ย้อนรอยมหากาพย์ดีลซื้อ ‘Twitter’ ของ ‘อีลอน มัสก์’ จากจุดเริ่มต้นเรื่องวุ่น ๆ จนถึงวันส่อล้มละลาย!

เป็นอีกหนึ่งดีลที่มีข่าวคราวออกมาให้ได้เห็นอยู่ตลอดเวลาจริง ๆ สำหรับดีลเข้าซื้อ ‘Twitter’ ของเจ้าพ่อวงการเทคโนโลยีอย่าง ‘อีลอน มัสก์’ ที่เป็นมหากาพย์แห่งความวุ่นวายตั้งแต่เป็นแค่กระแสข่าวว่าจะเข้าซื้อ จนถึงตอนที่ปิดดีลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ยังไม่วายมีเรื่องราวออกมาให้ได้เห็นกันอย่างต่อเนื่อง โดยในวันนี้ ‘Business+’ ได้รวบรวมเหตุการณ์ต่าง ๆ ของดีลนี้มาไล่เรียงถึงมหากาพย์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบันให้ทุกท่านได้ย้อนไทม์ไลน์ไปพร้อม ๆ กัน

 

เริ่มจากวันที่ 31 ม.ค. 2565 ‘อีลอน มัสก์’ ได้เข้าซื้อหุ้น ‘Twitter’ อย่างเงียบ ๆ และได้ทำการซื้อเพิ่มอีกครั้งในวันที่ 14 มีนาคม 2565 จนมีสัดส่วนการถือหุ้นมากกว่า 5% และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวที่แสนวุ่นวายนี้ เมื่อตามหลักแล้ว ‘อีลอน มัสก์’ ควรรายงานธุรกรรมดังกล่าวต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ (กลต.สหรัฐฯ) ทันที แต่ ‘อีลอน มัสก์’ กลับเปิดเผยธุรกรรมดังกล่าวล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น

 

24 มีนาคม 256 ‘อีลอน มัสก์’ เริ่มวิพากษ์วิจารณ์ ‘Twitter’ โดยระบุว่า “เสรีภาพในการพูดเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับระบอบประชาธิปไตยที่ใช้งานได้ คุณเชื่อหรือไม่ว่า Twitter ปฏิบัติตามหลักการนี้อย่างเคร่งครัด” ต่อมาวันที่ 25 มีนาคม 2565 ก็ได้ทวีตอีกครั้งว่า “จำเป็นต้องมีแพลตฟอร์มใหม่หรือไม่” และในวันที่ 26 มีนาคม 2565 ทวีตว่า “ฉันกำลังคิดเรื่องนี้อย่างจริงจัง”

 

4 เมษายน 2565 กลต.สหรัฐฯ ประกาศว่า ‘อีลอน มัสก์’ ถือครองหุ้น ‘Twitter’ จำนวน 73,486,938 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 9.2% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของ ‘Twitter’ และทำให้ ‘อีลอน มัสก์’ กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ ‘Twitter’ ส่งผลให้ช่วงกลางเดือนเมษายน 2565 ได้มีผู้ถือหุ้น ‘Twitter’ กลุ่มหนึ่งได้ร่วมกันฟ้อง ‘อีลอน มัสก์’ โดยระบุว่า ‘อีลอน มัสก์’ จงใจแจ้งข้อมูลเรื่องการซื้อหุ้น ‘Twitter’ ต่อกลต.ช้าเกินไป ซึ่งกฎหมายระบุว่า นักลงทุนต้องแจ้งให้กลต.ทราบภายใน 10 วัน เมื่อซื้อหุ้นบริษัทใดบริษัทหนึ่งเกิน 5% ซึ่ง ‘อีลอน มัสก์’ ซื้อหุ้นทวิตเตอร์เกิน 5% เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565 ดังนั้น ‘อีลอน มัสก์’ ควรแจ้งกลต.ภายในวันที่ 24 มีนาคม 2565

 

ต่อมา ช่วงกลางเดือนเมษายน 2565 กลต.สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ‘อีลอน มัสก์’ เสนอซื้อหุ้น ‘Twitter’ จำนวน 100% ในราคาหุ้นละ 54.20 ดอลลาร์ คิดเป็นวงเงิน 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 1.4 ล้านล้านบาท พร้อมกันนี้ ‘อีลอน มัสก์’ ยังระบุในการเข้าซื้อหุ้นในครั้งนี้ว่า ‘Twitter’ จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นบริษัทเอกชน โดยเพิกถอนหุ้นออกจากตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการเป็นแพลทฟอร์มสำหรับการแสดงออกโดยเสรีสำหรับผู้ใช้บริการทั่วโลก ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย โดย ‘Twitter’ จะไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวภายใต้สภาวการณ์ปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังระบุว่า ข้อเสนอดังกล่าวเป็นข้อเสนอสุดท้ายและดีที่สุด ซึ่งหากไม่ได้รับการยอมรับ ก็พร้อมที่จะพิจารณาทบทวนสถานะการเป็นผู้ถือหุ้นของเขา

 

15 เมษายน 2565 คณะกรรมการบริหารของ ‘Twitter’ ประกาศการลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ที่จะใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่าการวางยาพิษ (Poison Pill) ซึ่งเป็นการกำหนดสิทธิให้บรรดาผู้ถือหุ้นของทวิตเตอร์สามารถซื้อหุ้นเพิ่มได้ภายในระยะเวลาที่จำกัด หลังจาก ‘อีลอน มัสก์’ เสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของ ‘Twitter’ มูลค่า 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยภายใต้กลยุทธ์ดังกล่าว หากมีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลต้องการซื้อหุ้น ‘Twitter’ มากกว่า 15% ขึ้นไปโดยที่ไม่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารของบริษัทนั้น ผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆ จะได้รับอนุญาตให้ซื้อหุ้นเพิ่มได้ในราคาที่มีส่วนลด ซึ่งแผนการดังกล่าวเป็นวิธีการที่ใช้กันโดยทั่วไปเพื่อขัดขวางแนวโน้มที่บริษัทจะถูกเทคโอเวอร์กิจการอย่างไม่เป็นมิตร (Hostile Takeover) เพื่อที่จะลดสัดส่วนการถือครองหุ้นของบุคคลที่ต้องการจะเทคโอเวอร์กิจการ

 

26 เมษายน 2565 บริษัททวิตเตอร์ ประกาศยอมรับข้อเสนอของ ‘อีลอน มัสก์’ ที่ต้องการซื้อกิจการของทวิตเตอร์มูลค่า 54.20 ดอลลาร์ต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่ารวม 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์ โดย ‘เบรต เทย์เลอร์’ ประธานกรรมการ ‘Twitter’ กล่าวว่า “คณะกรรมการบริหารของทวิตเตอร์ยอมรับข้อเสนอการซื้อกิจการของนายอีลอน มัสก์ หลังจากที่ได้ทำการพิจารณาข้อเสนอดังกล่าว โดยมุ่งเน้นถึงมูลค่า ความแน่นอน และด้านการเงิน การทำธุรกรรมครั้งนี้จะอยู่ในรูปของเงินสด และเราเชื่อว่านี่จะเป็นแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับผู้ถือหุ้นทวิตเตอร์”

 

13 พฤษภาคม 2565 ‘อีลอน มัสก์’ เปิดเผยว่า จะพักการเจรจาข้อตกลงในการซื้อกิจการ ‘Twitter’ เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะได้รับข้อมูลมากขึ้นเกี่ยวกับจำนวนบัญชีปลอมบน ‘Twitter’ อย่างไรก็ดี หลังจากนั้น 2 ชั่วโมง ‘อีลอน มัสก์’ ได้ทวีตยืนยันว่ายังคงยึดมั่นต่อการเจรจาซื้อกิจการ ‘Twitter’

 

26 พฤษภาคม 2565 มีรายงานว่า ‘อีลอน มัสก์’ วางแผนที่จะเพิ่มวงเงินส่วนตัวเพื่อซื้อกิจการ ‘Twitter’ เป็น 3.35 หมื่นล้านดอลลาร์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ประกาศพักการเจรจาข้อตกลงซื้อ ‘Twitter’ ชั่วคราว โดยสำนักข่าว ‘BBC’ รายงานว่า ‘อีลอน มัสก์’ กำลังเจรจากับ ‘แจ็ค ดอร์ซีย์’ ผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอของ ‘Twitter’ รวมทั้งเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ ของ ‘Twitter’ เพื่อช่วยเหลือในการบรรลุข้อตกลงซื้อกิจการ ‘Twitter’ วงเงิน 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์

 

7 มิถุนายน 2565 ‘อีลอน มัสก์’ ตอกย้ำอีกครั้งถึงกรณีที่อาจจะถอนตัวจากข้อตกลงซื้อกิจการ ‘Twitter’ มูลค่า 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์ หาก ‘Twitter’ ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีสแปมและบัญชีปลอม ซึ่งคำเตือนดังกล่าวส่งผลให้ราคาหุ้น ‘Twitter’ ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การเตือนในครั้งนี้ ทนายความของ ‘อีลอน มัสก์’ ได้ส่งจดหมายเตือนโดยตรงไปถึง ‘วิจายา เกดด์’ หัวหน้าฝ่ายกฎหมายของ ‘Twitter’ โดย ‘อีลอน มัสก์’ ระบุว่า ‘Twitter’ ละเมิดข้อตกลงที่ระบุไว้ในพันธกรณีว่าด้วยการซื้อกิจการ

 

13 กรกฎาคม 2565 ‘Twitter’ ยื่นฟ้องต่อศาลในรัฐเดลาแวร์ของสหรัฐฯ เพื่อเอาผิด ‘อีลอน มัสก์’ ฐานละเมิดข้อตกลงซื้อกิจการวงเงิน 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์ และได้ร้องขอให้ศาลออกคำสั่งให้ ‘อีลอน มัสก์’ ดำเนินการซื้อกิจการตามราคาที่ตกลงกันไว้ที่ 54.20 ดอลลาร์ต่อหุ้น

 

29 กรกฎาคม 2565 ‘อีลอน มัสก์’ ฟ้องกลับ ‘Twitter’ หลังถูกฟ้องร้องเอาผิดฐานยกเลิกข้อตกลงซื้อกิจการ ‘Twitter’ ในศาลรัฐเดลาแวร์

 

15 สิงหาคม 2565 ศาลสั่งให้ ‘Twitter’ มอบเอกสารของ ‘เคย์วอน เบย์กพัวร์’ อดีตผู้บริหารบริษัทให้แก่ ‘อีลอน มัสก์’ เนื่องจากนายมัสก์มองว่าเป็นบุคคลสำคัญในการคำนวณจำนวนบัญชีปลอมบนแพลตฟอร์ม ‘Twitter’

 

4 ตุลาคม 2565 ‘Twitter’ ได้ยื่นรายงานต่อกลต.สหรัฐฯ ระบุว่า ‘อีลอน มัสก์’ ได้ตัดสินใจยื่นข้อเสนอซื้อกิจการของ ‘Twitter’ อีกครั้งในราคาหุ้นละ 54.20 ดอลลาร์

 

28 ตุลาคม 2565 มีรายงานว่า ‘อีลอน มัสก์’ ได้เสร็จสิ้นการเข้าซื้อกิจการของทวิตเตอร์ ด้วยมูลค่า 44,000 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.6 ล้านล้านบาท) เรียบร้อยแล้ว โดยแหล่งข่าวระบุว่า ภารกิจแรกของ ‘อีลอน มัสก์’ คือการปรับเปลี่ยนทีมผู้นำของ ‘Twitter’ หลังจากทีมผู้บริหารชุดเดิมได้ออกจากสำนักงานใหญ่ในเมืองซานฟรานซิสโกซึ่งรวมถึง ‘ปารัก อักราวัล’ CEO รวมถึง ‘เนด ซีกัล’ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน และ ‘ฌอน เอดเกตต์’ ที่ปรึกษาทั่วไปของ ‘Twitter’ ส่งผลให้ ‘อีลอน มัสก์’ กลายเป็นผู้อำนวยการเพียงหนึ่งเดียวของ ‘Twitter’

 

3 พฤศจิกายน 2565 ‘อีลอน มัสก์’ เปิดเผยว่ากำลังวางแผนปลดพนักงาน ‘Twitter’ ประมาณ 3,700 ตำแหน่ง หรือคิดเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของพนักงานทั้งหมดของ ‘Twitter’ เพื่อลดต้นทุน

 

4 พฤศจิกายน 2565 ‘Twitter’ ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี อันเนื่องมาจากแผนปลดพนักงานครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 3,700 คนของ ‘อีลอน มัสก์’ โดยพนักงานต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘Twitter’ ดำเนินการปลดพนักงานโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าตามระยะเวลาที่บัญญัติเอาไว้ในกฎหมายของรัฐบาลกลางสหรัฐและรัฐแคลิฟอร์เนีย

 

ส่วนล่าสุด เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 ‘อีลอน มัสก์’ แถลงต่อพนักงาน ‘Twitter’ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เข้าซื้อกิจการด้วยข้อตกลงมูลค่า 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยระบุว่า ‘Twitter’ มีความเป็นไปได้ที่จะล้มละลาย หากไม่เริ่มหาเงินเพิ่ม โดยได้กล่าวเตือนเชิงกดดันหลายเรื่องด้วยกัน อาทิ พนักงานควรทำงานสัปดาห์ละ 80 ชั่วโมง, สวัสดิการพิเศษจะลดน้อยลง เช่น ยกเลิกอาหารฟรี และยังได้ยกเลิกนโยบายที่อนุญาตให้พนักงานทำงานจากที่บ้านซึ่งเกิดขึ้นในช่วงการระบาดของ COVID-19 นอกจากนี้ แหล่งข่าวยังเปิดเผยคำพูด ‘อีลอน มัสก์’ ด้วยว่า “ถ้าคุณไม่อยากมา ก็ลาออก”

 

นอกจากนี้ ‘สำนักข่าวบลูมเบิร์ก’ รายงานว่า ทันทีที่ ‘อีลอน มัสก์’ กุมอำนาจ ‘Twitter’ สถานการณ์ภายในบริษัทก็ปั่นป่วนโกลาหล โดยในช่วงเวลาเพียง 2 สัปดาห์ ‘อีลอน มัสก์’ ได้สั่งเลิกจ้างพนักงาน ‘Twitter’ จำนวนมากถึงครึ่งหนึ่ง และปลดผู้บริหารระดับสูงออกไปเกือบหมด ทั้งยังสั่งยกเลิกนโยบายทำงานจากที่บ้าน พร้อมเรียกตัวพนักงานที่เหลือกลับเข้ารายงานตัวที่สำนักงาน ขณะเดียวกันมีรายงานว่า ‘โยเอล รอธ’ และ ‘โรบิน วีลเลอร์’ ผู้บริหารระดับสูงสองคนที่เหลืออยู่ของ ‘Twitter’ กำลังจะต้องออกจากบริษัทเช่นเดียวกัน แม้มีรายชื่อปรากฏอยู่ในคณะผู้บริหารชุดใหม่ของ ‘อีลอน มัสก์’ ก็ตาม

 

ทั้งยังระบุว่า แม้การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ทำให้ ‘Twitter’ รอดพ้นจากการตรวจสอบของตลาดสาธารณะ แต่ ‘อีลอน มัสก์’ ก็ได้สร้างภาระหนี้สินให้แก่องค์กรถึงเกือบ 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งขณะนี้อยู่ในมือของธนาคารย่านวอลล์สตรีท 7 แห่งซึ่งไม่สามารถขายให้กับนักลงทุนได้

ถือเป็นมหากาพย์ที่ทำเอาใครหลาย ๆ คนปวดหัวไปตาม ๆ กันเลยทีเดียว สำหรับดีลซื้อ ‘Twitter’ ของ ‘อีลอน มัสก์’ ในครั้งนี้ แต่ที่น่าเห็นใจที่สุด คงเป็นเหล่าพนักงานของ ‘Twitter’ ที่ต้องมาโดนเลิกจ้างแบบฟ้าผ่า ส่วนที่น่าจับตาและดูจะน่ากังวลที่สุด เห็นจะเป็นอนาคตของ ‘Twitter’ ที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของ ‘อีลอน มัสก์’ ว่าจะเป็นไปในทิศทางใดต่อจากนี้

 

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

 

ที่มา : yahoo, InfoQuest

 

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ElonMusk #อีลอนมัสก์ #Twitter