Video Streaming

แวดวง Video Streaming เดือด Netflix ตั้งรับ Disney+ Apple TV+ ชิงตลาด

อุตสาหกรรม Video Streaming กำลังเป็นกระแสหลักแห่งการรับชมสื่อบันเทิงในยุคนี้ โดยเฉพาะในเอเชียตลาดที่มีประชากรใหญ่อันดับต้นของโลก ว่าจะเติบโตอย่างรวดเร็วในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าโดยผู้ธุรกิจนี้มีผู้เล่นในตลาดหลายเจ้า ตั้งแต่ Youtube, Amazon Prime ,Netflix และล่าสุดDisney + และ Apple TV+

ทั้งนี้ Media Partners Asia คาดการณ์ว่า นับจากปี 2560 รายได้จากส่วนของ Video Streaming จะเพิ่มจาก 17.7 พันล้านดอลลาร์ในปี 2560 เป็น 48 พันล้านดอลลาร์ในปี 2565 โดยภาพดังกล่าวพูดง่าย ๆ คือ จะเติบโตเป็น 2 เท่า ซึ่งเป็นทิศทางแห่งการเติบโตแซงหน้าการออกอากาศทาง Free TV

 

ยุคเฟื่องฟูของธุรกิจ สตรีมมิ่งวิดีโอ เกิดขึ้นหลังจาก Business Model ของ Netflix ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในระยะเวลาเพียง6 ปีภายหลังเปลี่ยนบิสิเนส โมเดลจากร้านเช่าวีดีโอ และกลายเป็นองค์กรที่มีมูลค่าตลาดแซงยักษ์ใหญ่วงการบันเทิงของฮอลลีวูดอย่าง Walt Disney และ Comcast ไปได้ในเดือนพฤษภาคม 2561 ด้วยมูลค่า 151,930 ล้านดอลลาร์ (4.825 ล้านล้านบาท)

 

ในขณะที่Walt Disney มีมูลค่าตลาด 151,630 ล้านดอลลาร์ (4.816 ล้านล้านบาท) ส่วน Comcast อยู่ที่ 145,270 ล้านดอลลาร์ (4.614 ล้านล้านบาท)


ศึกรอบด้านของ Netflix

เริ่มกันที่ Disney + โดยสื่อและนักวิเคราะห์ตะวันตกเชื่อว่า คู่แข่งตัวจริงของ Netflix ในตลาดวิดีโอสตรีมมิ่งคือ Walt Disney หลังยอมซื้อกิจการ 21st Century Fox ในราคาสุดแพง เพื่อเข้าสู่ตลาดวิดีโอสตรีมมิ่งโดยเฉพาะ ซึ่ง Disney จะได้ลิขสิทธิ์ภาพยนตร์และตัวละคร แฟรนไชส์ภาพยนตร์ รวมทั้งซีรีส์ดังระดับโลก และรายการโทรทัศน์ของค่ายฟ็อกซ์เข้ามาไว้ในคลังสมบัติมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Simpsons X-Men Fantastic Four ไปจนถึง Deadpool และ Wolverine

 

ขณะที่ในคลังของ Disney เองมีผลงานของ Pixar มี Star Wars และผลงานของ Marvel ที่ไม่รวม X-Men รวมทั้งภาพยนตร์แฟรนไชส์จาก Marvel Cinematic Universe และ Star Wars รวมทั้งภาพยนตร์บางเรื่อง เช่น Captain Marvel ที่จะหาดูได้เฉพาะใน Disney + หลังจากออกจากโรงเท่านั้น รวมทั้ง National Geographic และยังมีแฟรนไชส์ภาพยนตร์ Avatar Planet of the Apes Alien และ Die Hard และไม่นับรวมรายการโทรทัศน์อีกมากมายที่สามารถนำไปแข่งกับคอนเทนต์ของ Netflix

 

นอกจากนี้ ในหมวดกีฬา Disney ยังมีช่องข่าวกีฬาออนไลน์ ESPN ที่แยกออกเป็น ESPN + ในตลาดลาตินอเมริกา และรวมขายพ่วงกับ Disney + ได้

 

การซื้อกิจการครั้งนี้ Disney ยังได้หุ้นของ Hulu ที่ค่ายฟ็อกซ์ถืออยู่ด้วย โดย Hulu เป็นผู้ให้บริการวิดีโอสตริ่มมิ่งรายใหญ่รายหนึ่ง มีสมาชิกทั่วโลก 25 ล้านบัญชี ทั้งแบบมีโฆษณา ไม่มีโฆษณา และ Live TV โดย Hulu มีการสร้างภาพยนตร์ของตัวเองด้วย และนั่นทำให้ Disney มีหุ้นรวม 60% และมีข่าวว่า Disney ต้องการซื้อหุ้นที่เหลืออยู่ 10% จาก TT&T เจ้าของ Warner Media และ 30% ที่ Comcast ถืออยู่

 

Disney จะเปิดให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่งในชื่อ Disney + ในราคา 7 ดอลลาร์ต่อเดือน ซึ่งถูกกว่า Netflix เริ่มจากในตลาดสหรัฐอเมริกาก่อน และจะขยายตลาดไปยุโรปและเอเชียแปซิฟิกในปี 2563 และคาดว่าจะสามารถคืนทุนได้ภายใน 5 ปี โดยในปี 2563 เตรียมเงินค่าผลิตคอนเทนต์สำหรับฉายใน Disney + ไว้ 1,000 ล้านดอลลาร์ และตั้งเป้าหาสมาชิกทั่วโลกให้ได้ 60-90 ล้านบัญชี ภายในปี 2567 ซึ่งจะเน้นเจาะกลุ่มลูกค้านอกประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก โดยมี Hulu เป็นแพลตฟอร์มโปรแกรมพรีเมียมสำหรับผู้ใหญ่ และจะขยายบริการไปทั่วโลก ส่วน Disney + จะมุ่งตลาดเด็กและครอบครัว

Video Streaming

Warner Media และ Comcast ขอเดินเกมเรียบๆ


ทางฟากของ AT&T เจ้าของ Warner Media ก็มีแผนที่จะเปิดตัวบริการวิดีโอสตรีมมิ่งปลายปี 2562 เช่นเดียวกับ Disney แต่จะไม่ลงแข่งกับ Netflix และ Disney ตรงๆแม้ว่าในมือจะมี คลังคอนเทนต์มหาศาลอยู่ในมือจำนวนมหาศาลทั้ง HBO ที่มีซีรีส์ดังอย่าง Game of Thrones และ Tuner เจ้าของเครือข่ายเคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียมชั้นแนวหน้าของสหรัฐอเมริกา

 

พ่วงมาด้วยสตูดิโอ Warner Brothers ผู้ผลิตภาพยนตร์รายใหญ่ และDC Comics ที่มี Batman Wonder Woman Superman ซึ่งรวมกันทำรายได้ 31,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 984,625 ล้านบาท) ในปี 2560

 

ที่สำคัญ Warner Media ยังมีสำนักข่าว CNN ที่รู้จักกันทั่วโลก แถม AT&T บริษัทแม่ก็ยังมีเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งในสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก รวมถึงเครือข่ายเคเบิลทีวีใน 11 ประเทศในอเมริกาใต้ และแคริเบียน โดยมีฐานลูกค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ วิดีโอสตรีมมิ่ง เคเบิลทีวี รวมกว่า 170 ล้านราย

 

สำหรับกลยุทธ์วิดีโอสตรีมมิ่งของ Warner Media จะมีทั้งแบบที่มีโฆษณา ซึ่งจะมีราคาถูกและแบบไม่มีโฆษณา ที่มีราคาแพง และจะมีคอนเทนต์แบบพรีเมียมด้วยเช่นกัน ส่วน Comcast เจ้าของช่องเคเบิลทีวี MSNBC สถานีโทรทัศน์ NBC และสตูดิโอ Universal Pictures ประกาศในเดือนมีนาคม 2562 ว่า จะเปิดบริการวิดีโอสตรีมมิ่งในชื่อ Flex ในราคา 5 ดอลลาร์ต่อเดือน แต่จะให้บริการไปที่กลุ่มลูกค้าทางอินเทอร์เน็ตของ Camcast เท่านั้น ซึ่งนักวิเคราะห์เชี่อว่า Comcast ใช้ยุทธศาสตร์ปกป้องตัวเอง โดยต้องการดึงลูกค้าเคเบิลทีวีที่เลิกเป็นสมาชิกไปกลับมามากกว่าจะรุกหาสมาชิกใหม่นั่นเอง

