‘สินค้ามือสอง’ อีกหนึ่งทางเลือกในวันเศรษฐกิจผันผวน สร้างรายได้ผู้ขาย ประหยัดรายจ่ายผู้ซื้อ

ในช่วงที่เศรษฐกิจยังคงเอาแน่เอานอนไม่ได้ แถมยังมีภาวะเงินเฟ้อเข้ามาสร้างความยากลำบากให้ชีวิตของผู้คนมากมาย การใช้จ่ายอย่างประหยัดก็ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีบริหารจัดการทางการเงินที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่องได้ไม่มากก็น้อย ถึงอาจจะต้องแลกมาด้วยการหักห้ามใจจากความอยากได้ อยากมีไปบ้าง แต่ก็ช่วยให้มีเงินไว้จับจ่ายใช้สอยในสิ่งจำเป็นมากขึ้น

 

แต่มันคงจะดีถ้าหากเราได้ซื้อของที่ชอบไปด้วย พร้อมกับการประหยัดไปด้วย ซึ่งการจะทำแบบนั้นได้ การซื้อ ‘สินค้ามือสอง’ อาจตอบโจทย์ต่อเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี โดย ‘สินค้ามือสอง’ นอกจากจะมีราคาที่ถูกกว่าสินค้ามือหนึ่งชนิดเดียวกันแบบหลายเท่าตัวแล้ว บางชิ้นยังเป็นสินค้าใหม่ที่ไม่ผ่านการใช้งานมาก่อนด้วย เปรียบเสมือนการได้สินค้าใหม่ในราคาประหยัด ที่นอกจากจะได้ของที่ชอบแล้ว ยังเป็นมิตรกับกระเป๋าสตางค์อีกด้วย

 

ทั้งนี้ ‘สินค้ามือสอง’ ถือเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และมีการเติบโตอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2012 มูลค่าตลาดของร้านขายของมือสองและของบริจาคมีมูลค่า 11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่คาดว่าภายในปี 2026 มูลค่าตลาดของร้านค้าที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจะสูงถึง 31 พันล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกัน ตลาดขายต่อคาดว่าจะพุ่งขึ้น 42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020-2026

 

โดยข้อมูลจากการการสำรวจ ‘เหตุผลที่ผลักดันความต้องการสินค้ามือสองทั่วโลก 2022’ ระบุว่า จากการสำรวจที่ดำเนินการในปี 2022 ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นด้วยว่าราคาและความคุ้มค่าเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของความต้องการของผู้บริโภคสำหรับสินค้ามือสอง อีกทั้งมองว่าการซื้อของมือสองเป็นเรื่องที่น่านับถือและทันสมัย ​​เนื่องจากผู้บริโภคตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมส่วนบุคคลมากขึ้น โดยในปี 2019 มีรายงานว่าผู้บริโภคทั่วโลก มีการซื้อผลิตภัณฑ์เสื้อผ้ามือสองถึง25% เมื่อเทียบกับสัดส่วนเสื้อผ้าทั้งหมดที่มี ขณะที่คาดว่าภายในปี 2023 เสื้อผ้ามือสองจะมีสัดส่วนอยู่ที่ 27% ของเสื้อผ้าทั้งหมดของผู้บริโภคทั่วโลก

 

สำหรับข้อดีของการซื้อ ‘สินค้ามือสอง’ ประกอบไปด้วย

  1. ออมเงิน ถือเป็นประโยชน์ที่ชัดเจนและเป็นที่รู้จักมากที่สุดอย่างหนึ่งของการซื้อของมือสอง คือการประหยัดต้นทุน โดย ‘สินค้ามือสอง’ มักจะมีราคาถูกกว่าสินค้าใหม่ถึง 50%

 

  1. ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและรักษาทรัพยากรธรรมชาติ โดยพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติมีส่วนในการสร้างบรรจุภัณฑ์ที่มักจะมาพร้อมกับผลิตภัณฑ์ใหม่ ผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นที่ผลิตขึ้นส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติหมดไปในระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการขุดน้ำมัน การขุดโลหะ ป่าไม้ที่ถาโถม การปลูกฝ้าย หรือการสูบน้ำ ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าต้องใช้น้ำโดยเฉลี่ยถึง 1,800 แกลลอนในการผลิตกางเกงยีนส์ ดังนั้น การซื้อ ‘สินค้ามือสอง’ ไม่เพียงลดจำนวนทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้ แต่ยังช่วยลดปริมาณพลังงานที่ใช้และมลพิษที่ปล่อยออกมาอีกด้วย

 

  1. ช่วยสนับสนุนธุรกิจในท้องถิ่น โดยไม่ว่าจะซื้อจากร้านขายของมือสอง ร้านขายของฝาก ร้านขายของวินเทจ หรือจากการโพสต์ ‘สินค้ามือสอง’ บนโซเชียลมีเดีย หรือแม้แต่ร้านตามถนนคนเดิน เงินที่ใช้ไปนั้นมักจะหมุนเวียนสู่ธุรกิจระดับชุมชนมากกว่าร้านค้ารายใหญ่ นอกจากนี้ ร้านขายของมือสองมักจะเป็นส่วนเสริมการระดมทุนขององค์กรไม่แสวงหากำไร ดังนั้นผู้ซื้อไม่เพียงแต่รู้สึกดีกับการประหยัดเงินและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นการสนับสนุนองค์กรเหล่านี้อีกด้วย

 

  1. ได้ค้นหาไอเทมพิเศษ อีกหนึ่งเสน่ห์ของร้านขายของมือสองคือการค้นพบสินค้าในรูปแบบที่ไม่ซ้ำใครและหายากในบางครั้งอีกด้วย

 

ส่วนในแง่ของผู้ขายนั้น นอกจากจะได้เคลียร์บ้านหรือจัดการกับสิ่งของที่ไม่ได้ใช้แล้ว ยังถือเป็นการเพิ่มรายได้ให้อีกหนึ่งช่องทางอีกด้วย โดยจากรายงานของ ‘Gumtree’ ระบุว่า ชาวออสเตรเลียประมาณ 1.3 ล้านคน ทำเงินจากการขายออนไลน์เป็นครั้งแรก (ของมือสอง) ผ่านแพลตฟอร์ม นอกจากนี้ จากการวิจัยพบว่าในปี 2561 ผู้ขายโดยเฉลี่ยสามารถทำเงินได้ 1,577 ดอลลาร์

 

โดยหากจำแนกตาม Generation พบว่า

– Generation Y เป็นกลุ่มที่ใช้งานมากที่สุดในตลาดมือสอง โดยประชากร 61% ของกลุ่มนี้ขายของออนไลน์ในปีที่ผ่านมา และมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 1,958 ดอลลาร์

 

– Generation X เป็นกลุ่มที่รองลงมา โดยพบว่าประชากรจำนวน 54% ของกลุ่มนี้ ขายสินค้ามือสองทางออนไลน์โดยมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 1,637 ดอลลาร์

 

– Baby boomers เป็นอีกกลุ่มที่สร้างรายได้จากการขายของมือสองได้อย่างน่าพอใจ โดยพบว่าประชากร 51% ของกลุ่มนี้ มีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจ ‘สินค้ามือสอง’ ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา โดยมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 910 ดอลลาร์

 

สำหรับสิ่งของที่ถูกนำมาขายเป็น ‘สินค้ามือสอง’ มากที่สุด ได้แก่ หนังสือ อยู่ที่ 57%, ดีวีดีและซีดี อยู่ที่ 54%, เกมและของเล่น อยู่ที่ 48% และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อยู่ที่ 47%

 

เห็นประโยชน์ทั้งในแง่ของผู้ซื้อและผู้ขายแบบนี้แล้ว คงไม่เสียหลาย หากจะลองเลือกช็อป ‘สินค้ามือสอง’ ที่มีคุณภาพสักชิ้นมาลองใช้ดู  หรืออาจนำของที่ไม่ได้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นของที่ใช้แล้ว หรือแม้กระทั่งของที่ซื้อมาซ้ำไปลองขายดู โดยอาจจะเริ่มจากการขายผ่านทางโซเชียล ซึ่งถือเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถใช้บริการได้ฟรีอยู่แล้ว เป็นช่องทางในการสร้างรายได้เพิ่มเติมก็ดูจะน่าสนใจอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

 

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

 

ที่มา : statista, hennepin, rurallivingtoday

 

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #สินค้ามือสอง #ของมือสอง #วิธีประหยัดเงิน #สร้างรายได้