แน่นอนว่าหลังจากเปิดประชาคมอาเซียน (AEC) จะช่วยสร้างโอกาสให้กับธุรกิจแล้ว แต่ด้วยความแตกต่างทางเศรษฐกิจของสมาชิกย่อมก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีประสิทธิภาพไปสู่ค่าจ้างที่ดีกว่า  

นี่เป็นประเด็นท้าทายที่ภาครัฐและผู้ประกอบการจะต้องหาทางรับมืออย่างเร่งด่วน

รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข ศศินทร์ จุฬาฯ
รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข ผู้อำนวยการหลักสูตรการบริหารบุคคล สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


แม้การเคลื่อนย้ายแรงงานเข้า-ออกระหว่างประเทศจะไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะได้เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลากว่าสิบปีแล้วก็ตาม แต่เมื่อก้าวเข้าสู่อาเซียนเมืองไทยจะต้องเตรียมมาตรการรองรับความต้องการแรงงานในระยะยาว

นั่นเป็นเพราะแรงงานทุกระดับโดยเฉพาะช่างฝีมือ และแรงงานที่มีทักษะความเชี่ยวชาญสูงได้เดินทางออกไปหารายได้ที่ดีกว่าในต่างประเทศมาระยะหนึ่งแล้ว

ขณะที่มุมมองของนักวิชาการด้านบริหารงานบุคคลอย่าง รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข ผู้อำนวยการหลักสูตรการบริหารบุคคล สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า แรงงานไทยพวกช่างฝีมือของบ้านเราเป็นที่ต้องการของต่างชาติ เช่น สิงคโปร์ ประเทศแถบตะวันออกกลาง ไต้หวัน มานานแล้ว

สำหรับแรงงานเชิงคุณภาพระดับผู้บริหารชั้นต้นและระดับกลางองค์กรไทยก็ค่อนข้างขาดแคลนเช่นกัน  แต่สถานการณ์ยังไม่เข้าขั้นวิกฤตเท่ากับการขาดแคลนช่างฝีมือ

ตรงข้ามกันแรงงานเชิงปริมาณหรือแรงงานระดับล่างนับล้านชีวิตจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมาร์ สปป.ลาว และกัมพูชา ก็เลือกมาทำงานในไทยเช่นกัน โดยจะอยู่ในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง ภาคการเกษตร และภาคธุรกิจบริการเป็นส่วนใหญ่

แต่ถ้าอาเซียนเริ่มต้นอย่างเป็นทางการ และมีเม็ดเงินไหลเข้าไปลงทุนในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในอนาคตแรงงานกลุ่มนี้มีแนวโน้มย้ายกลับบ้าน ซึ่งจะส่งผลให้ไทยอาจจะขาดแคลนแรงงานระดับล่างมากยิ่งขึ้น

เห็นได้ว่า ภาวะการขาดแคลนแรงงานของไทยในทุกระดับ อาจทำให้ประเทศไทยมีความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการลดลง และยังทำให้นักลงทุนต่างชาติหันไปลงทุนในประเทศอื่นที่มีแรงงานเชิงคุณภาพและมีแรงงานเชิงปริมาณที่มีมากกว่า

จากแนวโน้มดังกล่าว นักวิชาการศศินทร์ ประเมินว่า อีก 3 ปีข้างหน้าเมืองไทยจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน ทั้งปริมาณและคุณภาพขั้นรุนแรงในทุกระดับ

นั่นเป็นเพราะแรงงานไทยมีคุณภาพระดับปานกลางเท่านั้น แต่ในแง่ปริมาณและคุณภาพแรงงานไทยยังไม่พร้อม

ประกอบกับเมืองไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 และปัจจุบันมีอัตราส่วนประชากรไทยอายุมากกว่า 60 ปีมากถึง 10.5% ซึ่งตัวเลขข้างต้นใกล้เคียงกับสถิติของ Goldman Sachs ที่คาดการณ์ว่า ภายในปี พ.ศ.2593 ทั่วโลกจะมีสัดส่วนประชากรสูงอายุ (มากกว่า 65 ปี) เกิน 20% โดยเมืองไทยจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากถึง 25%

ข่าวร้ายคือเมืองไทยจะกลายเป็นประเทศที่มีแรงงานสูงวัยมากขึ้นและมีแรงงานหนุ่มสาวน้อยลง !!

เพื่อให้ชาติสามารถแข่งขันได้ในระยะยาว ทางออกของวิกฤตนี้ นักวิชาการศศินทร์ แนะนำว่า รัฐต้องบริหารบุคลากร พัฒนาคนอิงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ ในขณะที่นายจ้างและสถาบันการศึกษาก็ต้องร่วมมือกันปรับปรุงฝึกอบรมคนให้มีความสามารถในการทำงานไปพร้อมๆ กัน

 

กนกวรรณ จันทร

 ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เว็บไซต์ constructionweekonline