Video Streaming

Amazon คู่แข่งกระเป๋าหนัก


ทางด้าน Prime Video คู่แข่งเดิมของ Netflix ซึ่งมีลูกค้าทั่วโลกประมาณ 90 ล้านบัญชี ซึ่งน้อยกว่า Netflix อยู่เกือบเท่าตัว แต่ในระยะยาวภายใต้ Amazon ซึ่งเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่กว่า Netflix ถึง 7 เท่า มีเงินทุนมากกว่า อาจจะยืดระยะได้ดีกว่าNetflix ที่มีธุรกิจเดียว ยุทธศาสตร์ที่ Amazon นำมาใช้คือ การลงทุนที่น้อยกว่าและอยู่ได้โดยไม่มีปัญหาเรื่องการเงิน

 

ในขณะที่ Netflix ต้องทุ่มเงินเฉลี่ย 8,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี (254,000 ล้านบาท) ในการสร้างคอนเทนต์ของตัวเองในแต่ละปี ขณะที่ Amazon ใช้เงินแค่ 5,000-6,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 158,810-190,572 ล้านบาท) ต่อปีเท่านั้น

 

ดังนั้น ‘Netflix ต้องทุ่มเทไปเรื่อย ๆ ผิดพลาดไม่ได้ เพราะมีธุรกิจเดียว ขณะที่ Amazon ไม่รีบร้อน ค่อย ๆ ตามหลังไปเรื่อย ๆ เพราะลูกค้าในหลายประเทศก็เป็นสมาชิกทั้งสองค่ายไปพร้อมกัน และ Amazon เป็นนักเทคโอเวอร์อยู่แล้ว อาจจะซื้อคู่แข่ง หรืออาจจะเป็น Apple ที่ทำให้ Netflix อยู่เป็นอิสระต่อไปได้ก็ได้

 

Apple TV+  คลื่นลูกใหม่กะแสแรง

Video Streaming
มาถึงคู่แข่งล่าสุดที่หลายๆคนจับตามองนั่นคือ Apple ที่เตรียมเปิดบริการวิดีโอสตรีมมิ่ง Apple TV+ แบบจัดเต็ม ในวันที่ 1 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ โดย Appleได้ทุ่มทุนหลายพันล้านดอลลาร์ เพื่อผลิตรายการของตัวเองและออกแอปฯใหม่ที่ลูกค้าสามารถดูคอนเทนต์ของพันธมิตรได้ทั้งใน iPhone, iPad, จอคอมพิวเตอร์ตระกูล Mac แถมยังเปิดดูได้ทางสมาร์ตทีวีของ Samsung, LG, Sony และ Vizio

 

ซึ่งแอปฯ นี้จะอำนวยความสะดวกสบายให้แก่สาวก Apple ในกว่า 100 ประเทศอย่างมาก เพราะเป็นแอปฯ ที่รวบรวมคอนเทนต์ทุกอย่างทั้งของ Apple และ 150 แอปฯ วิดีโอสตรีมมิ่งของพันธมิตร รวมทั้ง Hulu Prime Video Roku ฯลฯ ที่ลูกค้าเป็นสมาชิกอยู่ให้รวมอยู่ในแอปฯ เดียว และยังจะดูคอนเทนต์ที่ Apple ผลิตขึ้นเอง หลังจากที่เริ่มเปิดบริการวิดีโอสตรีมมิ่งได้

 

ส่วนแง่การผลิตคอนเทนต์ของ Apple มีการระดมอดีตผู้บริหารบริษัทสื่อยักษ์ใหญ่และสตูดิโอ มาร่วมงานกันเป็นทิวแถว ไม่ว่าจะเป็น Jamie Erlicht และ Zack Van Amburg จาก Sony Pictures รวมถึง Matt Cherniss ที่เคยทำงานให้กับ Sony Warner และ Fox นอกจากนี้ยังมี Jay Hunt จาก BBC One รวมถึง Joe Oppenheimer อดีตหัวหน้าฝ่ายของ BBC และ Carol Trussell จาก HBO และยังมีอีกนับสิบที่ระดมมาจากวงการทีวีและบันเทิงเว็บไซต์ TechCrunch อีกด้วย

 

Netflix เจ้าตลาดเตรียมตั้งรับ

Video Streaming

ทางด้าน Netflix ก็ทรงแล้วน่าจะต้องเหนื่อยอีกยกใหญ่ เพราะจากการแข่งขันในตลาดที่ดุเดือด บวกกับการเข้ามาของคู่แข่งที่ไม่ธรรมดาไม่ว่าจะเป็น Disney (NYSE:DIS) หรือ Apple (NASDAQ:AAPL) (NASDAQ:AAPL) ก็ตาม ก็ส่งผลให้ในวันที่ 18ตุลาคมที่ผ่านมาหุ้นของ Netflixปรับลดลงไปเกือบ 6.2%

 

ในการตั้งรับศึกรอบด้านครั้งนี้ ยุทธศาสตร์สำคัญน่าจะเป็นการชะลอไม่ให้ค่ายใหญ่ถอนคอนเทนต์ออกจาก Netflix และเร่งผลิตภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ รวมทั้งซีรีส์ฮิตของตัวเองให้เร็วที่สุด เพราะหลังจากที่ Disney Comcast Fox และ Warner Media เปิดบริการวิดีโอสตรีมมิ่งของตัวเองแล้ว Netflix จะเสียคอนเทนต์พรีเมียมไปอย่างน้อย 20% ซึ่งไม่นับรวมผู้ผลิตรายอื่นอย่าง Viacom และ CBS ที่เปิดบริการวิดีโอสตรีมมิ่ง All Access ของตัวเองเช่นกัน และนั่นทำให้ Netflix เร่งทุ่มเงินสร้างคอนเทนต์พรีเมียมของตัวเองรวมทั้ง The Crown และ Roma ที่ได้เข้าชิงรางวัล Oscar ปี 2562 ด้วย

 

ก่อนหน้านี้ Netflix ประกาศลงทุน 1,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับการสร้างคอนเทนต์ในตลาดยุโรปเมื่อปี 2561 แบ่งเป็นเนื้อหาที่ผลิตเอง 81 โครงการ และในปี 2562 มีถึง 221 โครงการสำหรับยุโรป และยังจะสร้างศูนย์การผลิตในประเทศสเปนด้วย โดยอีกตลาดหนึ่งที่ Netflix จะลงทุนอย่างหนักคือ ประเทศอินเดีย ชึ่งเป็นสมรภูมิที่ Netflix กำลังสู้กับ Amazon อย่างหนัก


อย่างไรก็ดี การสร้างคอนเทนต์ของตัวเอง Netflix ต้องใช้เงินลงทุนสูง โดยในปี 2561 Netflix ใช้เงินสร้างคอนเทนต์รวมกว่า 12,000-13,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 381,145-412,907 ล้านบาท) ซึ่งทำให้บริษัทฯ ต้องกู้เงิน เข้ามาช่วยเติมกระแสเงินสด ทำให้ผู้บริหารต้องหาทางชะลอการถอนตัวของผู้ผลิตคอนเทนต์เท่าที่จะทำได้

 

Reed Hastings ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Netflix เคยให้สัมภาษณ์กับ BBC ว่า Netflix ไม่กลัวการแข่งขัน แต่ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่า สตูดิโอและเครือข่ายเจ้าของรายการบันเทิงจะถอนคอนเทนต์ออกไป เนื่องจาก Netflix จ่ายค่าไลเซนส์ทำเงินให้ผู้ผลิตจำนวนมากเหมือนกัน

 

สำหรับเกมกระดานนี้ Netflix ผู้บุกเบิกตลาดในยุคที่คู่แข่งเต็มพื้นที่ก็ไม่อาจทำธุรกิจแบบชิลๆได้อีกต่อไป ในขณะที่คู่แข่งใหม่ๆที่ทยอยเข้ามาชิงเค้กในอุตสาหกรรมก็คงต้องจับตาดูต่อไป ว่าจะมีเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราวมากพอจะเบียดNetflix ตกขอบทางและผงาดขึ้นมาเป็นเจ้าตลาดได้หรือ


ส่วนขยาย

* บทความเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ในมุมมองที่น่าสนใจ 
** เขียน: กฤษฎาพร วงศ์ชัย  (บรรณาธิการ และผู้สื่อข่าว)

สามารถกดติดตามข่าวสารและบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่

การศึกษานิวซีแลนด์