การท่องเที่ยวไทย

เปิด 5 อันดับนักท่องเที่ยวเข้าไทย ตั้งแต่ต้นปี ‘มาเลเซีย+จีน’ มาแล้ว 2.7 ล้านคน

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยทยอยฟื้นตัวดีขึ้นหลังจากประเทศจีนได้ปลดล็อกประเทศ ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวจากจีนที่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของไทยฟื้นกลับขึ้นมาอย่างก้าวกระโดด ทั้งนี้หากดูข้อมูลนักท่องเที่ยวที่เข้าไทยในปี 2565 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมทั้งหมด 11.82 ล้านคน สร้างรายได้ 1.5 ล้านล้านบาท แต่จำนวน ‘นักท่องเที่ยวจีน’ เดินทางเข้าไทยมีเพียง 262,443 คน จากช่วงก่อน COVID-19 สูงถึง 10.99 ล้านคน (ในปี 2562) ซึ่งนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเที่ยวไทยเป็นอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วน 27.63% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด และสร้างรายได้ให้ไทยมากถึง 5.43 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่ามากมายมหาศาลทีเดียว แต่ภายหลังจากจีนเผชิญกับ COVID-19 ก็ได้ทำให้การเดินทางเป็นไปได้ยาก นักท่องเที่ยวในปี 2565 ก่อนการปลดล็อกหดตัวลงไปจำนวนมาก

อย่างไรก็ตามในปี 2566 เป็นปีที่จีนได้ปลดล็อกมาตรการ COVID-19 นั่นทำให้นักท่องเที่ยวจีนหลั่งไหลกลับเข้าไทยจำนวนมาก ถึงแม้จะยังไม่สามารถเทียบได้กับช่วงก่อน COVID-19 แต่ก็มีทิศทางการฟื้นตัวค่อนข้างสูง โดยจีนกลับมาเป็นประเทศที่เข้าไทยมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 (จากปี 2565 ไม่ติดอันดับ 1-5) โดยนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (ม.ค.-พ.ค.2566) นักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยจำนวน 1,098,604 คน

โดย Business+ พบข้อมูลว่า ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยข้อมูลว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-27 พ.ค. 66 ประเทศไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว 10.38 ล้านคน และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวแล้วกว่า 428,000 ล้านบาท นั่นเท่ากับว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวในช่วงไม่ถึงครึ่งปีแรกก็ใกล้เคียงกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีของปี 2565 เข้าไปแล้ว โดยนักท่องเที่ยว 5 อันดับแรกที่เข้าไทยมากที่สุดมีดังนี้

5 อันดับประเทศที่เข้าไทยมากที่สุด (1 ม.ค.-27 พ.ค. 66)

  • มาเลเซีย 1,606,373 คน
  • จีน 1,098,604 คน
  • รัสเซีย 734,995 คน
  • เกาหลีใต้ 627,760 คน
  • อินเดีย 583,319 คน

โดยนักท่องเที่ยวมาเลเซียเคยเป็นนักท่องเที่ยวอันดับ 2 ที่เข้าประเทศไทย รองจากประเทศจีน แต่ปัจจุบันกลายเป็นนักท่องเที่ยวที่เข้าไทยมากที่สุด ซึ่งสาเหตุที่ทำให้มาเลเซียเป็นนักท่องเที่ยวหลักของไทยนั้น เป็นเพราะว่า ไทยกับมาเลเซียได้มีการเปิดด่านทางบก การเพิ่มความถี่เที่ยวบินของสายการบิน การเปิดเส้นทางบินใหม่ ๆ สม่ำเสมอ

อีกทั้ง คนมาเลเซียมองว่าประเทศไทยเป็นยังถือเป็นจุดหมายปลายทางที่คุ้มค่าที่สุด ซึ่งสามารถเดินทางมาได้อย่างสะดวก และชาวมุสลิมนิยมการเดินทางท่องเที่ยวในภาคใต้ของไทย เนื่องจากมีวัฒนธรรม รวมไปถึงอาหารที่คล้ายคลึงกัน

นอกจากนี้ ทางการท่องเที่ยวของมาเลเซียได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นการออกเดินทาง โดยร่วมมือกับหน่วยงานเอกชนต่าง ๆ เช่น สายการบินไทยแอร์เอเชีย จัดทำ Joint Promotion ลดราคาบัตรโดยสารเส้นทางบิน กัวลาลัมเปอร์ – หาดใหญ่, ปีนัง – กรุงเทพฯ และ โจโฮร์บะฮ์รู – กรุงเทพฯ มาโดยตลอด

นั่นทำให้ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้คาดการณ์รายได้ภาคการท่องเที่ยวในปี 2566 จะฟื้นสู่ 80% ของรายได้ก่อนเจอ COVID-19 (ปี 62 ไทยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 1.93 ล้านล้านบาท) โดยที่ทาง ททท.ได้มีมาตรการที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวด้วย 5 กลยุทธ์หลักดังนี้

5 กิจกรรมที่ทาง ททท. จะใช้เพื่อส่งเสริมตลาดหลัก

  1. China is back : มุ่งเจาะกลุ่มตลาดใหม่ในจีน พร้อมเพิ่มเที่ยวบินรองรับ
  2. 7-Digit Target : เน้นเจาะประเทศที่นักท่องเที่ยวเกิน 1 ล้านคน
  3. Color your life by Amazing Thailand จัด Consumer Fair : นำ Soft Power ไทยเข้าไปอยู่ในใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
  4. Responsible Tourism : ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ
  5. Second Tier, second to none : เจาะกลุ่มเมืองรอง เน้นการเพิ่มความถี่และที่นั่งสายการบินสู่เมืองหลักและเมืองรองในประเทศ และส่งเสริมให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวตลอดทั้งปี

อุตสาหกรรมท่องเที่ยว

ทั้งนี้ในมุมมองของ Business+ แล้ว ถึงแม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับเข้าประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญก็ตาม แต่ในช่วงที่ผ่านมาเกิดภาวะเงินเฟ้อที่กดดันรายได้ของประชาชน อาจทำให้พฤติกรรมการใช้จ่ายในการท่องเที่ยวต่อทริปของนักท่องเที่ยวลดลงจากกำลังซื้อที่ถดถอย ซึ่งทางการท่องเที่ยวจำเป็นต้องส่งเสริมและพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ สร้างแลนด์มาร์กใหม่ๆ กระตุ้นด้วย Soft Power หรืออำนวยความสะดวกด้านการเดินทาง ไม่ว่าจะทั้งกฏเกณฑ์การเข้าประเทศ และการเปิดฟรีวีซ่าเพื่อจูงใจนักท่องเที่ยวให้มากขึ้นกว่าเดิมถึงจะได้เห็นการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เหมือนกับช่วงก่อนเกิด COVID-19

ที่มา : ททท.

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS