ไทยอยู่ตรงไหน? ในสงคราม ‘ไต้หวัน-จีน’

ความตึงเครียดระหว่างจีนและไต้หวันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังการเดินทางเยือนไต้หวันของ ‘แนนซี เพโลซี’ ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 2-3 ส.ค.ที่ผ่านมา
แน่นอนว่า สร้างความไม่พอใจให้กับผู้นำของจีนอย่าง ‘สี จิ้นผิง’ เป็นอย่างมาก จากนโยบายจีนเดียวที่เน้นความยิ่งใหญ่ และระบบคอมมิวนิสต์อย่างเข้มข้น ดังนั้นกรณีของไต้หวันจึงถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนเป็นอย่างมาก เพราะสำคัญต่อนโยบาย และยุทธศาสตร์ของ สี จิ้นผิง
เราจึงได้เห็น การซ้อมรบของจีนรอบๆ ไต้หวันเพื่อตอบโต้การกระทำของสหรัฐฯ รวมไปถึงการทำสงครามการค้า ซึ่งจีนเริ่มแบนสินค้านำเข้าจากไต้หวันบางประเภท
เมื่อทั้ง 2 ประเทศกำลังจะทำสงครามการค้ากัน คำถามคือ ไทยจะได้รับผลกระทบอย่างไร? และไทยควรอยู่ฝั่งไหนในสงครามครั้งนี้กันแน่?
ย้อนกลับไปไม่กี่วันก่อนที่‘แนนซี เพโลซี’ จะไปเยือนไต้หวัน ทาง ‘กรมศุลกากรจีน’ ได้เริ่มสงครามการค้ากับไต้หวัน โดยให้เหตุผลจากการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสี ที่อาจปนเปื้อนมากับอาหาร หรือแม้กระทั่ง เหตุผลอย่างการตรวจพบยาฆ่าแมลงตกค้างที่เปลือกส้ม ไปจนถึงการตรวจพบเชื้อ COVID-19 ในปลาแช่แข็ง
โดยพบว่าสินค้าที่ห้ามนำเข้าจากผู้ประกอบการไต้หวันส่วนมากเป็นอาหารแปรรูป เช่นสินค้าขนม ขบเคี้ยว บิสกิต ขนมเปี๊ยะ ขนมปัง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เครื่องดื่มบรรจุขวด ใบชา น้ำผึ้ง และยังมีสินค้าประเภทอื่นอีก ซึ่งการแบนสินค้าจากไต้หวันได้ทำให้มีผู้กระทบในอุตสาหกรรมอาหารจำนวนมาก
ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปของไต้หวันหลายรายได้รับผลกระทบ เช่น
– Vigorkobo แบรนด์ขนมจากไต้หวัน เช่น พายสัปปะรด พายเผือก ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกซื้อเป็นของฝากจากไต้หวัน
– Kuo Yuan Ye ร้านขนมไต้หวัน ซึ่งมีประวัติยาวนานกว่า 150 ปี มีขนมหลากหลายชนิด เช่น เค้กสับปะรด ขนมไหว้พระจันทร์
– Wei Lih Food Industrial แบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และยังมีผู้ประกอบการอาหารอีกหลายเจ้าที่ได้รับผลกระทบ
โดยพบข้อมูลจากฐานข้อมูลของกรมศุลกากรจีน ว่า มีสินค้าอาหารของไต้หวันขึ้นทะเบียนรวม 3,228 รายการ โดยในจำนวนนี้มี 2,066 รายการที่ถูกห้ามนำเข้าชั่วคราว คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 64% ของรายการสินค้าอาหารทั้งหมดของไต้หวันที่มีการขึ้นทะเบียน
การแบนสินค้าจากไต้หวันในครั้งนี้ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้น และอาจจะไม่ง่ายสำหรับรัฐบาลไต้หวันที่แก้ไขปัญหา และช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ในระยะเวลาสั้นๆ เพราะการค้าระหว่างไต้หวันและจีนมีความเกี่ยวพันกันเป็นอย่างมาก ในส่วนที่จีนต้องพึ่งพาไต้หวันจะเป็น ภาคการผลิต อุตสาหกรรมไฮเทค (ซึ่งในชั้นนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบ)
ขณะที่ในส่วนที่ไต้หวันต้องพึ่งพาจีน ในภาคการก่อสร้างซึ่งจำเป็นต้องใช้ทรายธรรมชาติ รวมถึงอุตสาหกรรมอาหารและสินค้าเกษตรที่ต้องพึ่งพาการส่งออก โดยมีจีนเป็นตลาดหลัก ดังนั้น การถูกห้ามนำเข้าในครั้งนี้ทำให้อุตสาหกรรมอาหารของไต้หวัน และก่อสร้างได้รับผลกระทบไม่น้อยเพราะจีนเป็นตลาดส่งออกสำคัญและเป็นตลาดที่ไต้หวันได้ดุลการค้าต่างประเทศที่สูงที่สุด
นอกจากสงครามการค้าแล้ว การซ้อมรบของจีนรอบเกาะไต้หวันระหว่างวันที่ 4-8 ส.ค.ก็ส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมประมงเช่นเดียวกัน โดย ‘กรมเจ้าท่าของไต้หวัน’ เปิดเผยว่า การซ้อมรบทำให้เรือประมงไม่สามารถออกไปจับปลาได้ตามปกติ ทำให้เกิดความเสียหายให้แก่สมาชิกอย่างน้อยประมาณ 60 ล้านบาท ดังนั้นหากทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถเจรจากันได้อย่างเร็วที่สุด จะทำให้ภาวะเศรษฐกิจการค้าสูญเสียเสถียรภาพไปอย่างแน่นอน 
ไทยอยู่ฝั่งไหน?
มาดูความสัมพันธ์ระหว่าง ไทยกับจีน และไทยกับไต้หวันกันบ้าง ในปัจจุบันไทยยอมรับว่า ‘สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นจีนเพียงหนึ่งเดียว’ แต่ไทยมีความสัมพันธ์ทางการทูตแบบไม่เป็นทางการกับไต้หวันผ่านสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ประจำ ณ​ กรุงไทเป
ในปี 2518 (ค.ศ. 1975) อดีตนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนและได้สถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างกัน นั่นเป็นจุดสิ้นสุดการรับรองสถานะของ ‘ไต้หวัน’ ตามนโยบาย ‘จีนเดียว’ ของรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่
ทำให้ตั้งเเต่นั้นเป็นต้นมาประเทศไทยจัดตั้งได้เพียง ‘สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป’ หรือเรียกง่ายๆ ว่า สำนักงานตัวแทนไทเป ซึ่งจริงๆแล้วคือสถานทูตและสถานกงสุลของสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ซึ่งการก่อตั้งสำนักงานนี้ใช้คำว่า ‘ไทเป’ แทน ‘ไต้หวัน’ เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการตีความว่าเป็นอีกประเทศหนึ่ง หรือมีประเทศจีน 2 ประเทศ
หันมาดูการค้าของจีนกับไทย โดยที่ผ่านมาจีนเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ของไทย ด้วยมูลค่าการค้า 3,301,717 ล้านบาท ซึ่งไทยขาดดุลการค้า 954,194 ล้านบาท ในปี 2564
ขณะที่สหรัฐฯ ซึ่งหนุนฝั่งไต้หวัน เป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทย ด้วยมูลค่าการค้า 1,779,022 ล้านบาท ซึ่งไทยเกินดุลการค้า 863,694 ล้านบาท ส่วนไต้หวันเป็นคู่ค้าอันดับ 10 ของไทย ด้วยมูลค่าการค้า 483,252 ล้านบาท (ไทยขาดดุลการค้า 188,931 ล้านบาท)
จะเห็นได้ว่า ไทยขาดดุลการค้าทั้งกับจีน และกับไต้หวัน แต่เกินดุลกับสหรัฐฯ เป็นจำนวนมาก จากการส่งออกสินค้าประเภทเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ
แต่ไทยก็มีความสัมพันธ์กับไต้หวันค่อนข้างดีในตลาดแรงงาน เพราะปัจจุบันคนไทยเดินทางไปทำงานในไต้หวันสูงสุด เป็นอันดับ 1 ของโลก โดยปี 2564 กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้จัดส่งแรงงานไทยเดินทางไปทำงานในไต้หวัน จำนวน 9,107 คน และ Re-entry จำนวน 3 คน รวม 9,110 คน
และไทยยังต้องพึ่งพาไต้หวันในการนำเข้าสินค้าประเภท แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เหล็ก เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะ เครื่องจักรไฟฟ้า
ส่วนสินค้าสำคัญที่จีนส่งออกมาไทย คือ โทรศัพท์มือถือ ชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เหล็กกล้า คาร์บอนแบล็ค อุปกรณ์ควบคุมและจ่ายไฟฟ้า จอ LCD คอมเพรสเซอร์ของเครื่องปรับอากาศ เห็ดหอมแห้ง สารกำจัดวัชพืช
ถึงแม้สงครามระหว่าง 2 ประเทศที่เป็นคู่ค้าหลักกับไทยจะทำให้การบริโภคในประเทศของทั้ง 2 ประเทศลดน้อยลง และกระทบต่อการนำเข้าของ 2 ประเทศที่น้อยลง (มูลค่าการค้าของไทยก็อาจจะต่ำลง) แต่หากมองอีกแง่ ก็ถือเป็นโอกาสสำหรับสินค้าไทยเช่นเดียวกัน
โดย รมว.พาณิชย์ ได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ของไทยที่ประจำอยู่ประเทศจีน สำรวจสินค้าที่ไทยสามารถส่งออกไปจีน เพื่อทดแทนสินค้าไต้หวันที่ไม่สามารถส่งออกไปยังจีนได้
ซึ่งขณะนี้ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เร่งจัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจทางออนไลน์ ระหว่างผู้ส่งออกไทยกับผู้นำข้าวของจีน ซึ่งมีกำหนดจะจัดขึ้นในวันที่ 24-25 ส.ค.นี้ ล่าสุด มีผู้ส่งออกไทยตอบรับเข้าร่วมแล้ว 150 ราย และมีผู้นำเข้าจากจีนและฮ่องกงตอบรับ 200 ราย โดยหวังว่ามูลค่าส่งออกจะเพิ่มขึ้นจำนวนหนึ่ง ส่วนการนำเข้า-ส่งออกของไทย ขณะนี้ยังไม่มีปัญหาจากกรณีจีนกับไต้หวัน
ขณะที่ทาง ‘Business+’ ได้สำรวจข้อมูลและพบว่า หนึ่งในสินค้าจากไต้หวันที่ส่งออกไปจีนจำนวนมากคือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โดยจากการสำรวจยอดบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั่วโลก พบว่า จีนเป็นประเทศที่มีการบริโภคสูงที่สุดในโลกอย่างยาวนาน มาตั้งแต่ก่อนปี 2557 โดยที่ความต้องการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั่วโลกของจีนสูงถึงราว 44% และอันดับที่ 2 เป็นอินโดนีเซีย ด้วยสัดส่วนราว 12-13% และอันดับที่ 3 คือ อินเดีย สัดส่วนราว 6-7%
ดังนั้น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจึงถือเป็นหนึ่งในสินค้าที่ผู้ประกอบการไทย จะมีโอกาสส่งออกไปยังจีนได้มากขึ้น จากส่วนแบ่งการตลาดของไต้หวันที่ลดลง
เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ที่มา : DITP
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/
#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #จีนไต้หวัน #สงครามการค้า #ไต้หวัน #จีน #สหรัฐฯ