เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่พ้นขีดอันตราย!! เปิด 4 เหตุการณ์ที่จะกระทบต่อธุรกิจ และคนทำการค้ากับสหรัฐฯ

สหรัฐฯ เป็นประเทศมหาอำนาจที่มีระบบความมั่งคงที่แข็งแกร่งจากขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก และยังเป็นผู้ผลิตอาวุธต่างๆ ที่สามารถสร้างความสั่นสะเทือนระดับโลกได้ จึงทำให้สหรัฐฯกลายเป็นผู้คุมการเงิน การค้า อัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงเป็นผู้วางกติกาโลก นั่นจึงทำให้หลายๆ ประเทศบนโลกต่างต้องการทำธุรกิจ และทำการค้ากับสหรัฐฯ

แต่ดูเหมือนหลายปีที่ผ่านมานี้ สหรัฐกำลังเผชิญกับความยากลำบาก และต้องเผชิญกับความมั่นคงที่สั่นคลอนขึ้น นั่นเป็นเพราะเริ่มมีคู่แข่งที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจตีขนาบขึ้นมาอย่างประเทศจีน (ขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก) และสหรัฐนั้นก็ยังขาดดุลการค้ากับจีนอีกด้วย นั่นก่อให้เกิดเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามการค้า ที่สร้างผลกระทบไปยังประเทศคู่ค้าทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย

สำหรับจุดเริ่มต้นของปัญหาสงครามการค้า เกิดจากการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯที่มีต่อจีน โดยในปี 2561 สหรัฐฯมีการขาดดุลการค้าที่มากที่สุดกับประเทศจีนเป็นมูลค่าถึง 4.19 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายมีการตอบโต้กันด้วยมาตรการทางภาษีตลอดมา รวมถึงมีการเจรจากันเป็นครั้งคราว ซึ่งสงครามการค้าครั้งนี้ยังไม่จบลงง่าย ๆ และกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้คนทำธุรกิจ หรือส่งออก นำเข้ากับสหรัฐฯ จำเป็นต้องติดตามข่าวสาร และประเด็นที่จะกระทบต่อการค้าอย่างใกล้ชิด

โดย ‘Business+’ มองไปถึงประเด็นที่จะก่อให้เกิดผลกระทบเอาไว้ทั้งหมด 4 ข้อด้วยกันในปี 2023 คือ

1. ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ตึงเครียดจากประเด็นของไต้หวัน : เราจะเห็นว่าแนวโน้มความตึงเครียดของ 2 ประเทศนี้มีโอกาสที่จะรุนแรงขึ้น หลังจากในปีที่ผ่านมาสหรัฐฯ ได้ออกหน้าในการสนับสนุนไต้หวันให้ต่อต้านการคุกคามจากจีน ซึ่งการที่สหรัฐฯ เข้าไปมีเอี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอยู่ต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2022 จนถึงปัจจุบันจะทำให้เกิดความเสี่ยงสูงที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้ง และนำไปสู่การสู้รบทางทหาร เพราะจีนเคยประกาศชัดเจนว่าอาจจะต้องใช้กำลังผนวกไต้หวันตามนโยบานจีนเดียว หากสหรัฐฯ ยังคงให้การสนับสนุนไต้หวัน

2. ในปี 2023 สหรัฐฯ อาจเปลี่ยนนโยบายการค้าเป็นรูปแบบที่เข้มงวดมากขึ้น : โดยที่คาดการณ์ว่าสหรัฐฯ จะเปลี่ยนไปใช้นโยบายที่เป็นการปกป้องเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้น จากเดิมเป็นนโยบายการค้าออกในระบบตลาดแบบเปิด (open market) ที่ใช้มาหลาย 10 ปีเข้าสู่นโยบายการค้าในรูปแบบที่เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับ America First Trade Policy (ของทรัมป์)

โดยที่ผ่านมานโยบายเศรษฐกิจในลักษณะ underreaction ทำให้มีการลงทุนในจีนและการพึ่งพาจีนมากจนเกินไป (เพื่อที่จะสามารถผลิตสินค้าราคาถูกสำหรับผู้บริโภคสหรัฐฯ) แต่เมื่อเผชิญวิกฤต COVID-19 ก็ก่อให้เกิดปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทาน และการขาดแคลนสินค้าในตลาดที่ผ่านมาเป็นบทเรียนให้สหรัฐฯประจักษ์ถึงการที่ไม่ได้มองผลเสียในระยะยาวที่จะตามมาและสร้างความกลัวว่าประวัติศาสตร์ซ้ำรอยทำให้คาดการณ์ว่าในปี 2023 สหรัฐฯจะใช้เงินช่วยเหลือสนับสนุนกับบริษัทสหรัฐฯเพื่อเร่งให้เกิดการย้ายฐานการผลิตกลับสหรัฐฯ

3. สหรัฐฯ ยังคงเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อสูง : โดยที่อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นนั้น จะทำให้ทางธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ต้องใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัว ไม่ว่าจะเป็นการดึงเม็ดเงินออกจากในระบบ (QT) หรือ การขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะเฟดยังต้องต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อต่อไป โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดในปี 2026 จะอยู่ที่ 5.1% โดยที่นโยบายการเงินแบบตึงตัวนั้น จะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงได้ และเป็นผลกระทบต่อประเทศคู่ค้า (เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว คนในประเทศบริโภคน้อยลง ทำให้ดีมานด์ในตลาดน้อยลงตาม)

4. สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าอย่างมหาศาล : โดยในปี 2021 นั้นสหรัฐฯขาดดุลการค้ากับโลกสูงถึง 8.5 แสนล้านดอลลาร์ในปี 64 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ (ขาดดุลการค้าพุ่งขึ้น 27%) แสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯ กำลังเสียเปรียบทางการค้าอยู่ และการขาดดุลนั้น จะส่งผลต่อตัวเลขทางเศรษฐกิจของประเทศ (GDP) อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะต่ำลงนั่นเอง

แม้ทั้ง 4 ประเด็นนี้จะยังคงกดดันเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคนทำธุรกิจกับสหรัฐฯ แต่หากมองในอีกแง่สำหรับประเด็นของสงครามการค้าอย่างเดียวกัน ความไม่ลงรอยระหว่างสหรัฐฯ และจีนก็ถือเป็นโอกาสของการส่งออกจากประเทศไทยไปยังสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน

โดยข้อมูลในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ถึงแม้ว่าจีนจะยังคงเป็นแหล่งอุปทานนำเข้าเบอร์ 1 ของสหรัฐฯ แต่การนำเข้าจากจีน และส่วนแบ่งของจีนในตลาดนำเข้าสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลงอย่างรวดเร็ว และถูกทดแทนด้วยการนำเข้าจากประเทศในเอเซีย (รวมถึงประเทศไทย)

ที่มา : ditp

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

#Businessplus #Business #นิตยสารBusinessplus #สหรัฐฯ #การค้ากับสหรัฐฯ #จีนสหรัฐฯ #การส่งออก