7 มิติที่ไทยต้องพัฒนาอย่างเร่งด่วนเพื่อก้าวให้ทันโลก!!

เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ไม่ได้เจอแค่ผลกระทบจากแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ยังต้องเผชิญกับความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี การเข้าสู่สังคมสูงวัย และยังมีสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ที่เป็นตัวฉุดให้เสถียรภาพลดลง เมื่อเจอกับโรคระบาดเข้ามาผสมโรงจึงเกิดผลกระทบอย่างรุนแรง เพราะตัวแปรเหล่านี้เป็นสิ่งที่ขัดขวางการพัฒนาประเทศ หากเราต้องการให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างยั่งยืนต้องอาศัยการพัฒนาทุกมิติ เน้นการเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็ง และปิดส่วนที่เป็นจุดอ่อนให้รวดเร็ว

ภาพรวมเศรษฐกิจประเทศไทยในปี 2564 ได้รับผลกระทบมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 และยังมาเจอผลกระทบที่หนักขึ้นนำไปสู่การใช้มาตรการคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เข้มงวดในไตรมาส 3/2564 และเพิ่งได้เปิดประเทศช่วงท้ายปี ดังนั้น GDP ปี 2564 จึงถูกคาดการณ์ว่าจะเหลือการเติบโตเพียง 0.3% – 1.2% เท่านั้น

เมื่อนำภาพรวมเศรษฐกิจไทยมาวิเคราะห์จุดบกพร่อง ตามบริบทและสถานะในการพัฒนาของประเทศไทยภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ของ ‘สภาพัฒน์ฯ’ จะเห็นว่าเรายังขาดศักยภาพในหลาย ๆ มิติ เป็นที่มาของการไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในเวลาที่กำหนด

สิ่งที่เป็นจุดบกพร่องของทั้ง 7 มิติ ที่ควรแก้ไขเพื่อพัฒนาศักยภาพมีดังนี้
มิติความมั่นคง พบว่าเสถียรภาพทางการเมืองและประสิทธิผลของรัฐบาลลดลง เพราะประเทศไทยยังมีสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศที่เกิดความแตกแยกทางความคิด จนเกิดเหตุการประท้วงมาอย่างยาวนาน ซึ่งถือเป็นประเด็นเรื้อรังของสังคมที่ทำให้ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลไทยลดน้อยลงทุกที

ขณะที่ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินยังค่อนข้างน่าเป็นห่วง ข้อมูลจาก ‘สถาบันวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ’ ชี้ว่าไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 123 จาก 163 ประเทศ ตามการแบ่งตามระดับความมั่นคงปลอดภัยภายในประเทศ ถือว่าค่อนข้างรั้งท้าย

นอกจากนี้ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ยังคงมีความเสี่ยงสูง ตามการจัดอันดับโดยใช้ดัชนีความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของโลกพบว่าความมั่นคงทางไซเบอร์ของไทยมีอันดับลดลงอย่างมากจากอันดับที่ 22 ในปี 2560 เป็นอันดับที่ 44 ในปี 2563 สาเหตุมาจากข้อจำกัดทางศักยภาพและความสามารถของทั้งระดับประชาชน องค์กร และภาครัฐที่พัฒนาไม่ทันต่อการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ ทำให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงและกระทบในวงกว้าง

มิติด้านเศรษฐกิจ ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังหดตัวอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเจอกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดผลกระทบทั้งการผลิตภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างยังขยายตัวต่อเนื่อง ถึงแม้ไทยจะได้รับการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจโดยสถาบันการจัดการนานาชาติ (IMD) ดีขึ้นเล็กน้อย แต่ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการอยู่ใน 25 ของประเทศแรกที่ได้รับการจัดอันดับตามที่ตั้งเอาไว้ได้

ด้านโครงสร้างภาคการผลิตที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ยังไม่ใช่กลุ่มที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และการเปลี่ยนผ่านของโครงสร้างการผลิตของไทยจากภาคเกษตรไปสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการเป็นไปอย่างเชื่องช้า และส่วนใหญ่ยังถูกขับเคลื่อนด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมดั้งเดิม ต้องพึ่งพิงการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศสูง โดยใช้วัตถุดิบในประเทศเพียง 40% ทำให้การสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศได้น้อย

