date

เปิด 4 แผนผลักดันเศรษฐกิจไทย ด้วยการกระตุ้นให้คนมีคู่

ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged society) ในปี 2565 ที่ผ่านมา หลังจากสัดส่วนของคนไทยกว่า 20% เป็นวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป พูดง่ายๆก็คือ ถ้าเราเดินสวนคนทั้งหมดคน 100 คน จะเจอคนที่มีอายุเกิน 60 ปีมากกว่า 20 คน และในอนาคตเรายังถูกคาดการณ์เอาไว้ว่า ภายในปี 2574 (หรืออีก 7 ปีข้างหน้า) เราจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Hyper-Aged Society) นั่นคือการมีคนอายุ 60 ปีขึ้นไปเกิน 28% ของคนทั้งประเทศ

นั่นเป็นเพราะอัตราการเกิดของประชากรไทยลดลง และในปี 2564 ที่ผ่านมาก็เป็นปีแรกที่ประเทศไทยมีการตายมากกว่าการเกิด (ซึ่งเป็นจำนวนที่ต่ำที่สุดในรอบ 70 ปี) หนึ่งในสาเหตุที่สำคัญคือ COVID-19 ทำให้มีคนตายมากขึ้น และอีกหนึ่งสาเหตุที่สำคัญคือ คนไทยแต่งงาน หรือจดทะเบียนสมรสน้อยลง และอยู่เป็นโสดมากขึ้นจากไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่ไม่อยากสร้างภาระในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว และเกิดเงินเฟ้อจึงทำให้อัตราการเกิดของคนน้อยลงตาม

ซึ่งการที่คนไทยมีลูกน้อยลงนี่แหละที่เป็นตัวเร่งให้เกิดสังคมผู้สูงอายุเร็วขึ้น และกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก เพราะหากประเทศของเรามีผู้สูงอายุเยอะก็จะทำให้ประเทศมีค่าใช้จ่ายในส่วนของระบบสาธารณะสุข และโครงสร้างพื้นฐานที่จะต้องมีมาตรการรองรับผู้สูงอายุ ทั้งทางการแพทย์ และสาธารณะสุข อีกทั้งยังจัดเก็บภาษีได้น้อยลง เพราะประชากรที่อยู่ในวัยทำงานลดลง พูดง่ายๆคือ รัฐบาลจะมีรายได้น้อยลง แต่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

ผลกระทบนี้จะแสดงให้เห็นชัดเจนในประเทศกำลังพัฒนาที่พึ่งพาแรงงานมากกว่าเทคโนโลยี เพราะหากประเทศใดก็ตามไม่มีเทคโนโลยีที่ทุ่นแรงได้ในระดับสูง ก็จะไม่สามารถทดแทนแรงงานจากคนได้ การผลิตสินค้า และบริการก็จะน้อยตามไปด้วย โดยข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 2566 พบว่า คนไทยครองตัวเป็นโสดมากขึ้น คิดเป็น 23.9% เลยทีเดียว จึงเป็นปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลไทยต้องรีบปรับโครงสร้างประชากรด้วยการกระตุ้นให้คนมีบุตรมากขึ้น

ซึ่งประเด็นนี้ทาง สภาพัฒน์ เปิดเผยปัจจัยที่ส่งผลต่อการเป็นคนโสดของคนไทยแบ่งได้เป็น 4 ด้าน คือ

1. ค่านิยมทางสังคมของการเป็นโสดยุคใหม่ อย่างเช่น

– SINK (Single Income, No Kids) หรือคนโสดที่มีรายได้และไม่มีลูก เน้นใช้จ่ายเพื่อตนเอง จากข้อมูล SES ในปี 66 พบว่า สัดส่วนคนโสด SINK สูงขึ้นตามระดับรายได้

– PANK (Professional Aunt, No Kids) หรือกลุ่มผู้หญิงโสดอายุ 30 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ หรืออาชีพการงานดี และไม่มีลูก ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลหลาน หรือเด็กในครอบครัวรอบตัว โดยคนโสด PANK มีจำนวน 2.8 ล้านคน ส่วนใหญ่มีรายได้ดีและจบการศึกษาสูง

