3 ปัจจัยเสี่ยงกดเศรษฐกิจไทย ภาระหนี้สินภาคเอกชนสูง-เงินเฟ้อพุ่ง

ถึงแม้ในช่วงไตรมาส 1/65 ที่ผ่านมา ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทยจะสามารถขยายตัวได้ 2.2% หลังจากภาคเกษตรเร่งตัวขึ้น และนอกภาคเกษตรก็สามารถขยายตัวจากภาคบริการที่ได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ

แต่ล่าสุด ‘สภาพัฒน์’ ได้ลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 65 เหลือโต 2.5 – 3.5% จากเดิมคาดเติบโตได้ 3.5-4.5% และปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้เหลือ 3.5% จากเดิม 4.5% ด้วยเช่นกัน สาเหตุโดยรวมมาจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งราคาพลังงานในช่วงที่ผ่านมาที่ส่งผลถึงไปอัตราเงินเฟ้อให้เพิ่มสูงขึ้นด้วย

โดย 3 ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการปรับลดคาดการณ์คือ

1. การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความผันผวนในตลาดการเงินโลก และการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ จากผลความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งมาตรการคว่ำบาตรจากหลายประเทศในยุโรป

รวมทั้งสหรัฐอเมริกา ที่ทำให้ราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น นอกจากนี้ แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน จากการกลับมาดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดของโควิดอย่างเข้มงวด เพื่อมุ่งเน้นไม่ให้มีผู้ติดเชื้อโควิดภายในประเทศ (มาตรการ Zero Covid) รวมทั้งปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลก และระบบโลจิสติกส์

2. เงื่อนไขด้านฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจ จะจำกัดต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ซึ่งภาระหนี้สินภาคเอกชนที่อยู่ในระดับสูง จะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ และความสามารถในการชำระหนี้ ภายใต้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในระยะต่อไป ประกอบกับตลาดแรงงานที่ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่

3. ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 จากแนวโน้มการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส ซึ่งอาจจะนำไปสู่การแพร่ระบาดระลอกใหม่อีกครั้ง อย่างไรก็ดี ปัจจัยเรื่องการระบาดของไวรัสโควิดเริ่มมีน้ำหนักต่อเศรษฐกิจลดลงจากในช่วงก่อนหน้านี้ เนื่องจากประชาชนได้รับวัคซีนกันอย่างทั่วถึงมากขึ้น ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตลดลง

ขณะที่ปัญหาด้านค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิตสูง และอัตราเงินเฟ้อจะเป็นปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจไทย ซึ่งถูกคาดการณ์ว่าจะพุ่งสูงสุดในไตรมาส 3 หลังจากนั้นราคากดดันราคาพลังงานน่าจะคลี่คลายลงจากสงครามยูเครนที่น่าจะยุติลงได้ในไตรมาส 4 โดยเงินเฟ้อเฉลี่ยจะอยู่ที่ 5-6%

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : สภาพัฒน์ ,IQ

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #เศรษฐกิจ #เศรษฐกิจมหภาค #GDP #สภาพัฒน์