Wellness Tourism เทรนด์ใหม่ของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์

แม้ว่าตลาด Medical Tourism จะยังคงเป็นตลาดที่น่าสนใจและมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่อง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทย อาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น

โดยเฉพาะคู่แข่งที่น่าจับตามองอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย และเกาหลีใต้ ซึ่งต่างก็ตั้งเป้าที่จะเป็นผู้นำตลาด Medical Tourism เช่นเดียวกัน จึงเป็นเรื่องท้าทายของผู้ให้บริการของไทยที่ต้องก้าวไปสู่การเรียนรู้ใหม่ เพื่อหวังสู่การแข่งขันในระดับที่คู่แข่งจะตามทัน

จากกระแสใส่ใจสุขภาพของผู้บริโภคยุคใหม่ เริ่มมีการตื่นตัวทำให้กระแสออกกำลังกาย รับประทานอาหารคลีน หรือแม้แต่การมองหาผลิตภัณฑ์ที่เป็นออแกนิกต่าง ๆ กลับมาบูมด้วยเช่นเดียวกับการบริการสุขภาพเองก็ต้องปรับตัวตามกระแสเช่นกัน

ทั้งนี้ ดร.พญ.ประภา วงศ์แพทย์ นายกสมาคมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพไทย ฉายภาพเทรนด์การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในประเทศไทยว่าตามนิยามของ WHO (องค์การอนามัยโลก) คำว่าสุขภาพไม่ใช่แค่เรื่องของการรักษาอาการเจ็บป่วย แต่หมายรวมไปถึงการใช้ชีวิตประจำวันด้วย

และเมื่อพูดถึงสุขภาพเมื่อเจ็บป่วยบางครั้งแค่การรักษาไม่เพียงพอต้องมีการฟื้นฟู ซึ่งเรื่องปกติคือเจ็บป่วย รักษา ฟื้นฟู ขณะเดียวกันก็ยังสามารถป้องกันไม่ให้ป่วย ซึ่งส่วนนี้เองที่ Wellness เข้ามาเกี่ยวข้องและมีความสำคัญอย่างมาก

Wellness Tourism คลื่นลูกใหม่ที่มูลค่าสูงกว่า Medical Tourism

ในหลายประเทศที่ประชาชนต้องรอการรักษาด้วยสวัสดิการของรัฐเป็นเวลานาน หรือในประเทศที่การแพทย์ยังคงล้าหลัง และแม้กระทั่งผู้ป่วยที่มีกำลังทรัพย์ไม่เพียงพอจึงมองหาการรักษาในต่างประเทศแทน

จุดนี้เองทำให้การเดินทางในลักษณะ Medical Tourism เป็นที่นิยมในหมู่ผู้ป่วยต่างชาติที่ต้องการรับการรักษาและพักผ่อนไปพร้อม ๆ กัน และแน่นอนว่า ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้

“ผู้ป่วยต่างชาติบางคนที่ไม่ต้องการรอการรักษาที่ประเทศของตน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของการเข้าไม่ถึงบริการทางด้านการแพทย์ การรอรักษารักษา รวมทั้งปัจจัยทางด้านกำลังทรัพย์ ดังนั้นผู้ป่วยบางส่วนจึงมองหาการรักษาและท่องเที่ยวไปพร้อม ๆ กันในประเทศที่มีการรักษาดี จ่ายน้อย และท่องเที่ยวได้ เช่น ประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย และเกาหลีใต้”

สอดคล้องกับศูนย์วิจัยกสิกรไทย ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 60 นี้ คนไข้ชาวต่างชาติจะทำรายได้ให้กับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนประมาณ 48,000-49,000 ล้านบาท ขยายตัวลดลงอยู่ที่ 3-4% ซึ่งเป็นผลมาจากจำนวนคนไข้ต่างชาติตะวันออกกลาง ลดลงจากการสร้างศูนย์การแพทย์ที่ได้คุณภาพและมาตรฐานในหลายประเทศแถบตะวันออกกลาง รวมถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น โดยอัตราการเข้ารับการรักษาพยาบาลในไทยของคนไข้ชาวต่างชาติเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 3.3 ล้านครั้ง แบ่งเป็น Medical Tourism 2.4 ล้านครั้ง และ Expatriate 9.0 แสนครั้ง

Wellness Tourism

โดยในปี 2560 นี้อัตราส่วนของคนไข้ที่เข้ามารับการรักษาในประเทศไทย จะเปลี่ยนจากตลาดหลักเดิมอย่างตะวันออกกลาง อาทิ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) โอมาน คูเวต กาตาร์ มาเป็นคนไข้ต่างชาติในเอเชีย อาทิ CLMV จีนและญี่ปุ่น