นอกจากนี้ไทยยัฝมีอัตราการขยายตัวของปัจจัยทุนอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนขยายตัวต่ำกว่าที่ควร มูลค่าของสต๊อกทุนสุทธิในช่วง 3 ปีของแผนพัฒนามีการขยายตัวเพียง 2.23% และไทยยังเผชิญกับภาวะการหดตัวของกำลังแรงงานจากการเป็นสังคมสูงวัย โดยประชากรแรงงานไทยลดลงตั้งแต่ปี 2559 ส่งผลให้อัตราการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงานลดลง

ด้านผลิตภาพการผลิตรวมของไทยเติบโตช้า เมื่อเทียบกับประเทศที่เริ่มพัฒนาในช่วงเวลาเดียวกัน จึงไม่เพียงพอให้หลุดพ้นจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลางภายในปี 2580 เป็นเพราะการสร้างนวัตกรรมและการต่อยอดจากการลงทุนวิจัยและพัฒนาที่ต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงอื่น ๆ นอกจากนี้ไทยยังมีข้อจำกัดในการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสภาวะการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการที่ไม่เท่าเทียมเป็นอีกปัญหาใหญ่ที่ทำให้เศรษฐกิจทั้งประเทศเติบโตค่อนข้างช้า

มิติด้านความสามารถในการแข่งขัน การลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาของประเทศบรรลุเป้าหมายแต่ยังต่ำกว่าประเทศที่มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน ซึ่งข้อมูลค่าสุดพบว่าการลงทุนของไทยอยู่ที่ 1.14% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงอยู่ที่ 1.7%

ขณะที่อุตสาหกรรมและบริการดิจิทัล ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งสิ่งที่เป็นจุดแข็งของไทยที่ผ่านมาคือการเป็นผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ประเภทหน่วยเก็บความจำแบบฮาร์ดดิสก์และแผงวงจร แต่ไทยอาจจะเจอกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว โดยฮาร์ดดิสก์มีแนวโน้มจะถูกแทนที่ด้วยหน่วยเก็บความจำแบบโซลิดสเตต ซึ่งมีประสิทธิภาพในการจัดเก็บข้อมูลสูงกว่า

มิติด้านทรัพยากรมนุษย์ คุณภาพของทุนมนุษย์ยังคงเป็นช่องว่างของปัญหาในการพัฒนาของเรา โดยเฉพาะผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา และการขาดแคลนทักษะแรงงานที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและทิศทางการพัฒนาประเทศ

โดยทักษะด้านการอ่านหรือการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมของคนไทยมีแนวโน้มลดลง และคะแนนผลสอบโปรแกรมประเมินสมรรถะนักเรียนมาตรฐานสากลของเด็กไทย ซึ่งเป็นการทดสอบความฉลาดรู้ด้านการอ่านยังลดลงเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ผลิตภาพของแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างเชื่องช้าและมีข้อจำกัดในการผลิตแรงงานให้ตรงกับความต้องการของตลาดได้น้อย เพราะแรงงานไทยส่วนมากยังมีระดับการศึกษาต่ำ ซึ่งพบว่ากว่า 42.1% ไม่มีการศึกษาหรือสำเร็จการศึกษาไม่เกินระดับประถมศึกษา ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนทักษะแรงงานฝีมือ

มิติด้านสังคม ในเรื่องความเหลื่อมล้ำยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข พบว่ารายได้เฉลี่ยของประชากรที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำที่สุดกับกลุ่มที่มีฐานะดีที่สุดห่างกันเกือบ 16 เท่า และยังมีความเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพย์สินในระดับสูง พบว่ากลุ่มรายได้สูงที่สุดมีส่วนแบ่งมูลค่าสินทรัพย์สูงถึงเกือบ 1 ใน 3 ของทรัพย์สินรวมทั้งประเทศ

ส่วนหนึ่งเป็นผลจากโครงสร้างภาษีของไทยที่ยังทำหน้าที่กระจายรายได้ไม่ดีเท่าที่ควร เพราะส่วนใหญ่เป็นภาษีทางอ้อมซึ่งมีสัดส่วน 58% ของภาษีทั้งหมด และเป็นการจัดเก็บจากฐานการบริโภคที่มีอัตราภาษีคงที่เป็นหลัก ขณะที่ภาษีทางตรงที่มีอัตราก้าวหน้ามีสัดส่วนน้อยกว่า

นอกจากนี้สังคมไทยมีความเปราะบาง เกิดจากปัญหาเรื้อรังที่เป็นรากเหง้าของปัญหาทางสังคม โดยเฉพาะความยากจนและปัญหาครอบครัวที่ส่งผลต่อคุณภาพการเลี้ยงดูที่สามารถเกิดได้กับครองครัวทุกสถานะ ครัวเรือนที่มีฐานะยากจนมีข้อจำกัดในการจัดหาทรัพยากรและการศึกษาที่มีคุณภาพให้บุตร

มิติด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูรักษาฐานทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยสัดส่วนพื้นที่ป่าไม้ของไทยต่อพื้นที่ทั้งประเทศลดลง โดยไฟป่าเป็นสาเหตุหลักของการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ที่รุนแรงที่สุด ขณะที่การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมยังมีปัญหา ขยะในประเทศเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2% ต่อปี และสัดส่วนของเสียอันตรายที่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องและขยะมูลฝอยที่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์มีเพียง 68.94% ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้คือ 75%

มิติด้านการบริหารจัดการภาครัฐ ความยั่งยืนทางการคลัง ไทยยังคงน่าเป็นห่วง เนื่องจากฐานการจัดเก็บภาษีของไทยค่อนข้างแคบ และการเข้าสู่สังคมสูงอายุทำให้รัฐต้องจัดสรรงบประมาณด้านสวัสดิการชราภาพ และสาธารณสุขเพิ่มขึ้น และจำนวนแรงงานที่ลดลงก็จะทำให้ความสามารถในการเก็บภาษีของรัฐลดน้อยลง

นอกจากนี้โครงสร้างการบริหารงานภาครัฐขาดความยืดหยุ่นไม่คล่องตัว ยังคงมีกฏระเบียบและกระบวนงานที่ล้าสมัย ขาดความยืดหยุ่นในการตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการของประชาชนให้เท่าทันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ

จะเห็นว่า 7 มิติที่กล่าวถึงนั้น ไทยยังคงมีจุดบกพร่องในหลายเรื่อง ซึ่งสิ่งบกพร่องเหล่านี้เป็นตัวขัดขวางการพัฒนาประเทศ ดังนั้น ภาครัฐควรปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ หากเราแก้ไขสิ่งเหล่านี้ได้จะทำให้เกิดการขยายตัวอย่างยั่งยืน

หากเราพูดถึงกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในปีที่ผ่านมา ก็ต้องเป็น กลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโรงแรม เพราะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และจะฟื้นตัวเป็นกลุ่มสุดท้ายเพราะการพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ดังนั้น มาตรการห้ามเดินทางเข้า-ออกประเทศ และการมาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่ 29 จังหวัด ทำให้อัตราการเข้าพัก (Occupancy rate) ต่ำติดดิน ในขณะที่ต้นทุนคงที่ ค่าดูแลบำรุงรักษา รวมไปถึงค่าเสื่อมราคายังคงเกิดขึ้นตามเดิม

นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ภาพรวมกลุ่มธุรกิจโรงแรมปี 2564 ยังคงย่ำแย่ ถึงแม้คาดการณ์ว่าจะดีขึ้นจากช่วงปี 2563 ที่มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั่วประเทศ อยู่ที่ 29.5% แต่เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 เช่นในปี 2562 ที่มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั่วประเทศ 71.4% แล้วยังถือว่าห่างไกล

โดยที่ผ่านมาเจ้าของโรงแรมหลายแห่งหันมาให้บริการโดยใช้ห้องพักของโรงแรมรองรับผู้ป่วยโควิด-19 หรือที่เรียกว่า Hospitel เพื่อเอาตัวรอดจากศึกใหญ่ครั้งนี้ ถึงแม้กำไรจะน้อยกว่าการขายห้องพักปกติหลายเท่าตัว แต่ช่วยปรครองธุรกิจในช่วงที่ไร้นักท่องเที่ยวได้บ้าง

ถึงแม้ในช่วงท้ายปี 2564 ทางภาครัฐได้ประกาศเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศได้ ถือเป็นเรื่องที่ดีสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมที่จะทำให้ผลการดำเนินงานสามารถฟื้นตัวได้บ้าง แต่หลายฝ่ายยังคงมองไปในทิศทางเดียวกันว่า ธุรกิจท่องเที่ยวจะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป

‘ศูนย์วิจัยกรุงศรี’ มองว่าธุรกิจท่องเที่ยวจะยังซบเซาต่อไปอีกในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า และจะทยอยฟื้นตัวได้ในปี 2565-2566 สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวก่อน จากปัจจัยหนุนจากมาตรการของภาครัฐ ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะค่อย ๆ ฟื้นตัว

ธุรกิจท่องเที่ยวจะฟื้นตัวค่อนข้างช้า การเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป ลูกค้าต้องการรักษาระยะห่าง ลดการสัมผัสโดยตรง ทำให้การดำเนินธุรกิจแบบเดิมไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้า ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวต้องปรับตัวให้ธุรกิจต่อไปได้อย่างยั่งยืน เช่น การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้งานมากขึ้น เน้นการวิเคราะห์ความต้องการของนักท่องเที่ยวที่แตกต่างและหลากหลาย และให้ความสำคัญกับความปลอดภัยด้านสุขภาพและอนามัยมากขึ้น

อุตสาหกรรมประกันภัยกระทบหนักแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
อีกกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คือ ธุรกิจประกันภัยเพราะในสถานการณ์ปกติอุตสาหกรรมประกันภัยจะได้รับอานิสงส์จากการที่คนหันมาให้ความสำคัญ และใส่ใจกับสุขภาพมากขึ้น แต่ต้องบอกว่าสถานการณ์โควิด-19 ที่เรากำลังเจออยู่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติที่จะพบเจอได้บ่อย ๆ

เป็นเพราะการระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงมากขึ้นทุกวัน และมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูงเกินกว่าที่นักคณิตศาสตร์ประกันภัยคาดการณ์เอาไว้ ดังนั้น บริษัทประกันภัยที่จะต้องนำเงินมาจ่ายให้กับลูกค้าที่ติดเชื้อโควิด-19 ทำให้เริ่มประสบกับปัญหาด้านสภาพคล่องทางการเงิน

ซึ่งตามหลักเกณฑ์บริษัทประกันภัยจำเป็นต้องมีเงินกองทุนให้เพียงพอตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. ซึ่งที่ผ่านมาต้องบอกว่าบริษัทประกันภัยยังไม่เคยเจอกับเหตุการณ์เลวร้ายถึงขั้นนี้มาก่อน

หากอ้างอิงข้อมูลของ สำนักงาน คปภ. หน่วยงานที่ดูแลธุรกิจประกันภัย กำหนดอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน(Capital Adequacy Ratio : CAR) ที่ต้องดำรงตามกฎหมายต้องมากกว่าหรือเท่ากับ 120% และเมื่อบริษัทประกันภัยมีเงินกองทุนไม่เพียงพอตามเกณฑ์ กรณีเลวร้ายอาจจะถูกสั่งให้หยุดขายกรมธรรม์ประกันวินาศภัย ทำให้เราได้เห็นข่าวออกมามากมายว่าบริษัทเหล่านี้จะไม่สามารถชำระเงินให้กับลูกค้าได้ทำให้เกิดเป็นคลื่นกระแทกกับบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมประกันภัยอีกหลายเจ้า

แต่บริษัทประกันภัยรายใหญ่ที่มีการสำรองเงินกองทุนเอาไว้เป็นจำนวนมาก (สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำหลายเท่าตัว) ยกตัวอย่างเช่น บริษัท เอไอเอ จำกัด (ประกันวินาศภัย) สาขาประเทศไทย ที่มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน สูงถึงระดับ 1,000% บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท อลิอันซ์อยุธยา ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ที่มีการสำรองเอาไว้สูงกว่าระดับ 300% ถือว่ามีภูมิคุ้มกันที่ดี

นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้รายใหญ่ได้เปรียบคือ การลงทุนในแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่ทำให้การขายประกันเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องไปพบลูกค้าด้วยตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่า ใครที่ลงทุนและให้ความสำคัญเรื่องนี้มาตั้งแต่แรก ย่อมได้เปรียบในการแข่งขัน

บริษัทประกันจำเป็นต้องสำรองเพียงพอสำหรับการเคลมประกันให้กับลูกค้า และมีเทคโนโลยีที่ทำให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ถึงแม้เงินสำรองอาจจะร่อยหรอไปตามยอดเคลมประกันที่เพิ่มขึ้น แต่การจ่ายค่าเคลมประกันให้กับลูกค้าตามเงื่อนไขได้ครบถ้วนก็จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นส่งผลดีต่อส่วนแบ่งการตลาดในอนาคต

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ข้อมูล : สภาพัฒน์ฯ

Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #สภาพัฒน์ฯ #เศรษฐกิจ