TiktokShop

ทำไม ‘TikTok Shop’ ถึงเป็นภัยคุกคาม ‘Shopee-Lazada’ ในตลาดอาเซียน

หากพูดถึงแอปพลิเคชัน ช้อปปิ้งออนไลน์หรือ แพลตฟอร์ม E-Marketplace สุดฮิตแถบที่เรารู้จักกันมาอย่างยาวนาน ก็คงหนีไม่พ้น ช้อปปี้ (Shopee) และ ลาซาด้า (Lazada) ที่มีการโปรโมททางการตลาดอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็น การจัดโปรโมชั่นในวันสำคัญ การมอบโค้ดส่วนลดต่าง ๆ เพื่อเป็นการตอบแทนสมนาคุณให้กับลูกค้า

โดยจากผลการสำรวจ ช้อปปี้ มีผู้เข้าชม 343 ล้านครั้งต่อเดือน ดำเนินการทั่วทั้งภูมิภาคและเพิ่งขยายไปยังอเมริกาใต้ อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคิดเป็น 27% ของการเข้าชมช้อปปี้ ส่วนไทยมีสัดส่วนการเข้าชม อยู่ที่ 11%

ขณะที่ ลาซาด้า มีผู้เข้าชม 128 ล้านครั้งต่อเดือน เช่นเดียวกับ Shopee ที่ดำเนินการทั่วทั้งภูมิภาค แต่ไทยและฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่สำคัญที่สุดสำหรับลาซาด้า โดยอินโดนีเซียเป็นประเทศที่สาม ซึ่งฟิลิปปินส์มีสัดส่วนการเข้าชม 25% ขณะเดียวกันไทย มีสัดส่วนการเข้าชม 23%

ทั้งนี้หากมองภาพรวมการเติบโตของตลาด E-commerce ในอาเซียน โดยในปี 2565 มีมูลค่า 131 พันล้านเหรียญสหรัฐ และภายในปี 2568 คาดจะมีมูลค่าสูงถึง 2.11 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการเติบโตนี้จึงเป็นที่มาของอีกแอปพลิเคชันหนึ่งจากจีน คือ ‘TikTok’ ที่ปล่อยฟีเจอร์ช้อปปิ้งออนไลน์ ชื่อว่า ‘TikTok Shop’ เข้ามาชิงส่วนแบ่งทางการตลาด E-commerce ในอาเซียน

‘TikTok Shop’ คู่แข่ง E-commerce ตลาดอาเซียน ‘Shopee-Lazada’

สำหรับ TikTok Shop เป็นฟีเจอร์ของแอปพลิเคชัน TikTok ที่มียอดดาวน์โหลดมากกว่า 3,000 ล้านครั้งทั่วโลก ซึ่ง TikTok Shop เป็นฟังก์ชันที่มีการซื้อขายสินค้าผ่าน TikTok ได้โดยตรง อยู่ในรูปแบบของคลิปวิดิโอสั้น ๆ ซึ่งนับเป็นการทำการตลาดที่ดูมีเอกลักษณ์กว่าของค่ายอื่น เนื่องจากผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าได้ง่าย สะดวกในการซื้อ และจ่ายเงิน แม้ยังเล่นแอปพลิเคชัน TikTok

อย่างไรก็ดีเมื่อได้ลองดูค่านิยมของแอปพลิเคชัน TikTok ต่อช่วงอายุผู้บริโภค พบว่า ช่วงอายุ 10-19 ปี มีการเข้าใช้งานมากที่สุด กว่า 32.5% รองลงมาคือ อายุ 20-29 ปี อยู่ที่ 29.5% ถัดมา อายุ 30-39 ปี อยู่ที่ 16.4% และช่วงอายุ 40-49 ปี อยู่ที่ 13.9% แต่ทั้งนี้ก็มีผู้ใช้ที่อายุเกิน 50 ปี อยู่ที่ 7.1% ซึ่งบ่งชี้ได้ว่าแอปพลิเคชันมีสามารถเข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัย

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าเมื่อแอปพลิเคชันมีความนิยมในทุกกลุ่มช่วงวัยของผู้บริโภค การขับเคลื่อนการซื้อขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ก็ตามมา โดย TikTok ใช้กลยุทธ์ Shoppertainment ที่ผสมผสานระหว่าง Shopping และ Entertainment เข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว จึงทำให้กลายเป็นหนึ่งในผู้เล่นตลาด E-commerce ที่น่ากลัว

โดยในปีที่ผ่านมา GMV (Gross Merchandise Volume) หรือ ยอดขายสินค้าออนไลน์รวม ของ TikTok Shop พุ่งขึ้นกว่า 4 เท่าตัวแตะที่ 4.4 พันล้านดอลลาร์ในภูมิภาคอาเซียน และมีแนวโน้มจะสูงถึง 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ภายในปี 2566 ขณะที่ ช้อปปี้ทำ GMV อยู่ที่ 7.35 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วน GMV ของลาซาด้า ช่วงระหว่างเดือนกันยายน 2563 ถึง เดือนกันยายน 2564 อยู่ที่ 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์

นอกจากนี้จากผลสำรวจที่จัดทำโดยบริษัทข้อมูลเชิงลึกด้านการค้าปลีกออนไลน์ Cube Asia ระบุว่า ผู้บริโภคที่ใช้ TikTok Shop ลดการใช้จ่ายบนช้อปปี้ ลง 51%, ลาซาด้า ลง 45% และร้านค้าออฟไลน์ 38% ในอินโดนีเซีย ไทย และฟิลิปปินส์

สำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อาจเป็นการก่อคลื่นเล็ก ๆ ก่อนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวงการ E-commerce ถ้าหาก TikTok Shop เดินเกมดันสัดส่วนตลาดได้เท่าช้อปปี้ ซึ่งปัจจุบันช้อปปี้ยังเป็นตลาดออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุด โดยครองส่วนแบ่งการเข้าชม 30-50% ทั่วทั้งภูมิภาคในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ลาซาด้าครองอันดับ 2 ด้วยส่วนแบ่งการเข้าชม 10-30%

ด้านค่าธรรมเนียมสั่งซื้อของ TikTok Shop ถ้าหากมียอดสั่งซื้อมากกว่า 100 บาทขึ้นไปจะยกเว้นค่าธรรมเนียมสั่งซื้อ ขณะที่อีกสองค่ายมีจำนวนขั้นต่ำในการสั่งซื้อที่สูงกว่า และการจะใช้โค้ดส่วนลดอาจจะต้องอยู่ในร้านที่กำหนด แตกต่างจาก TikTok Shop

ทั้งนี้ก็ต้องมาดูกันว่าทั้งสองค่ายอย่าง ช้อปปี้ และ ลาซาด้า จะใช้กลยุทธ์ใดที่จะผลักดันธุรกิจของตัวเองให้ยังคงเป็นเจ้าตลาดได้ ก่อนที่จะถูก TikTok Shop เข้ามาแทนที่ ซึ่ง ‘Business+’ คิดว่ากลยุทธ์ที่จะช่วยได้ในตอนนี้แบบเร่งด่วนก็คือ การกระตุ้นยอดขายและการตลาดที่อาจจะมากกว่าในอดีต แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับต้นทุนเช่นกัน ซึ่งเมื่อมีการทำการตลาดที่มากขึ้นต้นทุนก็จะเพิ่มสูงตามกันมาเป็นวัฏจักร

สำหรับ TikTok นั้น ถือเป็นแพลตฟอร์มที่เป็นจุดกำเนิดของ Influencer หลาย ๆ คน ในปัจจุบัน และถือเป็นแหล่งที่ช่วยสร้างการรับรู้แบรนด์ได้อย่างมาก ไม่ว่าจะแบรนด์เก่า หรือแบรนด์ใหม่ ที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ ผู้บริโภคมีความสนใจในผลิตภัณฑ์ที่มีการรีวิวแบบผ่านการใช้งานจริง แม้จะไม่ใช่ดารามารีวิวก็ตาม ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ถ้าเป็นแบรนด์เก่าก็จะกลับมามีชื่อเสียง และได้รับความนิยมอีกครั้ง ในขณะที่แบรนด์ใหม่ก็สามารถทำยอดขายได้ ซึ่งหากผู้ประกอบการสามารถหาจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ และมีการจ้าง Influencer แบบตรงกลุ่ม ก็จะได้ผลตอบแทนตามมา

.

ที่มา : CNBC, webretailer, ecommerce-platforms

.

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ

.
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.facebook.com/businessplusonline/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
.
#Businessplus #thebusinessplus #นิตยสารBusinessplus #TikTokShop #TikTok #Shopee #Lazada #ช้อปปี้ #ลาซาด้า #ช้อปปิ้งออนไลน์