นอกจากนี้ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น อีกทั้งโครงสร้างประชากรของแต่ละประเทศกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ผู้ประกอบการหลายราย หันไปขยายบริการจากเน้นรักษาโรคไปสู่การป้องกันดูแลสุขภาพที่ครบวงจร (Health and Wellness) เจาะตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทย

ซึ่งสถานประกอบการณ์ที่มีการทำการตลาดเข้มข้น อาจร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเอเจนซี่/กรุ๊ปทัวร์/บริษัทประกันสุขภาพ จัดทำ Promotion หรือจัดทำ Package สุขภาพที่เหมาะสมลงไปในโปรแกรมท่องเที่ยว (Medical Holiday/Vacation Package) อาทิ ตรวจสุขภาพทั่วไป ทันตกรรม ศัลยกรรมความงาม การฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ การดูแลสุขภาพระยะยาว เพื่อรุกตลาด Wellness Tourism

ทั้งนี้ ดร.พญ.ประภา ยังกล่าวต่ออีกว่าคนไข้ที่เดินทางเข้ามาเพื่อรับการรักษามักจะเดินเข้ามาพร้อมผู้ติดตาม และจะใช้เวลาในประเทศไทย 3 ช่วงด้วยกันคือ ช่วงก่อนเข้ารับการรักษาพยาบาล ( Pre hospital stay) ช่วงรับการรักษาในโรงพยาบาล และหลังจากการรักษาพยาบาล โดยจะมี 2 ช่วงที่เข้าไปพ่วงกับการท่องเที่ยว

นั่นคือก่อนและหลังจากออกโรงพยาบาล โดยปกติแล้วผู้ป่วยมักจะวางแผนสำหรับการพักฟื้นและท่องเที่ยวมาก่อน หรือใช้บริการบริษัทนำเที่ยวที่มีแพ็กเกจโรงพยาบาลพ่วงมาด้วย ประกอบกับความได้เปรียบของประเทศไทยในแง่ของสถานที่พักผ่อนที่ครอบคลุม ทั้งทะเลและภูเขา ซึ่งในส่วนของการท่องเที่ยวนี้เองที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับ Wellness โดยตรง

Wellness Tourism

ทั้งนี้ ปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ คือคนไทยยังไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่าง Medical Tourism และWellness Tourism ซึ่งสามารถสรุปได้ง่าย ๆ คือ Medical Tourismm คือคนที่ป่วยแล้วและต้องการรับการรักษา ขณะที่ Wellness คือคนที่ยังไม่มีอาการเจ็บป่วยแต่ต้องการป้องกัน เมื่อมองในแง่ของมูลค่าในตลาดโลกจากผลสำรวจของ Global Wellness Institute พบว่า ตลาด Wellness มีมูลค่าสูงกว่า 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ Medical Tourism มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ นั่นหมายความในมุมมองโลกตลาด Wellness เป็นตลาดใหญ่ที่มีมูลค่ามหาศาลและสามารถเติบโตได้อีกมาก

การท่องเที่ยวเชิง Wellness Tourism ในประเทศไทยจะแบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ Wellness Tourism หรือนักท่องเที่ยวที่เจาะจงมาใช้บริการ Wellness โดยเฉพาะกับ Secunary Wellness Tourism หรือการตัดสินใจใช้บริการแบบเฉพาะหน้า เช่น นักท่องเที่ยว

นักธุรกิจที่ติดต่อธุรกิจ เมื่อเห็นโปรโมชันหรือบริการที่น่าสนใจแล้วตัดสินใจใช้บริการทันที โดยไม่ได้วางแผนมาก่อนเป็นบริการที่ใช้ระยะเวลาสั้น ๆ สามารถไปเที่ยวต่อได้ทันทีและอยู่นอกโรงพยาบาลเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจุดนี้เป็นตลาดที่ใหญ่มาก

“Global Wellness Institute ระบุว่าการใช้จ่ายของกลุ่ม Wellness Tourism มีอัตราการใช้จ่ายมากกว่า Tourism ทั่วไปถึง 150% โดยเฉพาะสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมไม่ว่าจะเป็นหาดใหญ่ ภูเก็ต เชียงใหม่ พัทยา จะมีการใช้จ่ายเยอะมาก ประเทศไทยมีพื้นฐานค่อนข้างดีอยู่แล้ว ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องมาช่วยการปะจุดอ่อน ยกระดับมาตราฐานการบริการn การตลาด และมาร์เก็ตทูล รวมทั้งเทคนิคที่ช่วยในการขายต่าง ๆ

“ปัจุบันตลาดหลักในประเทศไทยที่มองเห็นยังคงเป็น Medical Tourism ขณะที่ความเป็นจริงตลาด Wellness Tourism อาจใหญ่กว่าด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่าไม่มีการวิจัยตัวเลขอย่างจริงจังว่ามูลค่าตลาดปัจุบันอยู่ที่เท่าไหร่”