Threads

Threads โคลนนิ่ง Twitter แอปใหม่ ‘มาร์ก’ ท้าชนคอมมูนิตี้ ‘อีลอน มัสก์’

ถือเป็นกระแสอย่างมากบนโลกโซเซียลกับการที่ นายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของบริษัทเมตา แพลตฟอร์มส์ เปิดตัวแอปพิเคชั่น Threads คอมมูนิตี้ใหม่บนโลกออนไลน์ ที่มีระบบการดำเนินงาน ฟีเจอร์คล้ายคลึงกับ Twitter ของนายอีลอน มัสก์ โดยเพียง 16 ชั่วโมงแรกของการเปิดตัว Threads ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 มีผู้สมัครใช้งานเกิน 30 ล้านคน

ทั้งนี้การจะใช้ Threads ผู้ใช้ต้องมีบัญชี Instagram อยู่ก่อนเพื่อลงชื่อเข้าใช้งาน เพราะระบบจะเชื่อมต่อ Threads ไปยังโปรไฟล์ Instagram ปัจจุบัน ซึ่ง Threads ถูกมองว่าเป็นแอปพิเคชั่นที่ขยายฟีเจอร์ของ Instagram อีกรูปแบบหนึ่ง อีกทั้งยังสามารถเข้าถึงฐานผู้ใช้ Instagram มากกว่า 2 พันล้านคนต่อเดือนได้อีกด้วย

ซึ่งในกรณีที่ถูกมองว่าเป็นตัวขยายฟีเจอร์ของ Instagram นั้น เนื่องจากหากต้องการลบบัญชี Threads จะต้องลบบัญชี Instagram ด้วย แต่ถ้าไม่ต้องการลบบัญชีก็ต้องระงับการใช้งาน (deactivate) โปรไฟล์ของ Threads เท่านั้น เป็นเพราะว่า Threads สร้างจากฐานร่วมกับระบบบัญชี Instagram นั่นเอง

โดยฟีเจอร์ของ Threads มีพื้นฐานแบบที่ Twitter มี ทั้งการโพสต์ต่อเนื่องที่เรียกว่าเธรด (Thread) การรีทวิต เรียกว่ารีโพสต์ (Repost) การตอบกลับเรียกว่า รีพลาย (Reply) การกดถูกใจโพสต์ที่ชอบ และการบล็อกผู้ใช้งาน หรือบล็อกคำบางคำที่ไม่ต้องการให้ปรากฏหน้าฟีด หรือ ไทม์ไลน์ (Timeline) อีกทั้งสามารถตั้งค่าบัญชีให้เป็นแบบสาธารณะ หรือแบบส่วนตัวได้

ทั้งนี้หากมาดูข้อจำกัด และ ข้อแตกต่างระหว่าง Threads และ Twitter นั้นมีดังนี้

  1. การจำกัดตัวอักษร : Threads จะสามารถโพสต์ข้อความหรือ ‘เธรด’ ได้ไม่เกิน 500 ตัวอักษรต่อหนึ่งโพสต์ ในขณะที่ Twitter จำกัด 280 ตัวอักษรในกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป แต่ก็การเพิ่มทางเลือกให้กับกลุ่มผู้ใช้งานที่ต้องการทวีตยาว ๆ ในหนึ่งข้อความ คือต้องจ่ายเงินสมัครเป็นรายเดือนเพื่อให้เป็นลูกค้า Twitter Blue และจะสามารถทวีตได้ถึง 4,000 ตัวอักษร
  2. การส่งต่อข้อความ : Threads ยังไม่ได้มีการเปิดฟีเจอร์ส่งข้อความส่วนตัวได้ ต่างจาก Twitter ที่จะสามารถส่งต่อข้อความส่วนตัวได้ และสามารถสร้างกลุ่มแชทขึ้นมาได้อีกด้วย ซึ่งการส่งข้อความแบบส่วนตัวได้นั้นถือเป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่มีความสำคัญอย่างมาก
  3. ไทม์ไลน์ : Threads จะดึงโพสต์จากผู้ใช้ทั้งหมด ไม่ใช่แค่คนที่คุณติดตาม อีกทั้งยังไม่แสดงโพสต์ตามลำดับเวลา เช่นเดียวกับ Instagram Threads เห็นได้ชัดว่าเนื้อหาได้รับการจัดอันดับตามอัลกอริทึมและให้บริการแก่ผู้ใช้ไม่ว่าจะโพสต์ในเวลาใดก็ตาม ขณะที่ฝั่งของ Twitter จะมีการดึงโพสต์ยอดนิยม และโพสต์ล่าสุด รวมถึงคนที่เรากดติดตามมีการรีโพสต์สิ่งนั้น ๆ ก็จะมาปรากฎต่อหน้าไทม์ไลน์ของเรา
  4. แฮชแท็ก : Threads ยังขาดความสามารถในการรวบรวมแฮชแท็กในโพสต์ ซึ่งแฮชแท็กเป็นคุณลักษณะหลักของ Twitter และทำให้ผู้ใช้สามารถค้นหาโพสต์ในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งได้ง่าย รวมทั้งแสดงเนื้อหาที่ได้รับความนิยมในที่เดียว
  5. การเชื่อมต่อ : Threads ยังมีข้อจำกัดในการเชื่อมต่อ หมายถึง ยังไม่มีเว็บไซต์เดสก์ท็อปที่สามารถเชื่อมต่อเข้าไปสู่การใช้งานได้ ซึ่งหากต้องการเข้าถึงสามารถเข้าถึงได้ผ่านแอป iOS หรือ Android เท่านั้น ต่างจาก Twitter ที่สามารถเข้าถึงผ่านเว็บไซต์เดสก์ท็อปได้ทั้งหมด

อย่างไรก็ดีนี่ถือเป็นการเปรียบเทียบหลัก ๆ ของความต่างและความคล้ายคลึงกันระหว่าง Threads และ Twitter ซึ่งในปัจจุบันหลายคนอาจเริ่มเบื่อกับข้อจำกัดนโยบายที่มากมายของ Twitter แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะออกจากคอมมูนิตี้นี่ได้ ถือได้ว่าการที่นายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เลือกปล่อยแอปพิเคชั่น Threads ออกมาในช่วงที่ Twitter กำลังวุ่นวายภายใต้การบริหารของ นายงอีลอน มัสก์ นั้นอาจเป็นการเพิ่มช่องทางเลือกให้กับชาวโซเชียลที่ต้องการความแปลกใหม่ และมีอิสระที่มากกว่า

อนึ่งก่อนหน้านี้ Clubhouse ก็เป็นหนึ่งในโซเชียลมีเดียที่มีความร้อนแรงเป็นอย่างมาก ด้วยการเคยขึ้นเป็นแอปพลิเคชันที่ติดอันดับแอปพลิเคชั่นที่ถูกดาวน์โหลดมากที่สุดในกลุ่ม Social Network มากกว่า TikTok, Facebook และ Instagram เสียอีก แต่ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น เน้นการพูดเป็นหลัก (คอนเทนต์เสียงยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก) หรือแม้กระทั่งการใช้จะเฉพาะกลุ่มผู้ใช้ IOS เท่านั้น (จำกัดสิทธิ์เฉพาะกลุ่ม) แถมผู้ใช้งานรายใหม่ต้องได้รับคำเชิญจากผู้ใช้งานเดิมเท่านั้นจึงทำให้แอปนี้ถูกลืม และกระแสเงียบลงไปจนถึงทุกวันนี้

.

ที่มา : CNBC, กรุงเทพธุรกิจ

.

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ

.
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.facebook.com/businessplusonline/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
.
#Businessplus #thebusinessplus #นิตยสารBusinessplus #Threads #Twitter #เธรด #ทวิตเตอร์