‘ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์’ เตรียมความพร้อมสู่ Next Generation Insurer กับบริการที่ตอบโจทย์ทุกมิติ

‘ทิพยประกันภัย’ เป็นบริษัทประกันภัยที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าเสมอมา ซึ่งเกิดจากความแข็งแกร่งทางด้านการเงิน และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ รวมถึงการให้บริการที่ดีเยี่ยม ซึ่ง ‘ทิพยประกันภัย’ ได้ปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการภายใต้ ‘ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์’ เน้นการให้บริการที่ครอบคลุม และมากกว่าการประกันภัยเพียงอย่างเดียว มุ่งสู่การเป็น Next Generation Insurer ด้วยการดำเนินงานเชิงรุกในทุกมิติ

ดร.สมพร สืบถวิลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2565 ต้องเผชิญกับภาวะโรคระบาด จนทำให้บริษัทประกันภัยหลายรายมีปัญหาด้านสภาพคล่อง และถูกเพิกถอนใบอนุญาต แต่ทิพยประกันภัยเป็นบริษัทฯ ที่ไม่ได้เผชิญกับความรุนแรงของปัญหาดังกล่าว ถึงแม้ประชาชนจะพิถีพิถันกับการเลือกซื้อประกันภัยมากขึ้น แต่ทิพยประกันภัยเป็นบริษัทที่มีความมั่นคงและมีชื่อเสียงที่ดี จึงได้รับการตอบรับในกลุ่มประกันวินาศภัยอย่างต่อเนื่อง

นอกจากความแข็งแกร่งและความน่าเชื่อถือแล้ว ทิพยประกันภัยยังได้พัฒนาและปรับปรุงทั้งด้านผลิตภัณฑ์และการให้บริการอย่างต่อเนื่อง ด้วยแนวคิดที่ต้องการให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่ากับจำนวนเงินที่จ่ายไปมากที่สุด  แม้ว่าทิพยประกันภัยไม่ได้มีเบี้ยประกันถูกที่สุด เพราะว่าเป็นบริษัทที่มีความชัดเจนว่าจะไม่เข้าไปแข่งขันในสงครามด้านราคา  แต่มุ่งเน้นไปที่การให้บริการที่เป็นเลิศกับลูกค้า ทำให้ลูกค้าได้รับความสะดวก สบาย แบบ Any time Anywhere Any Device

ปัจจัยที่ทำให้ทิพยประกันภัยประสบความสำเร็จ คือ ด้านบุคลากร โดยทิพยประกันภัยได้ส่งเสริมศักยภาพให้กับพนักงานในทุก ๆ มิติ มุ่งเน้นในเรื่องของเทคโนโลยี และแนวคิดของทิพยประกันภัย คือ การแบ่งการทำงานของพนักงงานแบบกลุ่ม  ให้เหมาะกับความสามารถด้านการเข้าถึงด้านเทคโนโลยี

เราเรียกการแบ่งกลุ่มการทำงานตามความเหมาะสมนี้ว่า สองนคราประชาธิปไตย โดยกลุ่มคนที่อยู่มาตั้งแต่การให้บริการแบบดั้งเดิมที่ไม่สันทัดเทคโนโลยี แต่มีจุดแข็งในการให้บริการ และดูแลลูกค้า เราก็จะให้เขาได้ทำในสิ่งที่เขาถนัด และคนที่พร้อมเปลี่ยนตัวเองไปใช้เทคโนโลยี เราก็จะให้เขาพัฒนาตัวเอง และมุ่งเน้นไปที่การให้บริการโปรดักส์ใหม่ ๆ ซึ่งทำให้เกิดความสมดุลทั้ง 2 ด้าน ดร.สมพร กล่าว

นอกจากนี้อีกหนึ่งปัจจัยแห่งความสำเร็จ คือ การเป็นธุรกิจประกันวินาศภัยที่มุ่งเน้นไปที่ Trust & Simple โดย Trust คือการตั้งใจดูแล และรักษาสัญญากับลูกค้าให้มากที่สุด จนเกิดความมั่นใจที่จะอยู่กับทิพยประกันภัย ส่วน Simple คือ การทำให้ทุก ๆ อย่าง เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน และทำให้ลูกค้าไม่ว่าเป็นช่วงอายุไหนก็สามารถเข้าถึงการให้บริการของทิพยประกันภัยได้

ดร.สมพร กล่าวว่า ในอดีตทิพยประกันภัยเป็นบริษัทที่มุ่งเน้นลูกค้าองค์กร หรือกลุ่มอุตสาหกรรมเป็นหลัก แต่ปัจจุบันได้เริ่มพัฒนาไปสู่กลุ่มลูกค้ารายบุคคลมากขึ้น ทั้งประกันภัยรถยนต์ ประกันอัคคีภัย ประกันการท่องเที่ยว และประกันสุขภาพ ซึ่งการขยายไปยังลูกค้าส่วนบุคคลทำให้ทิพยประกันภัยมีความสมดุลมากยิ่งขึ้น และในช่วงที่ผ่านมาทิพยประกันภัยได้รับการตอบรับที่ดี จนทำให้ปัจจุบันมีลูกค้ารายย่อยเพิ่มขึ้น

หลักการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้ารายย่อย คือ การทำ Market Research เพื่อหา Pain Point ของลูกค้าแต่ละกลุ่ม และนำมาเป็นแนวคิดในการออกผลิตภัณฑ์เฉพาะกลุ่มที่หลากหลายมากขึ้น เช่น TIP LADY ที่ออกแบบมาสำหรับกลุ่มลูกค้าสุภาพสตรีโดยเฉพาะ ซึ่ง TIP LADY ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการตอบรับอย่างดี รวมถึงผลิตภัณฑ์ TIP Rainbow ที่ตอบสนองกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ TIP up to mile  สำหรับกลุ่มผู้ที่ขับรถน้อย โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นการออกแบบเพื่อตอบสนองกลุ่มคนเฉพาะกลุ่ม

นอกจากนี้ หากมองในมุมด้านการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนในเรื่องของ Environment (สิ่งแวดล้อม) Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล) ทิพยประกันภัยให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก และเป็นบริษัทแรก ๆ ที่มีประกันคุ้มครองความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการออกกรมธรรม์ในรูปแบบ E-policy ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อลดการใช้กระดาษ

ในมิติด้านสังคม ทิพยประกันภัยให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพสังคม ด้วยโครงการ TIP Zone ที่จะช่วยเหลือและส่งเสริมสังคมในรัศมี 5 กิโลเมตร จากอาคารสำนักงานของทิพยประกันภัย เช่น การฉีดละอองน้ำลด PM2.5 จากอาคารทิพยประกันภัย  และร่วมช่วยเหลือการทำศูนย์พักพิงและโรงพยาบาลสนาม ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาหรือแม้กระทั่งช่วยปรับปรุงร้านค้าโดยรอบให้ได้มาตรฐานมากยิ่งขึ้น

ในด้านธรรมาภิบาล ทิพยประกันภัย ถือเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริม Governance เป็นอย่างมาก ด้วยการเปิดช่องทางให้มีการร้องเรียนและคำแนะนำจากประชาชน และผู้มีส่วนได้เสีย นอกจากนี้ยังมี ทีมงาน TIP Smart Assist ที่เป็นมากกว่านักสำรวจภัยบนท้องถนน นอกจากจะให้บริการลูกค้าแล้ว ยังมีจิตอาสาในการช่วยเหลือประชาชนทั่วไปอีกด้วย

ความท้าทายของอุตสาหกรรม

ดร.สมพร กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่ออุตสาหกรรมประกันภัยเป็นอย่างมาก ทิพยประกันภัยได้ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงโดยไม่รอให้เกิดการ Disruption จึงปรับเปลี่ยนพัฒนาอย่างต่อเนื่องนำไปสู่การเป็น Next Generation Insurer  โดยที่ผ่านมาทิพยประกันภัย ได้ปรับโครงสร้างของทิพยประกันภัยเป็น ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ซึ่งการเป็นโฮลดิ้งส์จะทำให้สามารถสร้างสิ่งแวดล้อมด้านธุรกิจประกันภัยใหม่ ๆ ให้กับทิพยประกันภัยมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของเทคโนโลยีที่ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จะทำการค้นหา และพัฒนาสิ่งต่าง ๆ เพื่อเสริมบริการที่ดีขึ้นให้กับทิพยประกันภัย

 

การสร้างพันธมิตรเป็นอีกหนึ่งความท้าทายในอนาคต โดยธุรกิจประกันภัยจะไม่ใช่ Stand Alone อีกต่อไป เพราะในอนาคตประกันภัยจะผนวกอยู่ในผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ เพราะฉะนั้นเราต้องแสวงหาพันธมิตรมากขึ้น และต้องปรับผลิตภัณฑ์และการบริการของเราให้ผนวกเข้ากับคู่ค้าอย่างลงตัวเพื่อตอบสนองกับความต้องการลูกค้าในทุกมิติ ดร.สมพร กล่าวในตอนท้าย

 

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS