UHT

แบรนด์เจ้าตลาด ‘นม UHT’ เตรียมขึ้นราคา! หลังน้ำนมโคดิบจะแพงขึ้นอีก 2.25 บ./กก.

ราคาน้ำนมดิบทั่วโลกยังคงพุ่งสูงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เกิดสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน สำหรับประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบไปในทิศทางเดียวกัน จึงทำให้ในปี 2565 ที่ผ่านมาไทยได้มีการปรับราคาหน้าโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมไปแล้วครั้งหนึ่งช่วงเดือนสิงหาคม โดยครั้งนั้นมีการปรับราคาขึ้นกิโลกรัมละ 1.50 บาท จาก 19 บาทเป็น 20.50 บาท ล่าสุดในวันนี้ (17 ม.ค.) คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (Milk Board) มีมติให้ประกาศปรับขึ้นราคาน้ำนมโคดิบ อีก 2.25 บาท/กก. หรือจากเดิม 20.50 บาท/กก. เป็น 22.75 บาท/กก. หลังจากที่ต้นทุนอาหารสัตว์ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของการเลี้ยงโคนมยังคงสูงต่อเนื่อง

ซึ่งแน่นอนว่า ราคาน้ำนมดิบที่ถูกปรับให้สูงขึ้นนั้นจะต้องส่งผลกระทบไปยังต้นทุนการผลิตนมสด และผลิตภัณฑ์จากนมให้สูงขึ้นตาม โดยเฉพาะผู้ผลิตนมพร้อมดื่ม UHT ที่ใช้น้ำนมดิบเป็นวัตถุดิบหลัก จึงมีการคาดการณ์ว่า บริษัทผู้ผลิตนมจะขอยื่นปรับราคาขึ้นตามทันที เพราะที่ผ่านมาต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเป็น 2 ประเทศที่มีบทบาทเป็นผู้ผลิตสินค้าวัตถุดิบของโลกโดยเฉพาะอาหารสัตว์

โดยที่การเลี้ยงโคนมต้นทุนอาหารสัตว์นั้น มีสัดส่วนมากกว่า 60% ของต้นทุนผลิต และที่เหลือเป็นต้นทุนแรงงานที่มีสัดส่วนอีกราว 17% ดังนั้น ทั้ง 2 ต้นทุนที่สูงขึ้นตามตลาดโลกจึงทำให้เกษตรกร และผู้ผลิตต้องแบกภาระต้นทุนที่สูงจนบางรายอาจขาดทุนสะสมจนต้องปิดไลน์ผลิตบางส่วน

อย่างไรก็ตามการจะปรับราคาขึ้นนั้น ผู้ผลิตจะต้องแสดงหลักฐานการรับซื้อน้ำนมโคดิบ ว่าได้ซื้อในราคาที่สอดคล้องกับประกาศของ Milk Board (ไม่ต่ำกว่า 22.75 บาท/กก.) โดยต้องยื่นข้อมูลสัดส่วนการใช้น้ำนมโคดิบด้วย เนื่องจากนมสดและผลิตภัณฑ์นมแต่ละยี่ห้อ แต่ละสูตร ก็อาจใช้น้ำนมโคดิบในสัดส่วนที่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ ‘Business+’ ได้ทำการสำรวจตลาดผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มของไทยในปี 2565 พบว่ามีมูลค่า 29,632.4 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นการเติบโต 6.8% จากปีก่อน และยังมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2567 โดยผู้เล่นในไทย 5 เจ้าหลักคือ Foremost , Meiji , Thai-Denmark และ นมตราหมี

โดยที่ Foremost ยังคงเป็นแบรนด์อันดับ 1 สำหรับนมพร้อมดื่มที่คนไทยนึกถึง และครองแชมป์ส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 มาอย่างต่อเนื่อง ด้วย Market share ในตลาดนม UHT มากถึง 41% (ในปี 2565 ที่ผ่านมา) และยังมีการตั้งเป้าว่าในอีก 5 ปี Foremost ต้องการส่วนแบ่งการตลาดที่มากขึ้นสู่ 50%

ซึ่งแน่นอนว่า ที่ผ่านมา Foremost ได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้น โดยในปี 2564 เป็นปีแรกที่มีผลขาดทุนสุทธิในรอบ 8 ปี ด้วยการขาดทุนมากถึง 1,300 ล้านบาท ซึ่งผลขาดทุนสุทธินี้ได้ทำให้บริษัทต้องยกเลิกการผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ที่มีอายุสั้นกว่านมประเภทอื่นลงในปี 2565 ที่ผ่านมา แต่ยังคงผลิตนมประเภทอื่น เช่น นม UHT ซึ่งมีอายุยาวนานกว่า ดังนั้นในปีนี้หาก Foremost สามารถยื่นขออนุญาตปรับขึ้นราคาขายนม UHT ได้จะช่วยให้กำไรสุทธิของบริษัทดีขึ้น

ที่มา : กระทรวงพาณิชย์ , Foremost

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#thebusinessplus #BusinessPlus #นมพร้อมดื่ม #ต้นทุนน้ำนม #น้ำนมดิบ #UHT #Foremost