– Waithood หรือกลุ่มคนโสดที่เลือกจะรอคอยความรัก เนื่องจากความไม่พร้อม หรือไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งสะท้อนได้จากคนโสด 40% ที่มีรายได้ต่ำสุด โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 37.7% ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มากถึง 62.6% มีระดับการศึกษาที่ไม่สูงนัก ทำให้ความสามารถในการหารายได้จำกัด

2. ปัญหาความต้องการ หรือความคาดหวังที่ไม่สอดคล้องกัน เป็นผลจากความคาดหวังทางสังคม และทัศนคติต่อการมองหาคู่ของคนที่เปลี่ยนแปลงไป โดยในปี 64 บริษัทมีทแอนด์ลันช์ สาขาประเทศไทย พบว่า ผู้หญิงกว่า 76% จะไม่เดทกับผู้ชายที่มีรายได้น้อยกว่า และ 83% ไม่คบกับผู้ชายที่มีส่วนสูงน้อยกว่า ขณะเดียวกัน ผู้ชาย 59% จะไม่คบกับผู้หญิงตัวสูงกว่า และอีกกว่า 60% ไม่เดทกับผู้หญิงที่เคยหย่าร้าง

3. โอกาสในการพบปะผู้คน โดยในปี 66 คนโสดมีชั่วโมงการทำงานสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ อีกทั้งกรุงเทพฯ ยังจัดอยู่ในอันดับที่ 5 ของเมืองที่แรงงานทำงานหนักที่สุดในโลก ทำให้คนโสดไม่มีโอกาสในการมองหาคู่

4. นโยบายส่งเสริมการมีคู่ของภาครัฐยังไม่ต่อเนื่อง และครอบคลุมความต้องการของคนโสด โดยนโยบายส่งเสริมการมีคู่ของไทยในช่วงที่ผ่านมายังมีไม่มากนัก โดยเน้นไปที่กลุ่มคนโสดที่มีความพร้อม ขณะที่ในต่างประเทศมีแนวทางการส่งเสริมการมีคู่ที่ครอบคลุมไปถึงการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย และการสร้างโอกาสในการมีคู่

ดังนั้น สภาพัฒน์จึงมี 4 แนวทางสนับสนุนให้คนมีคู่ ดังนี้

– การสนับสนุนเครื่องมือการ Matching คนโสด โดยภาครัฐอาจร่วมมือกับผู้ให้บริการ หรือพัฒนาแพลตฟอร์ม เพื่อส่งเสริมให้คนโสดสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น

– การส่งเสริมการมี Work-life Balance ทั้งในภาครัฐและเอกชน ทำให้คนโสดมีคุณภาพชีวิตที่ขึ้น และเพิ่มโอกาสให้คนโสดมีเวลาทำกิจกรรมที่ชอบ และพบเจอคนที่น่าสนใจมากขึ้น

– การยกระดับทักษะที่จำเป็นในการทำงาน เพิ่มโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพการงาน และรายได้ ซึ่งคนโสดยังมีโอกาสพบรักจากสถานศึกษาได้อีกด้วย

– การส่งเสริมกิจกรรม และการมีส่วนร่วมทางสังคมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนโสดมีโอกาสพบปะ และสร้างความสัมพันธ์ใหม่ๆ ได้

ซึ่ง ‘Business+’ มองว่านโยบายการผลักดันให้คนมีบุตรก็จะเปิดโอกาสให้กับธุรกิจด้านการพัฒนาแพลตฟอร์ม หรือแอปพลิเคชั่นมีโอกาสที่จะได้รับงานกับภาครัฐ และได้รับการส่งเสริมด้วยวิธีต่างๆ เช่น มาตรการทางภาษี  หรือให้การสนับสนุนด้านแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ โดยแพลตฟอร์มจับคู่ที่คนไทยนิยมมากที่สุดในปัจจุบันคือ Tinder จากสหรัฐอเมริกา (ข้อมูลจาก similarweb จากการสำรวจยอดดาวน์โหลดและยอดผู้ใช้งาน ทั้งบนระบบ iOS และ Android จนถึงวันที่ 11 ก.พ. 67 )

ที่มา : สภาพัฒน์

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตามผ่าน TikTok ได้ที่ : https://www.tiktok.com/@thebusinessplus
Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS
#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #จับคู่ #จัดหาคู่ #คนโสด