The New Vision for Agriculture วิสัยทัศน์ใหม่ของอุตสาหกรรมเกษตร กับเป้าหมายลดความอดอยาก ทำได้จริงหรือ ?

อุตสาหกรรมเกษตรมีการเปลี่ยนแปลงและยกระดับมาตลอดกว่า 50 ปีที่ผ่านมา เพื่อตอบสนองต่อความต้องการอาหารที่เพิ่มมากขึ้นของมนุษย์ และจากการคาดการณ์ของ The World Economic Forum คาดว่าในปี 2050 ตัวเลขประชากรทั่วโลกน่าจะพุ่งสูงแตะเกือบ 9,700 ล้านคน และ 70% จะย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองซึ่งจะทำให้ความต้องการอาหารเพื่อบริโภคของคนในเมืองสูงขึ้น ทำให้การบรรลุความมั่นคงและโภชนาการทางอาหารเป็นหนึ่งในเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างมากของโลกจากนี้

ในช่วง 150 ปีที่ผ่านมาการเปลี่ยนผ่านของระบบอาหารโลกเกิดขึ้นตลอดเวลาเพื่อตอบสนองต่อการเติบโตของประชากรและความจำเป็นของสังคม การเปลี่ยนแปลงทำให้โลกสามารถป้อนอาหารให้ประชากรที่ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วได้ ซึ่งในปี 1850 ประชากรโลกมีเพียงแค่ 1,000 ล้านคนเท่านั้น จนมาถึงในปี 1940 ขยายตัวมาอยู่ที่ 2,200 ล้านคน และ 7,200 ล้านคนในปี 2013

แม้จะสามารถตอบสนองต่อการเติบโตของประชากรโลกได้ดีมาโดยตลอด แต่ปัจจุบันระบบอาหารโลกยังไม่สามารถส่งมอบอาหารและโภชนาการทางอาหารได้อย่างเพียงพอบนวิธีที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพราะประชากรกว่า 800 ล้านคนยังขาดสารอาหาร 2,000 ล้านคนได้รับแร่ธาตุและวิตามินที่ไม่เพียงพอ ขณะที่อีก 2,000 ล้านคนเป็นโลกอ้วน และรับประทานมากเกินไป นี่แสดงให้เห็นว่าโลกเราขาดสมดุลพร้อมกับกระบวนการผลิต การขนส่ง การพัฒนาและการกำจัดของเสียก็ยังไม่สามารถสร้างความยั่งยืนให้กับทรัพยากรสิ่งแวดล้อมได้

สิ่งเหล่านี้ทำให้การปฏิวัติภาคอุตสาหกรรมการเกษตรในทศวรรษนี้จะถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลกที่สุด เท่าที่เคยมีมาเลยทีเดียว

The New Vision for Agriculture : วิสัยทัศน์ใหม่ของอุตสาหกรรมเกษตร

วิสัยทัศน์ใหม่ของอุตสาหกรรมเกษตร ที่ถูกนิยามโดยองค์กรระดับโลกอย่าง The World Economic Forum ซึ่งทำงานร่วมกับพันธมิตรระดับโลกมาตั้งแต่ปี 2009 มากกว่า 650 องค์กร ใน 23 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในทวีปแอฟริกา เอเชีย และลาตินอเมริกา ผ่านโครงการในระดับท้องถิ่นอย่าง The Grow Africa Partnership ซึ่งสามารถสร้างงานได้มากกว่า 80,000 ตำแหน่ง ขณะที่ The Grow Asia Partnership สามารถสร้างผลกระทบต่อผู้ที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมเกษตรได้มากกว่า 700,000 ครัวเรือน กว่า 80% มีรายได้ที่ดีขึ้น และที่สำคัญสามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 40%

โดยวิสัยทัศน์ใหม่ของอุตสาหกรรมเกษตร มุ่งเป้าไปที่ 3 เรื่องสำคัญ คือ 1.สร้างความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม 2.ความมั่นคงทางอาหาร และ 3.โอกาสทางเศรษฐกิจ

โดยการจะบรรลุเป้าหมายนี้จำเป็นจะต้องมีการทำงานร่วมกันของหลายฝ่ายที่มีผลประโยชน์ร่วมกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร รัฐบาล ผู้นำภาคสังคม และภาคเอกชน ซึ่งปัจจัยสำคัญสำหรับการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมเกษตรในครั้งนี้ อยู่บนพื้นฐานของการมีผู้นำที่มีประสิทธิภาพที่สามารถกำหนดทิศทาง กลยุทธ์ และรูปแบบการลงทุนที่ถูกต้อง นอกจากนี้จะต้องมีเงินทุน โครงสร้างพื้นฐาน องค์กรและสถาบันสำคัญ ๆ และมีการติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

เทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตร

สิ่งที่จะทำให้ทั้ง 3 ข้อคือ 1.สร้างความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม 2.ความมั่นคงทางอาหาร และ 3.โอกาสทางเศรษฐกิจ สามารถเกิดขึ้นและเป็นจริงขึ้นมาได้ก็คือการมาของ เทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตร

ฟาร์มยุคใหม่และการดำเนินงานของอุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่จะเป็นคนละเรื่องกับที่เราเคยเห็นตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ไม่ว่าจะเป็น เซ็นเซอร์ อุปกรณ์รับส่งสัญญาณ เครื่องจักร เทคโนโลยีสารสนเทศ รวมไปถึงภาคเกษตรในทุกวันนี้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีได้อย่างเชี่ยวชาญมากขึ้น เช่น หุ่นยนต์ เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิและความชื้น ภาพมุมสูงจากโดรน และเทคโนโลยีติดตาม เป็นต้น และด้วยอุปกรณ์ที่ก้าวหน้าเหล่านี้ พร้อมการมาของอุตสาหกรรมเกษตรแบบแม่นยำ และระบบออโตเมติก จะทำให้ธุรกิจในภาคเกษตรสามารถทำกำไรได้มากขึ้น มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน

เทคโนโลยีสำคัญอย่างไร

เทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตร จะทำให้เกษตรกรและเจ้าของฟาร์มไม่จำเป็นต้องใช้น้ำ ปุ๋ย และยาฆ่าแมลงจำนวนมากเหมือนในอดีต เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยบริหารจัดการสิ่งเหล่านี้ทำให้เกษตรกรหรือเจ้าของฟาร์มสามารถใช้สิ่งต่าง ๆ ได้ในระดับที่เหมาะสม หรือเลือกจุดที่ต้องจะใช้น้ำ ปุ๋ย และยาฆ่าแมลงได้ ทำให้พวกเขาประหยัดต้นทุนในด้านนี้ได้มากขึ้น พร้อมกับการใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า และเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะย้อนกลับมามอบสิ่งที่เรียกคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับตัวเกษตรกรและเจ้าของฟาร์มเองในที่สุด

ปัจจุบันในประเทศสหรัฐอเมริกามีการใช้ Agrobot ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีเซนเซอร์จับภาพ เพื่อตรวจสอบและจำแนกขนาดของผลผลิตทางการเกษตรว่าพร้อมเก็บเกี่ยวแล้วหรือยัง โดยวิธีการเก็บเกี่ยวผลผลิตจะใช้แขนกล และมีการใช้หุ่นยนต์เพื่อกำจัดแมลงและศัตรูพืชอีกด้วย

ในประเทศออสเตรเลียมีการใช้ Ladybird ซึ่งเป็นเครื่องจักรกลที่เคลื่อนที่ด้วยพลังงานจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ และติดตั้งเทคโนโลยีเซนเซอร์เพื่อเก็บข้อมูล การเพาะปลูก สำรวจพื้นที่การเกษตร กำจัดแมลงศัตรูพืชและวัชพืช ไปจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต

ขณะที่ในประเทศเยอรมนี มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตรไปสู่ Artificial Intelligence (AI)-driven Agriculture พร้อมมีการเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทำการเกษตร ท่ามกลางปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงหลากหลายรูปแบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อมาประมวลผล และนำไปสู่การใช้ Machine learning และ Predictive analytic ในการทำการเกษตรครั้งต่อ ๆ ไปให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดีขึ้น

โดยมูลค่าการลงทุน Agritech ทั่วโลกในปี 2018 อยู่ที่ 6,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 44% จากปี 2017 โดย Agritech กลุ่มที่มูลค่าการลงทุนสูง และขยายตัวอย่างโดด เด่น ได้แก่ เทคโนโลยีด้านพันธุกรรม ซอฟท์แวร์บริหารจัดการฟาร์ม อุปกรณ์ตรวจจับ และ IoT

ประโยชน์ที่เกษตรกรและเจ้าของฟาร์มจะได้รับ

  • ผลผลิตทางการเกษตรสูงขึ้น
  • ลดการใช้น้ำ ใช้ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง นั้นทำให้ราคาอาหารลดลง
  • ลดผลกระทบในระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติ
  • ลดผลกระทบจากการปลอดสารเคมีลงสู่แม่น้ำ
  • ชีวิตเกษตรมีความปลอดภัยมากขึ้น

 

เขียน : เอกพล มงคลพัฒนกุล