EPSON

แกะจุดแข็ง 5 ด้านของ EPSON ที่เติบโตได้แม้ตลาด IT หดตัว

เอปสัน (ประเทศไทย) หนึ่งในแบรนด์ผู้ผลิตเครื่องพิมพ์ชั้นนำที่มีมาตรฐานการผลิตในระดับสูง และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ยังคงพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยอย่างต่อเนื่องจนทำให้ประสบความสำเร็จในแง่ของทั้งผลประกอบการและการตอบรับที่ดีของลูกค้า

โดยบริษัทฯ มีรายได้รวมจากการขายผลิตภัณฑ์ทุกกลุ่มในปี 2566 คิดเป็นการเติบโตเพิ่มขึ้น 8% สวนทางกับตลาดไอทีที่เติบโตลดลงกว่า 10% เมื่อเทียบกับปี 2565 ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่าบริษัทฯ ได้ดำเนินกลยุทธ์ที่ถูกต้องและอยู่นำหน้าตลาดได้อยู่เสมอ

สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำยอดขายได้อย่างโดดเด่นในปี 2566 ที่มีการเติบโตถึง 37% ได้แก่

1. กลุ่มเครื่องพิมพ์ป้ายโฆษณา S-series และสแกนเนอร์

ซึ่งเครื่องพิมพ์ป้ายโฆษณา Epson SureColor S-series เติบโตได้ดีจากการที่บริษัทฯ สามารถดึงผู้ประกอบการที่ใช้เครื่อง Non-brand เปลี่ยนมาใช้เครื่องเอปสันได้เพิ่มขึ้น และยังได้แรงหนุนจากสื่อโฆษณานอกบ้านและสื่อเคลื่อนที่เติบโตขึ้น จากการจัดกิจกรรมการตลาดที่เพิ่มขึ้นของศูนย์การค้าและโรงแรมต่าง ๆ และการเลือกตั้ง 2566

ส่วนในกลุ่มสแกนเนอร์ ได้รับอานิสงค์จากการบังคับใช้ พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ส่งผลให้หน่วยงานราชการจำเป็นต้องทำเอกสารดิจิทัล รวมไปถึงธนาคาร ห้องสมุด และสถาบันศึกษาที่ต้องการเก็บข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล

นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์เครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทสำหรับองค์กร Epson WorkForce ก็มีการเติบโตเกือบ 30% หลังจากบริษัทฯ สามารถชิงส่วนแบ่งตลาดจากเครื่องถ่ายเอกสารตามสำนักงานที่เคยใช้เทคโนโลยีเลเซอร์ สำหรับกลุ่มโปรเจคเตอร์ โดยรวมมีการเติบโตได้ดีเพิ่มขึ้นเกือบ 20% ซึ่งมาจากกลุ่มเลเซอร์โปรเจคเตอร์ความสว่างสูง และเลเซอร์โปรเจคเตอร์เพื่อธุรกิจ เช่น Epson 2000-series โดยปัจจัยที่สำคัญคือ การที่เอปสันได้ออกสินค้าใหม่มากที่สุดและทำการตลาดอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่

สร้างจุดแข็ง 5 ด้านสู่การขยายตัวธุรกิจ

สำหรับกลยุทธ์และปัจจัยความสำเร็จของบริษัทฯ นั้น ทางเอปสันตั้งเป้าที่จะรักษาระดับการเติบโต โดยจะมุ่งลงทุนในจุดแข็งทั้ง 5 ด้านของบริษัทฯ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายตัวทางธุรกิจ ได้แก่

– S-curve strategy โดยเอปสันเป็นบริษัทที่พร้อมสร้าง S-curve ใหม่อยู่เสมอ เพื่อให้ธุรกิจมีโอกาสเติบโต ลดความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาด และสร้างความแตกต่างและโดดเด่นจากคู่แข่ง

– Sales model โดยบริษัทฯ ได้พัฒนารูปแบบการขายที่หลากหลาย ลูกค้าได้เลือกว่าต้องการเป็นเจ้าของเครื่องพิมพ์คุณภาพสูงของเอปสันในรูปแบบใด เช่น รูปแบบบริการการพิมพ์แบบจ่ายรายเดือนอย่าง EasyCare

– Service excellence ด้วยการพัฒนาทีม Pre-sales สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการทำโซลูชันที่เหมาะกับองค์กรธุรกิจของลูกค้า พัฒนาช่องทางดิจิทัลเพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงข้อมูลผลิตภัณฑ์ต่างได้อย่างง่ายดาย และเพิ่มจำนวนศูนย์บริการปัจจุบัน 182 แห่งทั่วประเทศ (140 แห่ง onsite service)

– Solution center ซึ่งเอปสันได้ทุ่มงบประมาณกว่า 30 ล้านบาทในการสร้าง Solution Center เพื่อจัดแสดงและสาธิตการใช้งานผลิตภัณฑ์ทุกกลุ่มของเอปสัน เพื่อสร้างประสบการณ์จริงให้กับลูกค้าก่อนตัดสินใจซื้อ

– Sustainable value โดย เอปสันมีแคมเปญที่ช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2566 ที่ผ่านมา เนื่องในโอกาสครบรอบ 33 ของเอปสัน ประเทศไทย ได้มีการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย  ซึ่งหากมองในมุมของ ESG แล้ว เอปสันถือว่าเป็นบริษัทที่สามารถปรับตัวตามสภาพเศรษฐกิจและสังคมได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น ‘ไซโก้ เอปสัน’ เป็นบริษัทแรกของโลกที่กำจัดสารซีเอฟซีที่ทำลายชั้นโอโซนออกจากกระบวนการผลิตทั้งหมดได้ จนกลายเป็นบริษัทแรกในอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศญี่ปุ่นที่สามารถเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนแบบ 100% ด้วยการจัดหาพลังงานหมุนเวียนเพื่อมารองรับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ทุกโรงงานและสำนักงานของเอปสันทั่วโลกใช้ราว 876 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ทำให้เอปสันคาดว่าจะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงได้ราว 4 แสนตันในแต่ละปี

ส่วน เอปสัน ประเทศไทย ได้นำกรอบปฏิบัติจากบริษัทแม่มาเป็นแคมเปญซีเอสอาร์ ‘33 x Trees’ เพื่อสื่อถึงปีที่ 33 ของเอปสันในประเทศไทย และความตั้งใจที่จะช่วยรักษาผืนป่าของประเทศไทย โดยชูประเด็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ที่สูญเสียไปจากไฟป่า โดยแคมเปญจะเน้นการมีส่วนร่วมของพนักงานเอปสันและครอบครัว รวมถึงสื่อมวลชน

ส่วนในด้านผลิตภัณฑ์ นอกจากจะนำเสนอประสิทธิภาพที่ดีต้องตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนด้วย เช่น การใช้เทคโนโลยี Heat-Free ที่เป็นเทคโนโลยีการพิมพ์ที่ไม่ใช้ความร้อน ช่วยประหยัดพลังงานได้มากกว่าเครื่องพิมพ์ทั่วไปถึง 85%

รวมไปถึงการใช้แหล่งกำเนิดแสงแบบเลเซอร์ในโปรเจคเตอร์แทนการใช้หลอดไฟ ทำให้ใช้งานได้ยาวนานกว่าถึงเกือบ 5 เท่า และกินไฟน้อยกว่า พร้อมช่วยลดปริมาณวัสดุสิ้นเปลือง และขยะที่เกิดจากการเปลี่ยนอะไหล่

นอกจากนี้ยังใช้เทคโนโลยีการพิมพ์สิ่งทอด้วยระบบดิจิทัล ที่ใช้ตอบโจทย์อุตสาหกรรมงานพิมพ์สิ่งทอ ซึ่งสามารถช่วยลดปริมาณน้ำเสียที่เกิดในกระบวนการย้อมลายผ้าได้มากกว่า เมื่อเทียบกับวิธีดั้งเดิม และยังพัฒนา PaperLab ซึ่งเป็นเครื่องรีไซเคิลกระดาษ ที่สามารถผลิตกระดาษด้วยระบบแห้ง ซึ่งผู้ใช้งานสามารถนำกระดาษใช้แล้วมาใส่ไว้ในเครื่องเพื่อให้เครื่องผลิตกระดาษใหม่และนำไปใช้งานต่อ

สิ่งที่น่าสนใจต่อจากนี้คือเรื่องของการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งจะทำให้มีปัจจัยบวกและโอกาสใหม่ที่สนับสนุนธุรกิจของเอปสัน ทั้งการทำงานที่ยังเป็นแบบ Hybrid ทำให้เกิดความต้องการในการพิมพ์งานเอกสารตามสถานที่ต่าง ๆ ประกอบกับการเกิดใหม่ของ SME, Soho, Freelance ทำให้เกิดกำลังซื้อในตลาด ไม่ว่าจะเป็นในธุรกิจรับพิมพ์ภาพ ธุรกิจรับพิมพ์เสื้อยืดและของชำร่วย และหน่วยงานราชการที่ใช้เอกสารดิจิทัลมากขึ้น รวมถึงโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนเริ่มใช้อุปกรณ์ดิจิทัลในขั้นตอนการให้บริการมากขึ้น คนเริ่มหันมาให้ความสนใจเรื่องของความยั่งยืนและความสำคัญกับเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เอปสันมีเทคโนโลยีที่สามารถตอบโจทย์เรื่องของความยั่งยืน ซึ่งความต้องการเหล่านี้เอปสันถือเป็นบริษัทที่มีโซลูชันที่พร้อมตอบโจทย์ของลูกค้าทุกการใช้งาน และทุกธุรกิจจนเป็นที่มาของรางวัล “BEST INNOVATIVE TECHNOLOGY AWARD”