EXIMBANK

The Success Story Mission ‘Go Green’ EXIM BANK ก้าวสู่บทบาทใหม่ Green Development Bank

The Success Story of The Month By ‘Business+’ ฉบับเดือนมิถุนายน 2566 จะพาผู้อ่านมาพบกับบทสัมภาษณ์สุดพิเศษจาก ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ซึ่งบริหารองค์กรด้วยการใช้ 4 แนวทางผลักดันผู้ประกอบการไทยสู่น่านน้ำใหม่ในตลาดโลก ควบคู่กับการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยภารกิจ “ซ่อม สร้าง เสริม สานพลัง”

วันแรกที่ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร เข้ามาดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เขาวางเป้าหมายให้ธนาคารแห่งนี้มียอดคงค้างสินเชื่อ 300,000 ล้านบาท ภายในปี 2570 ผ่านมาเพียง 2 ปีเขาบริหาร EXIM BANK ให้เกิดผลลัพธ์ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลายมิติด้วยกัน ในฐานะธนาคารเพื่อการพัฒนาของไทย เขาพาผู้ประกอบการไทยไปโลดแล่นในเวทีการค้าโลก สร้าง SMEs เป็นนักรบเศรษฐกิจรุ่นใหม่ จาก Nobody เป็น Somebody ให้เติบใหญ่บนเวทีโลกมากมาย

ในปี 2565 ที่ผ่านมา EXIM BANK มีผลประกอบการเป็นยอดคงค้างสินเชื่ออยู่ที่ 168,331 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15,558 ล้านบาท หรือ 10.18% จากปี 2564 ที่มียอดคงค้างสินเชื่อ 152,773 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตที่มากกว่าสินเชื่อทั้งประเทศที่เติบโตราว 3%

จากผลงานที่โดดเด่นนี้เอง Business+ สัมภาษณ์พิเศษ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร ในโอกาสที่ EXIM BANK ประกาศความพร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนองค์กรสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กด้วย 4 แนวทางสู่ความยั่งยืน นำไปสู่บทบาทการเป็น ‘Green Development Bank’

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวถึงผลประกอบการในปี 2565 มียอดคงค้างสินเชื่ออยู่ที่ 168,331 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15,558 ล้านบาท หรือ 10.18% จากปี 2564 ที่มียอดคงค้างสินเชื่อ 152,773 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตที่มากกว่าสินเชื่อทั้งประเทศที่เติบโตราว 3%

โดยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนซึ่งสนับสนุนการขับเคลื่อน BCG Economy (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว) ในปี 2565 มีมูลค่าประมาณ 48,000 ล้านบาท หรือ 30% ของสินเชื่อทั้งหมด ซึ่ง EXIM BANK ตั้งเป้าหมายที่จะเป็น Green Development Bank โดยสนับสนุนสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและมีเป้าหมายที่จะดำเนินธุรกิจบนความยั่งยืนตามหลัก BCG Economy

ในปี 2565 EXIM BANK ได้เสนอขายพันธบัตรเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Bond) มูลค่ารวม 5,000 ล้านบาท แต่ยอดความต้องการของลูกค้ามีมากถึง 3-4 เท่าของยอดที่เสนอขาย จึงทำให้พันธบัตรขายหมดภายใน 3 ชั่วโมง และที่สำคัญคือ โครงการ Go Green ของ EXIM BANK ไม่ได้มีเพียงแค่หลักการหรือทฤษฎี แต่ยังมีแหล่งที่มาของเงินทุน (Source of Funds) เพื่อนำมาปล่อยกู้ ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถปรับธุรกิจให้ Go Green ได้ในอัตราดอกเบี้ย Soft Loan ขณะที่โครงการนี้ก็ได้สร้างการเติบโตที่แข็งแกร่งให้กับ EXIM BANK เช่นกัน

“โครงการ Go Green ที่เป็น Soft Loan ถูกมองว่ามีต้นทุนสูงอาจไม่คุ้มค่า และลูกค้าอาจไม่ได้ให้ความสนใจกับสินเชื่อประเภทนี้ แต่ปรากฏว่าในช่วงที่ผ่านมาโครงการเหล่านี้มีส่วนช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับธนาคาร โดยในปี 2565 ธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงาน 2,637 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 2,382 ล้านบาทในปี 2564 และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ผลักดันให้เรามีกำไรสูงกว่า 1,500 ล้านบาท 2 ปีติดต่อกัน” ดร.รักษ์ กล่าว

ในปีนี้ EXIM BANK ได้ออกพันธบัตร SME Green Bond เป็นครั้งแรก ภายใต้กรอบการระดมทุนเพื่อความยั่งยืน อายุ 3 ปี มูลค่ารวม 3,500 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้สนับสนุนสินเชื่อโครงการพลังงานสะอาดให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งมีนักลงทุนชั้นนำในประเทศไทยตอบรับเป็นอย่างดีด้วยยอดจองซื้อสูงกว่าวงเงินที่เสนอขายถึง 2.5 เท่า ทำให้ระดมทุนได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ดี ท่ามกลางตลาดการเงินที่มีความผันผวนและภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ตอกย้ำบทบาทการเป็นผู้นำด้านการเงินสีเขียว เติมเต็ม Green Financial Ecosystem ให้ครบวงจรมากขึ้น

สำหรับความยั่งยืนภายในองค์กรนั้น EXIM BANK ให้ความสำคัญมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นอาคาร EXIM BANK ถูกออกแบบมาให้สามารถใช้พลังงานหมุนเวียนได้ มีการรณรงค์ให้พนักงานใช้ถุงผ้า ลดการใช้ถุงพลาสติก ขณะเดียวกันองค์กรได้ทำการจัดเก็บและวัดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในแต่ละปี และมีกรอบนโยบายที่จะชดเชยด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิตหรือสร้างธุรกิจสีเขียว สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับองค์กรก่อนที่จะไปช่วยเหลือผู้ประกอบการอื่น ๆ

“เราต้องประเมินตัวเองก่อนที่จะไปช่วยเหลือคนอื่น มิเช่นนั้นอาจจะมีการตั้งคำถามกลับมาว่า ทำไมเราไม่ทำโครงการเหล่านี้ก่อน และไม่เกิดความเชื่อมั่นในตัวเรา ดังนั้น EXIM BANK จึงตั้งเป้าหมายเป็น Carbon Neutrality ภายในปี 2573 เพื่อสร้างหมุดหมายการเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาของไทยที่มีบทบาทแตกต่างจากสถาบันการเงินอื่น ๆ” ดร.รักษ์ กล่าว

ดร.รักษ์ ได้กล่าวถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์ COVID-19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ขณะที่ในระยะยาวก็ต้องหาเครื่องยนต์ใหม่ ๆ มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งบทบาทของ EXIM BANK ในการเป็นธนาคารของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังจะต้องให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจทุกระดับตั้งแต่ระดับมหภาคไปจนถึงระดับฐานราก จึงเป็นที่มาของบทบาท “ธนาคารเพื่อการพัฒนา (Development Bank)” ด้วยภารกิจ “ซ่อม สร้าง เสริม สานพลัง”

ในมุมของการ ‘ซ่อม’ เมื่ออุตสาหกรรมหลักของประเทศเกิดวิกฤต EXIM BANK ได้เข้าไปช่วยเหลือภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ซึ่งสะดุดล้มลง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสายการบิน สวนสนุก สวนสัตว์ และพาณิชยนาวี จนสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติหลังจากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย และภาคการท่องเที่ยวกลับมาเป็นเครื่องยนต์หลักในการพยุงเศรษฐกิจของประเทศอีกครั้ง

ในมุมของการ ‘สร้าง’ จะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมที่ธนาคารพาณิชย์อาจจะยังไม่มีความเชื่อมั่นที่จะปล่อยสินเชื่อเพราะมีความเสี่ยงสูงเกินกว่าระดับที่ธนาคารพาณิชย์จะเข้าไปสนับสนุนได้ และยังเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ภายนอกอาจจะมองว่ายังไม่มีความจำเป็นแต่ EXIM BANK ก็จะสร้างและผลักดันให้เกิดขึ้น และท้ายที่สุดเมื่อผู้ประกอบการสามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้แล้ว ก็สามารถที่จะรีไฟแนนซ์ไปสู่ธนาคารพาณิชย์ได้ ซึ่งบทบาทของ EXIM BANK คือ การส่งต่อลูกค้า ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์ จึงไม่ได้มองว่า EXIM BANK เป็นคู่แข่ง แต่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจ

ในมุมของการ ‘เสริม’ EXIM BANK มองว่า SMEs มีอยู่ประมาณ 3 ล้านราย แต่มีผู้ส่งออกเข้าสู่ตลาด Global Marketplace ไม่ถึง 1% เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศเวียดนามที่มีสัดส่วนสูงถึง 10% ทำให้ต้องย้อนกลับมามองศักยภาพที่ขาดไปของผู้ประกอบการไทย ซึ่งจะเห็นว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังขาดทักษะการบริหารความเสี่ยง EXIM BANK จึงมุ่งเน้นให้ความรู้ด้านการบริหารความเสี่ยง อาทิ ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน และการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าส่งออก ความรู้เกี่ยวกับภาวะการแข่งขันในตลาดโลก หลังจากให้ความรู้ก็จะสนับสนุนให้สามารถเพิ่มโอกาสทางธุรกิจโดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการรายเล็ก นั่นคือ โครงการ Business Matching ซึ่งทาง EXIM BANK จะใช้เครือข่ายจากการมีสำนักงานผู้แทนใน CLMV (กัมพูชา, สปป.ลาว, เมียนมา, เวียดนาม) เข้าไปสนับสนุนการทำธุรกิจของคนไทย และสุดท้ายจะสนับสนุนเงินทุนให้เมื่อลูกค้า SMEs มีความพร้อมในการเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจการค้าระหว่างประเทศแบบครบเครื่อง

ดร.รักษ์ กล่าวว่า EXIM BANK มีพันธมิตรที่ดีในการทำงานร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น โครงการ ‘ผงขมิ้นชัน’ ซึ่งได้ถูกวิจัยและพัฒนาให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ (Medical Grade) และส่งออกไปตลาดต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าจากขมิ้นชันกิโลกรัมละ 18 บาท เป็นกิโลกรัมละ 8,000 บาท

อีกทั้งในปัจจุบันยังช่วยเหลือให้สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ในตลาดโลกผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง Alibaba และอยู่ระหว่างเจรจากับ Amazon ในการผลักดันผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดโลก (Global Marketplace) ซึ่งวันนี้ EXIM BANK สร้างผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาด E-commerce ได้แล้วประมาณ 2,000 ราย

ปัจจุบัน EXIM BANK มีลูกค้าที่เป็น SMEs จำนวนกว่า 80% ซึ่งในอนาคตจะมีโครงการทำสินเชื่อร่วมกันระหว่าง EXIM BANK, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ซึ่งจะช่วยเพิ่มช่องทางให้ผู้ประกอบการรายเล็กเข้าถึงบริการที่สะดวกและรวดเร็วขึ้นจากการเชื่อมข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ดังนั้น หากลูกค้าเข้าใช้บริการสาขาใดก็ตาม ก็จะมีชุดข้อมูลแบบเดียวกันและสามารถเชื่อมแพลตฟอร์มร่วมกันได้ทันที ซึ่งถือว่าเป็นการ Synergy ร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น ลูกค้าสามารถชำระหนี้ให้แก่ SME D Bank ผ่านสาขาของ บสย. หรือ EXIM BANK ก็ได้

นอกจากนี้ EXIM BANK ยังมีแนวทางการสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กทั้ง 4 ด้าน คือ เปิดตลาดใหม่ เจาะตลาดอาเซียน พัฒนาแพ็กเกจจิ้ง และผลักดันช่องทางขาย

4 แนวทางหนุนผู้ประกอบการ SMEs 

เปิดตลาดใหม่

EXIM BANK จะค้นหาตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพการเติบโตสูงให้กับผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งปัจจุบันความหวังใหม่ คือ การขยายการค้าไปสู่ตลาดที่มีศักยภาพอย่างตะวันออกกลางโดยเฉพาะซาอุดีอาระเบีย โดยสิ่งที่ต้องให้การช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ส่งออกคือ การจดทะเบียนและขอเครื่องหมายสินค้าฮาลาล และเข้ามาช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนเส้นทางการค้าจากตลาดหลักที่อาจเริ่มอิ่มตัวไปยังตลาดใหม่มากขึ้น

เจาะตลาดอาเซียน

EXIM BANK ให้ข้อมูลว่า อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทั้งประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงกลุ่มประเทศใน CLMV โดยเฉพาะตลาดเวียดนามและกัมพูชา ซึ่ง EXIM BANK ทำหน้าที่ให้ความรู้ และสนับสนุนเงินทุน อีกทั้งยังมีพันธมิตรที่ให้การช่วยเหลือในลักษณะทีมประเทศไทย

พัฒนาแพ็กเกจจิ้ง

EXIM BANK จะเข้ามาช่วยพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้ดูทันสมัยมากขึ้น ซึ่งตอนนี้เรามีพันธมิตรใหม่อย่าง Creative Economy Agency หรือ CEA ที่สามารถช่วยผู้ประกอบการออกแบบแพ็กเกจจิ้งให้เหมาะสม เช่น การออกแบบแพ็กเกจจิ้งให้สามารถย่อยสลายได้ตาม Green Concept ที่กำลังเป็นกระแสหลักของโลกการค้าในปัจจุบัน

ผลักดันช่องทางขาย

EXIM BANK ช่วยผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ SMEs เข้าสู่แพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ระดับโลก เพื่อเป็นการขยายโอกาสเข้าสู่ตลาดการค้าใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว

หมุดหมายใหม่ของ EXIM BANK

ดร.รักษ์ เปิดเผยถึงแนวโน้มผลประกอบการในปี 2566 ว่า EXIM BANK ตั้งเป้าหมายยอดคงค้างสินเชื่อไม่ต่ำกว่า 174,000 ล้านบาท และควบคุมระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ไม่ให้สูงเกิน 3.5% และตั้งเป้าสนับสนุนผู้ส่งออกในประเทศให้มากถึง 18% จากปัจจุบันสัดส่วนอยู่ที่ 15% ของผู้ส่งออกทั้งประเทศ

ขณะที่เป้าหมายในระยะ 5 ปี คือ การเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน ให้แตะระดับ 50% ของพอร์ตสินเชื่อรวมทั้งหมดภายในปี 2570 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมียอดคงค้างสินเชื่อประมาณ 300,000 ล้านบาท และต้องเป็นสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนกว่า 150,000 ล้านบาท จากที่คาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 55,000 ล้านบาท

“ภารกิจของ EXIM BANK คือ การให้คนหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยให้สิทธิพิเศษเป็นการจูงใจ เช่น สินเชื่อ EXIM Green Start ที่ให้โปรโมชันพิเศษกับลูกค้าที่ใช้พลังงานจากขยะหรือพลังงานจากโซลาร์เซลล์ ซึ่งเราก็จะให้ส่วนลดหรือสิทธิพิเศษด้านสินเชื่อต่าง ๆ โดยที่เราทำหน้าที่สนับสนุนธุรกิจที่อยากจะเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการสอดแทรกเนื้อหาความรู้ให้กับผู้ประกอบการผ่านการอบรม และทำ Business Matching” ดร.รักษ์ กล่าวในตอนท้าย

ทาง ‘Business+’ มองว่าประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเกี่ยวโยงกับทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับประเทศ ภาครัฐ ภาคธุรกิจ สังคม ไปจนถึงครัวเรือน ซึ่งในแง่ของภาคการส่งออกและนำเข้านั้น จะมีผลกระทบจากมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ อย่างเช่นการเก็บภาษีคาร์บอน ภาษีพลาสติกจากประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ทั้งสหภาพยุโรป (EU) และสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่น ๆ ในอนาคต

ทาง EXIM BANK ถือเป็นธนาคารที่ให้ความสนใจกับสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนเป็นอย่างมาก ด้วยการใช้บทบาทจากการเป็นสถาบันการเงินเข้ามาสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจบนความยั่งยืน ด้วยกลไกทางการเงินสีเขียว หรือ Green Finance ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ครอบคลุมทั้งด้านแหล่งที่มาของเงินทุนและการใช้เงินทุนที่คำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ

โดยเครื่องมือทางการเงินที่มีบทบาทมากที่สุดในตลาด Green Finance คือ การระดมทุนผ่านการออกพันธบัตร (Green Bond) ที่ทาง EXIM BANK ได้ออกและเสนอขายไปในปี 2565 – 2566 และได้ผลตอบรับเป็นอย่างดียิ่ง ซึ่งการดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืนนั้น นอกจากจะช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีการเติบโตอย่างยั่งยืนแล้ว ยังส่งเสริมให้ EXIM BANK มีผลประกอบการที่โดดเด่น ถือเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้ BCG Economy และนำไปสู่เป้าหมายคือ การเป็น Green Development Bank ที่แท้จริง

EXIM BANK ในฐานะธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทยพร้อมยืนเคียงข้างและให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในการปรับตัวไปสู่ธุรกิจสีเขียวอย่างครบวงจร นอกจากนี้ EXIM BANK ยังร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรในการพัฒนาศักยภาพและบ่มเพาะผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ในการยกระดับธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเติบโตได้อย่างสมดุล ซึ่งการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมจะเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญในการทำธุรกิจและไขประตูสู่โลกการค้ายุคใหม่ กระตุ้นให้ทุกภาคส่วนตระหนักและเร่งปรับโมเดลธุรกิจสอดรับกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคหัวใจสีเขียว การปรับธุรกิจให้สอดรับกับมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อม และการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือทางการเงินสีเขียว เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสใหม่ ๆ ที่รออยู่ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจของท่านจะเป็นหนึ่งในกลไกที่สามารถช่วยสร้างโลกให้ดีขึ้นสำหรับลูกหลานของเราในอนาคตต่อไป

ที่มา : สัมภาษณ์พิเศษ EXIM BANK
เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ , พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS