ททท.

The New Horizon Thailand Tourism ‘ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์’ ส่ง 4 Action Policies เพิ่ม Value อุตสาหกรรมท่องเที่ยว

The Success Story of The Month By‘Business+’ ฉบับพิเศษเดือนกันยายน 2566 จะพาผู้อ่านไปพบกับแผนยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในการผลักดันอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และเศรษฐกิจไทย ซึ่งจุดที่ต้องจับตามองเป็นอย่างมากในปีนี้คือ ททท. ปักเป้าหมายแรก คือ การ Recover รายได้การท่องเที่ยวของประเทศไทยให้กลับไปถึงจุดพีคที่ระดับ 3 ล้านล้านบาท ภายในปี 2567 ด้วย 4 Action Policies เพิ่ม Value อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และยังมีเป้าหมายระยะยาวคือการเป็น High Value and Sustainable Tourism ซึ่งจะสำเร็จตามเป้าหมายทั้งหมดนี้ได้ ททท. จะต้องใช้ทั้งนโยบายส่งเสริมระบบนิเวศใหม่ที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมสร้าง Competitive Advantage ให้กับผู้ประกอบการทั้ง Ecosystem

ททท.

คุณฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยกับ ‘Business+’ ว่า ในปี 2566 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวทั้งปี 2566 จะสามารถขึ้นไปแตะระดับ 25-28 ล้านคน โดยภูมิภาคหลักที่เข้ามาประเทศไทยมากที่สุด คือ อาเซียน เอเชียตะวันออก ยุโรป และตะวันออกกลาง ซึ่งหากเจาะเข้าไปเป็นรายประเทศจะเห็นว่า 3 อันดับแรกของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยมากที่สุด คือ มาเลเซีย จีน และเกาหลีใต้

โดยปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวฟื้นตัว คือ การประกาศยุติ COVID-19 จากภาวะฉุกเฉิน โดยองค์กรอนามัยโลก (WHO) เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 66 ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกผ่อนคลายและเดินทางออกนอกประเทศได้มากขึ้น ส่งผลให้จำนวนที่นั่งเที่ยวบินขาเข้าประเทศไทยกลับมาฟื้นตัว 64%

ขณะที่ ททท. ได้ทำการกระตุ้นตลาดท่องเที่ยว ร่วมกับพันธมิตรรัสเซีย เพื่อเปิดเส้นทางบินมายังประเทศไทยในช่วงฤดูร้อนปี 2566 และยังได้มีการเจรจาเพื่อปรับปรุงสิทธิการบินระหว่างรัฐบาลไทยและซาอุดีอาระเบีย ซึ่งจะทำให้สามารถขยายความถี่เที่ยวบินได้มากขึ้น นอกจากนี้อีกหนึ่งปัจจัยที่ผลักดันการท่องเที่ยวให้ฟื้นตัวคือ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยขยายวงกว้างมากขึ้น ซึ่งจะทำให้กระแสซีรีส์ไทยทำให้เกิดกระแสท่องเที่ยวตามรอยโดยเฉพาะตลาดจีน ญี่ปุ่น และละตินอเมริกา

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในปี 2566 ยังมีความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากทุกประเทศทั่วโลกได้กลับมาเปิดการท่องเที่ยวเต็มที่ ดังนั้นรัฐบาลของแต่ละประเทศจึงมีนโยบายเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศของตนเอง และเกิดเป็นการแข่งขันทางการตลาดที่ค่อนข้างสูง

ซึ่งประเด็นนี้ คุณฐาปนีย์ กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการ Re-Skill, Up-Skill ให้กับบุคลากรธุรกิจท่องเที่ยว รวมไปถึงการทำในเรื่อง Rebalance ด้านความยั่งยืน หรือแม้กระทั่งการรีแบรนด์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ ททท. ยังเตรียมความพร้อมมาอย่างต่อเนื่องด้วยการ Reboot ตลาดในประเทศก่อน แล้วเน้นไปที่การ Rebound ตลาดต่างประเทศในช่วงที่มีนโยบายผ่อนคลายสถานการณ์ COVID-19

โดยได้ทำการเตรียมความพร้อมในทุกด้าน ส่งผลให้เกิดอานิสงส์ที่ชัดเจนตั้งแต่ปลายปี 2565 และต่อเนื่องมายังปี 2566 ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นเสมือนต้นแบบสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ในแง่ของการบริหารจัดการและความพร้อมด้านการรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

ททท.

นอกจากนี้ ททท. ยังมุ่งเน้นไปที่การขยายตลาดนักท่องเที่ยวในประเทศที่มีโอกาสเติบโตสูง เช่น นักท่องเที่ยวมาเลเซียที่มีจุดแข็ง คือ ความสะดวกจากการเดินทางผ่านพรหมแดน รวมถึงนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้ที่มี Potential สูงจากการท่องเที่ยวเน้นกิจกรรมอย่างกีฬากอล์ฟจึงมีโอกาสเลือกประเทศไทยเป็น Destination นอกจากนี้ยังเดินหน้าขยายกลุ่มตลาดไปยังตลาดอาเซียน (AEC) ด้วยกลยุทธ์การทำงานแบบบูรณาการสอดประสานแบบเป็น Utilities Asian แบบเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มประเทศ

“เราเห็นความสดใสของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ จึงตั้งเป้าหมายไว้ว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวทั้งปี 2566 จะฟื้นสู่ระดับ 25-28 ล้านคน ซึ่งต้องอาศัยนโยบายในการกระตุ้นการตลาดจากรัฐบาล อย่างการผ่อนปรนวีซ่า และนโยบายสนับสนุนอื่น ๆ ขณะที่เราจะโฟกัสไปที่นักท่องเที่ยวในประเทศที่มีโอกาสเติบโตสูง เช่น นักท่องเที่ยวมาเลเซีย เกาหลีใต้ ตะวันออกกลาง และ AEC” คุณฐาปนีย์ กล่าว

ขณะที่แผนสำหรับปี 2567 ทาง ททท. จะรุกเปิดตลาดใหม่ คือ ยุโรปตะวันออกและซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะนำไปสู่รายได้เข้าประเทศเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากผ่านพ้นวิกฤตโรคระบาด COVID-19 ได้เป็นอย่างดี

“ตลาด Middle East เป็นอีกหนึ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เราจะมุ่งเน้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดสัมพันธไมตรีกับซาอุดีอาระเบียที่มีกำลังซื้อสูง หลังจากที่เราปิดความสัมพันธ์มากว่า 30 ปี โดยเราได้เตรียมความพร้อมสร้างสัมพันธ์ตั้งแต่ สายการบินแบบ Direct Flight รวมไปถึงการพูดคุยเชื่อมสัมพันธ์กับหลายภาคส่วน โดย ททท.จะเข้าไปจัดตั้งสำนักงานใหม่สาขาแห่งที่ 30 ในกรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย ดังนั้นเราจึงตั้งเป้าสัดส่วนนักท่องเที่ยวจากซาอุดีอาระเบียในปี 2566 ที่ 1.3-1.5 แสนคน และในปี 2567 หลังจากมีความพร้อมของสายการบินคาดการณ์ว่าจะได้เห็นจำนวนนักท่องเที่ยวแตะระดับ 2.5 แสนคน” คุณฐาปนีย์ กล่าว

ททท.

เป้าหมายสุดท้าทายกับการ Recovery รายได้กลับสู่จุดพีค และก้าวสู่ High Value and Sustainable Tourism

คุณฐาปนีย์ กล่าวกับเราว่า ในปี 2567 ททท. ตั้งเป้าหมายรายได้ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะกลับเข้ามาเทียบเท่าปี 2562 ที่มีรายได้ระดับ 3 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นปีที่รายได้จากการท่องเที่ยวสูงที่สุด และเป็นภาวะปกติก่อนสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งจะไปสู่เป้าหมายได้ต้องให้ความสำคัญกับการผลักดันและส่งเสริมระบบนิเวศใหม่ที่มีคุณค่า สมดุล และยั่งยืน รวมทั้งเสริมภูมิคุ้มกันสร้างความมั่นคงทางการท่องเที่ยว เพื่อก้าวสู่ High Value and Sustainable Tourism โดยมีแนวทางการดำเนินงาน 6 ข้อที่สำคัญ คือ

  1. การสร้างความมั่นคงทางการท่องเที่ยวและการสร้างสมดุลอย่างยั่งยืนที่ได้รับความร่วมมือจากพันธมิตร ทุกฝ่ายในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืน การดำเนินงานของ ททท. อย่างรับผิดชอบ หรือ CSR in Process ที่สอดคล้องกับแนวคิด BCG Model ที่เป็นไปตามเป้าหมายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน Sustainable Tourism Goals (STGs) ทั้งในด้านการบริหารจัดการ การคำนึงถึงสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGs) ของ UNDP
  2. ความพยายามสร้างความสมดุลทั้ง 4 มิติ (Value over Volume) ซึ่งประกอบไปด้วย

– มิติความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ (Economic Wealth)

– มิติสังคมอยู่ดีมีสุข (Social Wellbeing)

– มิติการรักษาสิ่งแวดล้อม (Environmental Wellness)

– มิติการเสริมสร้างภูมิปัญญามนุษย์ (Human Wisdom)

  1. เสริมสร้างความมั่นคงทางการท่องเที่ยว (Tourism Security) โดยต้องให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทาน (Strengthening Supply Chain) และการพัฒนาปัจจัยสนับสนุนการท่องเที่ยวและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยว (Building Travel Support & Tourist Service Infrastructure) ขณะที่ต้องใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (Enhancing Digital Transformation) รวมไปถึงต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยงภายนอก (Managing External Risks)
  2. ทิศทางการดำเนินงานของ ททท. ในปี 2567 ให้ความสำคัญกับ “การสร้างประสบการณ์ทรงคุณค่า” เพื่อส่งมอบให้กับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่ง คุณฐาปนีย์ กล่าวว่า มี 4 นโยบายหลักที่ ททท. ใช้ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (The Magic 4 Action Policies Transforming Tourism) หรือเรียกง่าย ๆ ว่า PASS ประกอบไปด้วย Partnership 360° คือ การประสานความร่วมมือกับทุกพันธมิตรทั้งในและนอกอุตสาหกรรม , Accelerate Access to Digital World คือ การพัฒนาองค์กรด้านการตลาดการท่องเที่ยวที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัลเต็มรูปแบบ, Subculture Movement คือ การขับเคลื่อนกลุ่มวัฒนธรรมย่อยที่ทรงพลัง , Sustainably Now คือการผลักดันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย “มุ่งสู่ความยั่งยืน”
  3. แนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวตลาดต่างประเทศ การสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวจาก 10 ตลาดหลัก ได้แก่ จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย สิงคโปร์ เวียดนาม รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา โดยมุ่งเน้น 5 ทิศทางหลัก ดังนี้

ทิศทางที่ 1 ส่งเสริมภาพลักษณ์แบรนด์ท่องเที่ยวไทยด้านความยั่งยืนในมิติของสังคมและสิ่งแวดล้อมให้ปรากฏชัดในตลาดต่างประเทศ ด้วยการส่งเสริมการเดินทางที่ไม่สร้างภาระให้ชุมชน และกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวสู่ชุมชนอย่างทั่วถึง รวมถึงต้องเสนอจุดขายที่เป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่นบนฐานทุนทางวัฒนธรรมและความหลากหลาย ทางชีวภาพ นอกจากนี้ยังต้องปรับภาพจำใหม่สำหรับการเป็นประเทศท่องเที่ยวที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม พร้อมกับยกระดับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย

ทิศทางที่ 2 รุกเปิดตลาดใหม่และดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพให้เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี (Thailand All Year Round)

ทิศทางที่ 3 แสวงหาคู่ค้ารายใหม่และขยายความเชื่อมเกี่ยวกับคู่ค้ารายใหญ่ในเวทีโลก รวมถึงการขยายช่องทางการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายศักยภาพในตลาดหลัก ๆ ทั่วโลก

ทิศทางที่ 4 ส่งเสริมการเดินทางเชื่อมโยงทางบก เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงประเทศไทย บริหาร ความเสี่ยงความล่าช้าในการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินโลก

ทิศทางที่ 5 การใช้พลังของสื่อสังคมออนไลน์ Social Media และการใช้ Digital content ที่โดนใจกลุ่มเป้าหมายเสริมพลังทางการตลาด รวมถึงการให้ความสำคัญกับ Data เพื่อให้ได้มาซึ่งกลยุทธ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวอย่างแท้จริง

  1. แนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวตลาดในประเทศ ซึ่งต้องใช้จุดแข็งของแต่ละพื้นที่มานำเสนอให้เกิดความโดดเด่น และสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ให้กับนักท่องเที่ยว อย่างเช่น ภาคเหนือ เน้นส่งมอบประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ผสมผสานระหว่างเสน่ห์วันวานเมืองเหนือและความร่วมสมัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนำเสนอหลากหลายประสบการณ์เที่ยวไปกินไป และภาคอื่น ๆ ที่มีอัตลักษณ์แตกต่างกันไป

นอกจากนี้ คุณฐาปนีย์ กล่าวว่า การจะกระตุ้นตลาดในประเทศจำเป็นต้องอาศัยการทำงานร่วมกัน ไม่ใช่เพียงการกระตุ้นตลาดเพียงภาคใดภาคหนึ่ง ททท. จึงกระตุ้นให้เกิดการเที่ยวข้ามภาค ซึ่งเป็นการนำเอายุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่มุ่งเน้นการกระจายรายได้สู่ชุมชนมาเป็นจุดขายหลัก และเกิดเป็นกลยุทธ์ The Link

โดย L คือ Local Experience ซึ่งเน้นจุดขายคือ สร้างประสบการณ์ที่ดีกับแหล่งท่องเที่ยวชุมชน

I คือ Innovation ที่นำเอาความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมที่ตอบโจทย์มาใช้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

N คือ Networking ซึ่งเป็นการสร้างเครือข่ายกับพันธมิตรทั้งในและนอกอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

K คือ Keep Character คือการรักษาอัตลักษณ์ท้องถิ่นและดึงออกมาเป็นจุดขาย

“จุดขายของการท่องเที่ยวเชื่อมโยงข้ามภาค คือ การดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยเอกลักษณ์ของแต่ละจังหวัด และเชื่อมโยงรูทการเดินทางเชื่อมโยงกัน อย่างเช่น นำเอาจังหวัดบุรีรัมย์ที่มีจุดเด่นคือกีฬา มาเชื่อมโยงกับจังหวัดภูเก็ตที่มีจุดเด่นคือ Health & Wellness ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวใหม่” คุณฐาปนีย์ กล่าว

อีกหนึ่งกลยุทธ์คือ การปักหมุดว่าจะต้องขายการท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี หรือ ‘Thailand All Year Round : 365 วันมหัศจรรย์ไทยแลนด์’ ซึ่งจะทำให้เกิดการกระจายของรายได้ท่องเที่ยวได้ทุกวัน และไม่กระจุกตัวอยู่ในจังหวัดหลัก หรือจังหวัดรองเพียงอย่างเดียว ซึ่งการขายได้ตลอดทั้งปีนี้ยังเป็นข้อได้เปรียบของประเทศไทย ที่สามารถขายการท่องเที่ยวได้ทุกวันทุกช่วงเวลาไม่มี High หรือ Low season สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

สร้าง Competitive Advantage ยกระดับผู้ประกอบการอย่างยั่งยืน

นอกจากการสร้างจุดขายให้กับการท่องเที่ยวไทยแล้ว คุณฐาปนีย์ กล่าวว่า ต้องให้ความสำคัญกับการยกระดับผู้ประกอบการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งทาง ททท. ได้จัดทำแผนปฏิบัติการดิจิทัลระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) เพื่อวางแผนการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลที่สอดคล้องกับนโยบายชาติในการปฏิรูปประเทศสู่ดิจิทัล ไทยแลนด์ (Digital Thailand) โดยร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย Digital Tourism ร่วมผลักดันให้เกิด Ecosystem ยกระดับห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยให้มีความรู้เท่าทันและได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล ให้สามารถปรับตัวในการดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับผู้ประกอบการต้องมีการปรับตัวโดยใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ มาช่วยในการทำธุรกิจและทำการตลาด (Digital Transformation) เป็นการช่วยลดต้นทุนเพิ่มยอดขาย โดยปรับ mindset เปิดรับแนวทางใหม่ ๆ ปรับกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ การใช้ข้อมูลที่จำเป็นมาช่วยวางแผน และนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้ตามแนวทาง : เพิ่มความรู้ ความล้ำ ความเร็ว เพื่อลดความซ้ำซ้อน ความผิดพลาด สิ้นเปลือง

โดย ททท. ร่วมขับเคลื่อน Digital Tourism ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการ เพื่อปรับ Ecosystem ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยใช้หลัก 3Di นั่นคือ

  • Digital Literacy ปรับ mindset ให้แก่ผู้ประกอบการ มีการจัดทำและเผยแพร่ DATA ที่เป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการตลาด การอบรมให้ความรู้การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวโดยยกระดับศูนย์พัฒนาวิชาการด้านการตลาดท่องเที่ยว TAT Academy ทั้งในรูปแบบ Onsite อย่างเช่น หลักสูตร TME และ Online ผ่านแพลตฟอร์ม E-learning ที่มีผู้ประกอบการสนใจเข้ารับการอบรมอย่างต่อเนื่อง ช่วยสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ชุนชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
  • Digital Innovation ส่งเสริม Travel Tech และ Start Up และนวัตกรรมดิจิทัลใหม่ ๆ เพื่อช่วยแก้ pain point ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ช่วยส่งมอบประสบการณ์อันทรงคุณค่าให้แก่นักท่องเที่ยว เพื่อเป็นการยกระดับเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าท่องเที่ยวและเป็นการขยายฐานตลาดท่องเที่ยวได้อย่างไร้พรมแดนผ่านโลกดิจิทัล
  • Digital Investment สนับสนุนการระดมเงินทุนเพื่อสรรค์สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อเป็นเครื่องมือที่ช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการตลาดการท่องเที่ยว ให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ททท. พร้อมสนับสนุนข้อมูลโดยมีการพัฒนาระบบข้อมูลให้เป็น (Data Digitizing) ทั้งข้อมูลที่ใช้ภายในหน่วยงาน และข้อมูลที่จะเผยแพร่สู่หน่วยงานภายนอก เพื่อนำไปสู่การเชื่อมโยงและแบ่งปันข้อมูล (Data Sharing) ตลอดจนมีการพัฒนากระบวนการปฏิบัติงานที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นกลไกหลักในการดำเนินการ รวมถึงให้ความสำคัญกับการใช้ข้อมูลเพื่อสร้างนวัตกรรมบริการสารสนเทศเป็นอย่างมาก

จากการสัมภาษณ์พิเศษกับคุณฐาปนีย์ ทำให้ ‘Business+’ เห็นภาพรวมของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยในปัจจุบันอย่างชัดเจนว่า ภาคการท่องเที่ยวไทยถึงจุดที่มีการฟื้นตัวอย่างเต็มที่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่ ททท. จะทำต่อจากนี้ คือการให้การสนับสนุนในมิติด้านความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ซึ่งอาจจะไม่ใช่นโยบายที่เป็นยาแรงเหมือนช่วง COVID-19 แต่ต้องเป็นการช่วยเหลือ หรือให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการระยะยาวและยั่งยืน ซึ่งต้องอาศัยการพัฒนาทั้ง Supply Chain ของการท่องเที่ยวร่วมกับระดับชุมชน เพื่อทำให้เกิดความโดดเด่น ด้านวัฒนธรรมไทย และขายความเป็นเอกลักษณ์สู่ตลาดโลกให้สามารถขายได้ทุกจังหวัด และทุกช่วงเวลา

ซึ่งในการสัมภาษณ์ช่วงสุดท้าย คุณฐาปนีย์กล่าวกับเราว่า ประเทศไทยมีต้นทุนทางวัฒนธรรม และต้นทุนทรัพยากรทางธรรมชาติ รวมไปถึงต้นทุนคนในประเทศที่แข็งแกร่ง ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบมากกว่าหลาย ๆ ประเทศ แต่เราจะต้องใช้จุดแข็งเหล่านี้ให้กลายเป็นจุดขายให้ได้ และต้องขายให้ได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ การใช้ Soft Power ซึ่งปัจจุบันเราอยู่ระหว่างการผลักดันในทุก ๆ องคาพยพ ด้วยการร่วมมือกับหลาย ๆ หน่วยงาน โดยที่ผ่านมา ททท. มีแผนกระตุ้นการเดินทางผ่านพันธมิตรชั้นนำระดับโลกผ่านแคมเปญ Amazing Thailand ผนวกกับ Soft Power ของไทย เพื่อเสริมสร้างจุดแข็งให้กลายเป็นจุดขาย และผลักดันให้คนไทยเที่ยวเมืองไทยอย่างทั่วถึง กระจายทั้งปี และได้ประสบการณ์ในหลากหลายมิติ ทั้งหมดนี้ทำให้เราเห็น Movement ที่เปลี่ยนแปลงกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยได้อย่างชัดเจน

สามารถติดตามบทสัมภาษณ์ฉบับวีดีโอได้ที่ :https://www.youtube.com/watch?v=kKZ42Es4P5E

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS