TRUE-DTAC

กสทช.โต้แทน TRUE-DTAC ลดค่าบริการจริง แพ็กเกจประหยัดยังอยู่ แต่อาจไม่ได้โปรโมท!

ภายหลังจากที่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จํากัด (มหาชน) หรือ DTAC หรือผู้ให้บริการสัญญานโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต ‘ทรู และดีแทค’ ดำเนินการควบรวมเป็นบริษัทใหม่ร่วมกันเสร็จสมบูรณ์ อย่างเป็นทางการในชื่อ “บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2566 ก็มีการวิจารณ์จากผู้ใช้บริการทั้ง 2 ค่ายมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของสัญญานที่คุณภาพต่ำลง แพคเกจประหยัดที่หายไป

ซึ่งการที่มีผู้บริโภคออกมาร้องเรียนเกี่ยวกับอัตราค่าบริการและคุณภาพสัญญาณโทรศัพท์มือถือนั้น ทำให้ สำนักงาน กสทช. ต้องออกตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง ว่า ภายหลังควบรวมทั้ง 2 แบรนด์ได้ทำตามเงื่อนไขของสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า กขค.หรือไม่ เพราะทั้ง 2 แบรนด์นั้นอยู่ในโครงสร้างตลาดกึ่งผูกขาด ห้ามใช้อำนาจเหนือตลาดเอาเปรียบผู้บริโภคทั้งด้านราคา และคุณภาพ

โดย สำนักงาน กสทช. ได้ออกมาชี้แจงว่า ทาง TRUE และ DTAC ได้ลดราคาจริง ซึ่งจากการตรวจสอบด้วยการสุ่มตรวจ พบว่า การลดราคาเป็นการลดค่าเฉลี่ย โดยนำแพคเก็จที่ประชาชนใช้มากมาเฉลี่ยลดราคาลง ผลการตรวจสอบพบว่าบริษัทได้ลดราคาค่าบริการลง 12% ตามข้อกำหนด ส่วนที่มีคนท้วงว่าแพคเก็จราคาประหยัดหายไป เมื่อตรวจสอบแล้วแพคเก็จยังคงมีอยู่แต่ลูกค้าอาจจะไม่เห็น และทางค่ายอาจจะไม่ได้นำเสนอหากลูกค้าไม่ถาม ซึ่งนั่นขึ้นอยู่กับวิธีทางการตลาดของผู้ให้บริการ

นอกจากนี้ได้ด้านของคุณภาพสัญญาณ ซึ่งมีเงื่อนไขกำหนดว่าหลังควบรวมจะต้องไม่ลดจำนวนระบบสื่อสัญญาณ (Cell Site) และต้องรักษาคุณภาพและมาตรฐานของบริการไม่ให้ลดลง ซึ่ง กสทช.ได้ทำการตรวจสอบแล้วพบว่า หลังการรวมกิจการสิ่งที่ TRUE ทำคือการตรวจสอบว่าในพื้นที่ให้บริการที่มีเซลไซด์ทั้ง TRUE และ DTAC เสาสัญญาณอันไหนที่ให้บริการได้ดีกว่าก็จะเก็บไว้ อันไหนน้อยกว่าจะยกเลิกเสานั้นไป แต่จำนวนระบบสื่อสัญญาณยังคงอยู่ และโยกย้ายไปยังจุดอื่น ซึ่งก่อนเคลื่อนย้าย กสทช.ได้ย้ำให้รักษาคุณภาพการให้บริการ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ามีการร้องเรียนเกี่ยวคุณภาพสัญญาณแค่ 17 เรื่อง ซึ่งยอมรับว่าการเคลื่อนย้าย Cell Site ในบางจุด อาจทำให้มีปัญหาเน็ตช้าได้

ซึ่งการตรวจสอบที่ต้องละเอียดมากขึ้นนั้น สืบเนื่องมาจากการที่ สภาผู้บริโภค และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้จัดการประชุมในหัวข้อ จ่ายแพง สัญญาณตก คุณภาพต่ำ ‘มโน’ หรือ ‘เรื่องจริง’ หลังควบรวม? ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ได้มีตัวแทนผู้บริโภคในภูมิภาคได้สะท้อนปัญหาที่พบเจอหลังควบรวมกิจการโทรคมนาคม ใน 4 ประเด็น คือ ความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด และสัญญาณโทรศัพท์ที่ไม่เสถียร , ปัญหาการแจ้งเปลี่ยนแพ็กเกจโดยไม่แจ้งให้ทราบ ซ้ำยังเป็นแพ็กเกจที่มีราคาแพงขึ้นหรือได้รับบริการแพ็กเกจเสริมโดยที่ไม่ได้รับความยินยอม ,ศูนย์บริการที่อยู่ห่างไกล ทำให้ผู้บริโภคในบางพื้นที่ไม่สะดวกในการเข้าไปใช้บริการ และการลดหย่อนค่าบริการสำหรับคนพิการไม่ตอบโจทย์ รวมถึงรูปแบบการใช้สิทธิข้างต้นที่ทำให้คนพิการ เนื่องจากต้องไปยืนยันตัวตนที่ศูนย์บริการเท่านั้น

อย่างไรก็ตามในส่วนของปัญหาด้านคุณภาพสัญญาณนั้น ‘Business+’ พบข้อมูลของการร้องเรียนก่อนและหลังการควบรวม พบว่า ก่อนควบรวมช่วงเดือน (ม.ค.-4 ส.ค.) ระยะเวลา 7 เดือนมีการร้องเรียนของทั้ง TRUE และ DTAC รวมกัน 944 เรื่อง เป็นของ TRUE จำนวน 637 เรื่อง ของ DTAC จำนวน 307 เรื่อง แต่ภายหลังควบรวม 4 ส.ค.- 30 พ.ย. ด้วยระยะเวลาเพียง 4 เดือน มีการร้องเรียนมากถึง 836 เรื่อง

ซึ่งปัญหาที่เกิดการร้องเรียนมากที่สุดเรียงตามลำดับดังนี้
– ปัญหาเกี่ยวกับการได้รับข้อความสั้น (SME)
– มาตรฐานการให้บริการ
– การคิดค่าบริการผิดพลาด
– คุณภาพสัญญาณ
– สิทธิความเป็นส่วนตัวและข้อมูลส่วนตัว
– การยกเลิกบริการ

โดยจะเห็นว่าปัญหาด้านคุณภาพสัญญาณยังไม่ใช่ปัญหาอันดับแรกๆ ที่ถูกร้องเรียน แต่การร้องเรียนกลับเป็นปัญหาเดิมที่ผู้ใช้บริการมักเจออยู่ตลอดนั่นคือ การได้รับข้อความ SMS ที่สร้างความรำคาญให้กับผู้ใช้มากกว่า

ที่มา : กสทช. ,TRUE ,DTAC

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#thebusinessplus #BusinessPlus #ควบรวมทรูดีแทค #TRUE #DTAC #TRUEDTAC